นายกฯเฉพาะกิจ ภารกิจในตำนาน เจรจาสงครามโลก-เปลี่ยนผ่านเลือกตั้ง
คอลัมน์ : Politics policy people forum
สูตร “นายกรัฐมนตรีเฉพาะกิจ” ดังขึ้นมาทันที หลัง “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี และ รมว.วัฒนธรรม ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยกรณีคลิปเสียง
มีการประเมินวงในว่า คดีของนายกฯแพทองธาร อาจใช้เวลาเดือนครึ่ง-2 เดือน ก็จะถึงนาทีชี้ชะตาการเป็นนายกฯ
มติศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องปมคลิปเสียง 9 ต่อ 0 และ 7 ต่อ 2 ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คนการเมืองย่อมตีความได้ไม่ยากว่าอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อเทียบกรณีนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องพ้นเก้าอี้นายกฯ จากการตั้งคนเป็นรัฐมนตรี ดีกรีความรุนแรงยังน้อยกว่านี้หลายเท่านัก
ดังนั้น สถานการณ์การเมืองไทย จึงถูกตั้งคำถามใหญ่อีกครั้งว่าจะเกิด Deadlock หรือไม่ และสูตรที่ชงออกมาจากคนการเมือง คือให้มีนายกฯเฉพาะกิจ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้ง
โดยเฉพาะพรรคประชาชน นอกจากฉวยจังหวะที่พรรคเพื่อไทย กระแสนิยมหล่นวูบ ยังถีบตัวเองขึ้นสูงด้วยการชูทางออกด้วยการ “ยุบสภา” เป็นทางออกที่หนึ่ง หรือให้นายกฯ ลาออก
พร้อมประกาศเทเสียง สส.ในสภา 142 เสียง ช่วยโหวตนายกฯ จากพรรคไหนก็ได้ ให้เป็น “นายกฯเฉพาะกิจ” เพื่อเปลี่ยนผ่านสถานการณ์ บนเงื่อนไข จะต้องจัดทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ เปิดทางให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และนำไปสู่การยุบสภา เลือกตั้งใหม่
เมื่อพลิกประวัติศาสตร์ 93 ปี ของการเมืองไทย นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง จะพบว่าไทยมีนายกฯเฉพาะกิจ มาแล้ว 5 คน เพื่อทำภารกิจช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ
ทวี นายกรัฐมนตรี 17 วัน
คนที่ 1 ทวี บุณยเกตุ ถือว่าเป็นนายกฯขัดตาทัพ ดำรงตำแหน่งวันที่ 31 สิงหาคม 2488 โดยมติสภาผู้แทนราษฎรโหวตให้เป็นนายกฯ แต่ 17 วันต่อมา เขาก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง วันที่ 17 กันยายน 2488 โดยลาออก เพื่อให้ผู้เหมาะสมมาแทน
ย้อนกลับไปรัฐบาลก่อนหน้าคือ รัฐบาล “ควง อภัยวงศ์” ซึ่งเป็นรัฐบาลในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งไทยประกาศเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอักษะ และประกาศสงครามกับสหรัฐ และอังกฤษ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพล ป. แต่ขณะเดียวกันในทางใต้ดิน ไทยก็มีขบวนการ “เสรีไทย” นำโดย ปรีดี พนมยงค์
เมื่อสงครามสิ้นสุดลง รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ “ควง” ได้ประกาศสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตร และได้ลาออกจากนายกฯ เพื่อเปิดทางให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้นำเสรีไทย สายสหรัฐ เข้ามาเป็นนายกฯคนต่อไป เพื่อลดแรงคัดค้านจากฝ่ายอังกฤษ ที่ต้องการให้ไทยเป็นฝ่ายแพ้สงคราม อีกทั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ ยังเป็นบุคคลที่สหรัฐสนับสนุน
ดังนั้น ก่อนที่ ม.ร.ว.เสนีย์ จะเดินทางมาถึงไทย “ทวี บุณยเกตุ” จึงเป็นนายกฯขัดตาทัพ เพียง 17 วัน เพื่อรอ ม.ร.ว.เสนีย์ เดินทางมารับตำแหน่งนายกฯ
ม.ร.ว.เสนีย์ เจรจาสัมพันธมิตร
คนที่ 2 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้รับตำแหน่งนายกฯ ต่อจาก “ทวี บุณยเกตุ” ดำรงตำแหน่งวันที่ 17 กันยายน 2488 ในฐานะที่เป็นอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน และเป็นผู้นำเสรีไทย สายสหรัฐ จึงจำเป็นต้องดึง ม.ร.ว.เสนีย์ มาเป็นนายกฯ เพื่อให้สหรัฐช่วยเหลือ ลดแรงกดดันจากอังกฤษ ที่ไม่ยอมให้ประเทศไทยพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม “ม.ร.ว.เสนีย์” จึงมีภารกิจ เจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรจนเป็นผลสำเร็จ เขาพ้นจากตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2489 อยู่ในตำแหน่งได้ 4 เดือนเศษ
พจน์ ภารกิจเลือกตั้ง
คนที่ 3 พจน์ สารสิน แม้เป็นนายกฯ จากรัฐประหารปี 2500 ในยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่เข้ามาทำหน้าที่เฉพาะภารกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้ง ทั้งนี้ “พจน์” ได้แถลงต่อสภาถึงความตั้งใจว่า
“รัฐบาลนี้จะจัดให้การเลือกตั้งที่จะต้องกระทำภายใน 90 วัน ตามประกาศพระบรมราชโองการเรื่องการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2500 เป็นไปตามกฎหมายโดยสุจริตเที่ยงธรรม จึงขอแถลงยืนยันถึงเจตจำนงข้อนี้ให้ปรากฏ เสมือนเป็นคำสัตย์ปฏิญาณให้ไว้ในสภาผู้แทนราษฎรนี้ด้วย”
ในการให้สัมภาษณ์ นิตยสารสไตล์ เขาเล่าว่า “ผมเป็นนายกฯ ก็จังหวะชีวิตอีกนั่นเอง ผมไม่รู้จัก จอมพลสฤษดิ์ เท่าไหร่ รู้จักนิดหน่อย เวลาไปอเมริกาก็ให้ผมไปเจรจาเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ กลับมาไม่ถึง 10 วัน ก็ปฏิวัติแล้ว วันปฏิวัติ ลูกของผม (เบี้ยก) กำลังจะบินกลับอเมริกา ผมยังต้องขับรถหลบขบวนทหารแอบข้างทางเลย พอกลับมาถึงบ้าน พลตรี เฉลิมชัย จารุวัสตร์ มาบอกว่า จอมพลสฤษดิ์ ผู้รักษาพระนคร เชิญให้ไปพบ”
“ท่านบอกกับผมว่า การปฏิวัติไม่ต้องการทำหรอก แต่เลือกตั้งไม่ดี ประชาชนเขาเรียกร้อง ถ้าปฏิวัติแล้วมาเป็นนายกฯ แทนเสียเอง ประชาชนจะหาว่าทะเยอทะยาน ปฏิวัติเพื่อแย่งตำแหน่งหน้าที่ อยากหาคนที่กลาง ๆ ไม่อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาเป็นนายกฯ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง”
“ผมปฏิเสธไม่ได้ จึงขอสัญญาจากท่าน 2 ข้อ คือ ข้อแรก เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว ขอกลับไปอยู่ชีโต้ เพราะรัฐบาลนานาประเทศเขาเลือกผมมา ผมไม่ได้สมัคร ข้อที่สอง ผมเห็นมามากแล้ว เวลาปฏิวัติครั้งใด ความพยาบาทอาฆาตแค้นยิงกันฆ่ากัน อย่าทำได้ไหม ท่านตอบว่า ‘ได้’ ผมก็ตอบ ตกลง”
สัญญา นายกฯพระราชทาน
คนที่ 4 สัญญา ธรรมศักดิ์ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 คลี่คลาย จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ประกาศลาออกจากตำแหน่ง และเดินทางออกนอกประเทศ ทำให้ตำแหน่งนายกฯสุญญากาศ สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ
ทั้งนี้ ในประกาศแต่งตั้งนายกฯ ระบุตอนหนึ่งว่า ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ได้ดำเนินการสอบความเห็นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยแล้ว ปรากฏว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติยังมีความเชื่อถือไว้วางใจใน นายสัญญา ธรรมศักดิ์ และมีความประสงค์ที่จะให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยที่ประชาชนเป็นอันมากแสดงความเชื่อถือไว้วางใจที่จะให้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปเช่นเดียวกัน
“จึงทรงมีพระราชดำริว่า นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นผู้ที่สมควรไว้วางพระราชหฤทัย ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
“สัญญา” เข้ามานั่งนายกฯ ได้มีการจัดตั้งสมัชชาสนามม้า เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และเปิดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ซึ่งถือว่ามีความเป็นประชาธิปไตยที่สุดฉบับหนึ่ง ก่อนพ้นจากตำแหน่งวันที่ 22 พฤษภาคม 2517 โดยลาออก อ้างเหตุร่างรัฐธรรมนูญไม่เสร็จก็ตาม
อานันท์ นายกฯเปลี่ยนผ่าน
คนที่ 5 อานันท์ ปันยารชุน แม้ก่อนหน้าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เขาได้รับเลือกจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ให้เป็นนายกฯ และเป็นนายกฯ ที่มาจากการยึดอำนาจ แต่หลังจากเหตุการณ์จบลง และ พล.อ.สุจินดา ลาออกจากตำแหน่ง พรรคฝ่ายเสียงข้างมากได้ร่วมกันสนับสนุนให้พล.อ.อ.สมบุญ ระหงส์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ขึ้นเป็นนายกฯ แต่ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ทูลเกล้าฯ เสนอชื่อนายอานันท์ขึ้นเป็นนายกฯ เป็นครั้งที่สอง
เมื่อ 10 มิถุนายน 2535 โดยถือว่าเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้ง โดยพ้นตำแหน่งเมื่อ 23 กันยายน 2535
โดยมีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ 2534
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : นายกฯเฉพาะกิจ ภารกิจในตำนาน เจรจาสงครามโลก-เปลี่ยนผ่านเลือกตั้ง
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net