'ซินเคอหยวน' ติดเงื่อนตายเหล็กตก มอก. ดิ้นลุยธุรกิจในไทย
นับตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อเดือนกันยายน 2567 หนึ่งในนโยบายที่ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม คือ การจัดการกับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น สายไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า และ เหล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กเส้นก่อสร้าง ภาคสังคมได้รับทราบข่าวสารการจัดการกับเหล็กเส้นที่ไม่เป็นไปตาม มอก. อยู่เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ บริษัท ซินเคอหยวน ถือเป็นกรณีตัวอย่างจากการตรวจเหล็กที่ใช้สร้างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 พบว่ามีเหล็ก 3 ชนิด ตกค่ามาตรฐานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยเฉพาะกรรมวิธีผลิตแบบ IF ตกทดสอบค่ามวลต่อเมตร (เหล็กเบา)
ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้สั่งปิดโรงงานและส่งเรื่องให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินคดี พร้อมทั้งเพิกถอนสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และดำเนินคดีในเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญไม่น้อยกว่าตัวเหล็ก เช่น เรื่องฝุ่น ที่มีครอบครองเกือบ 60,000 ตัน โดยที่ไม่ได้มีการแจ้ง มีการขนย้ายที่เข้าข่ายผิดกฏหมาย ได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดตั้งข้อหากับ ซินเคอหยวน และบริษัทที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งให้ DSI ดำเนินคดี ทั้งหมด 1,016 ข้อหา
แหล่งข่าวจากวงการเหล็ก เปิดเผยว่า ขณะนี้ ซินเคอหยวน ได้เดินสายเพื่อชี้แจงในข้อกล่าวหาของกระทรวงอุตสาหกรรมว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม และไม่ยอมรับผลการตรวจค่าเหล็กจากกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงการดำเนินการเพื่ออุทธรณ์กรณี BOI เพิกถอนสิทธิประโยชน์เป็นการชั่วคราวด้วย รวมทั้ง ยืนยันว่าดำเนินธุรกิจอย่างสุจริต โปร่งใส ปฏิบัติตามกฎหมายไทย และมีการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลย้อนหลัง 5 ปี เป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท
น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และหัวหน้าชุดตรวจการณ์สุดซอย หรือ “ทีมสุดซอย” กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับกลุ่มโรงงานเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะกรณีของซินเคอหยวนที่เป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินการขั้นเด็ดขาดเมื่อพบว่ามีการดำเนินธุรกิจที่ไม่ตรงกับการจดแจ้ง
ในส่วนของการดำเนินคดี "ซินเคอหยวน" จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก โดยหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ คือ
1. กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ซึ่งดำเนินคดีกับซินเคอหยวนและเครือข่าย โดยได้ดำเนินคดีอย่างรุนแรงกับซินเคอหยวน และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 1,016 คดี ซึ่งเป็นการดำเนินคดีในเรื่องของ "ฝุ่นแดง" ที่มีครอบครองเกือบ 60,000 ตัน โดยที่ไม่ได้มีการแจ้ง มีการขนย้ายที่เข้าข่ายผิดกฏหมาย
2. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ที่ได้ดำเนินคดีเกี่ยวกับเรื่องเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งเป็นผลจากการเข้าตรวจการณ์ในช่วงที่มีเหตุถังแก๊สระเบิดเมื่อเดือนธันวาคม 2567 ดังนั้น ตอนนี้เรื่องคดีได้ส่งให้กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการเรื่องเอกสาร ส่วนในเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานนั้น DSI ได้ออกหนังสือสอบสวนให้เรียบร้อยแล้ว
น.ส.ฐิติภัสร์ ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นการถล่มของอาคาร สตง. ที่หลายฝ่ายจับตานั้น ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ทำหน้าที่ในการรับรองผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ดังนั้น ในส่วนของการดำเนินคดีกับสินค้าสวมสิทธิ์จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม แม้คณะกรรมการของนายกรัฐมนตรี ที่ตั้งขึ้นมาโดยมีกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นประธาน ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องตึกถล่มจะว่าอย่างไร ก็เป็นเรื่องของท่าน
"ในฐานะกระทรวงอุตสาหกรรม เรายืนยันชัดเจนว่าเราได้มีการตรวจติดตามเหล็กจากกระบวนการหลอมจากเตาหลอม IF (Induction Furnace) ทั้งหมด 10 โรงงานเรียบร้อยแล้ว"
สำหรับผลการตรวจสอบพบว่า เกินครึ่งของโรงงานเหล็ก IF ทั้ง 10 แห่ง ที่ทำการตรวจ พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และกระบวนการผลิตก็ไม่เป็นไปตามที่จดแจ้งไว้ตั้งแต่เริ่มขอใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จึงยืนยันว่ากระบวนการในการยกเลิก มอก. ยังคงดำเนินต่อไป ทีมสุดซอยเราไม่หวั่นไหวแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่กระบวนการตรวสอบเหล็กที่ใช้สร้าตึก สตง. นั้น DSI ได้มาขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ สมอ. ในการเก็บตัวอย่างเหล็กจากสถานที่เกิดเหตุอาคาร สตง. ถล่ม และผลการตรวจได้ออกมาเรียบร้อยแล้วตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้แถลงไป โดยได้ส่งผลตรวจให้ DSI แล้ว
ดังนั้น กรมโยธาธิการและผังเมืองจะนำเอาไปใช้หรือพิจารณาในการประกอบคดีตึกสตง.ถล่มหรือไม่ก็เป็นเรื่องของกรมฯ แต่กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะที่เรากำกับดูแลผลิตภัณฑ์ จะยังดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานของมอก. อย่างมั่นคง
สำหรับรายชื่อโรงงานที่ถูกปิดและหยุดกระบวนการผลิตไปแล้วนั้น น.ส.ฐิติภัสร์ ยืนยันว่า ซินเคอหยวนมี 2 แห่ง ที่ กรอ. ออกคำสั่งให้ปิดอยู่คือ อำเภอบ้านค่าย เป็นโรงงานผลิตเหล็กเส้น ส่วนอีกสาขาอยู่ที่อำเภอปลวกแดง ผลิตเหล็กแผ่น ได้ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2564 และยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่นเดียวกับ บริษัท BNSS สตีล กรุ๊ป และบริษัท ชลบุรี สเปเชียล สตีล กรุ๊ป ที่ถูกปิดทั้งหมด ในส่วนของบริษัท เอบี สตีล จำกัด ได้ถูกหยุดบางกระบวนการผลิต เนื่องจากตรวจสอบพบว่ากล่องควบคุมมลพิษไม่เป็นไปตามที่ พ.ร.บ. โรงงานกำหนด
นอกจากนี้ ในส่วนของโรงงานที่มีเตาหลอม IF พบว่ามีทั้งหมด 11 แห่ง โดยมี 1 โรงงานที่เป็นบริษัทของคนไทย ซึ่งหยุดผลิตเหล็กเส้นไปสักพักแล้วเนื่องจากสู้ตลาดจีนไม่ไหว ส่วน 10 โรงงานที่เหลือทีมสุดซอยได้เก็บตัวอย่างมาทั้งหมด และผลการตรวจออกมาแล้ว 6 โรงงาน โดยพบเหล็กเส้นที่ตกมาตรฐานทั้งหมด 5 โรงงานจาก 6 โรงงานนี้ถูกสั่งปิดไปแล้ว ส่วนอีก 4 โรงงานที่เหลืออยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบ
น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เป้าหมายของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คือ "การผลิตเหล็กต้องเป็นไปตามมาตรฐาน" ดังนั้น เมื่อพบว่าผลการผลิตจากเตา IF มีกระบวนการผลิตที่ควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานได้ยาก และยังพบปัญหาการทุ่มตลาดที่ผลิตสินค้าในกลุ่มที่ต่างกัน แต่กลับเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด ทำให้เกิดการทุ่มตลาดอย่างรุนแรง
"กระทรวงอุตสาหกรรมจะยังคงเดินหน้าตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน และการลักลอบจดแจ้งสินค้าที่ผิดกฏหมายเพื่อลดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ความปลอดภัยของประชาชนคนไทยต่อไป"