'กำลังใจข้ามกำแพงเรือนจำ' แอมเนสตี้จัดนิทรรศการศิลปะ ส่งกำลังใจให้ผู้ต้องขังทางการเมือง
เมื่อยังมีผู้ต้องขังทางการเมืองอยู่ในเรือนจำ เราในฐานะคนธรรมดาทั่วไป จะสามารถทำอะไรได้บ้าง?
51 ราย คือตัวเลขผู้ต้องขังทางการเมืองในขณะนี้ โดยเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 32 คน ซึ่งในเดือนนี้ยังไม่มีใครได้รับการปล่อยตัว ท่ามกลางบรรยากาศของสังคมหลังที่ประชุมสภาพิจารณาร่าง พรบ.นิรโทษกรรม วาระที่ 1 โดยร่างฯ ที่รวมการนิรโทษกรรม มาตรา 112 ถูกคว่ำร่างไปแล้วในวันนี้ (16 กรกฎาคม 2568)
ถึงอย่างนั้น การสร้างความตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนของทุกคนก็ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่หลายคน หลายหน่วยงานยังผลักดิน รวมถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่ล่าสุดได้จัดนิทรรศการ ‘Freedom Beyond Walls’ กำลังใจข้ามกำแพง เพื่อส่งกำลังใจถึงเพื่อนผู้ต้องขังทางการเมืองในเรือนจำ
แสงเทียน เผ่าเผือก เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงสาธารณะ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คิวเรเตอร์หรือผู้ดูแลจัดทำของนิทรรศการ Freedom Beyond Walls กล่าวว่า “สิ่งที่แอมเนสตี้พยายามทำ ไม่ใช่แค่การไปบอกคนอื่นว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกคืออะไร แต่เราอยากให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอยู่ในตัวของทุกคน”
โดยมีรูปแบบการแสดงออกผ่านศิลปะ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการตีความ จึงมีการแสดงออกทั้งผ่านการเขียน การวาดภาพ “เรามองว่านี่คือโอกาสที่จะให้เขาได้มีส่วนร่วมกับแคมเปญของเรา และเรามองว่าจากการตีความของคนทั่วไป มันสำคัญต่อการเคลื่อนไหว” แสงเทียนกล่าว
นิทรรศการแบ่งเป็น 4 โซน ทั้งอุโมงค์ที่ถ่ายทอดคำพูดของผู้ต้องขัง แม้เสียงเหล่านั้นจะถูกทำให้เงียบหลังกำแพงเรือนจำ กำแพงประดับโปสการ์ดส่งต่อแนวคิดและแรงบันดาลใจ พื้นที่เขียนโปสการ์ดส่งกำลังใจเพื่อให้ผู้ต้องขังรู้ว่าพวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว รวมถึงการเขียนโพสต์อิตแสดงจุดยืนที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมพิเศษหมุนเวียนตลอดนิทรรศการ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม ทั้งเวิร์กช็อป การถ่ายภาพ การวาดภาพ หรือทำเข็มกลัด เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนได้แสดงออกในรูปแบบที่ตนถนัด
นิทรรศการ Freedom Beyond Walls จะจัดแสดง ณ บริเวณพื้นที่มุมสามเหลี่ยม หน้าร้านกาแฟ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 15-27 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.00-20.00น. (ปิดทุกวันจันทร์) เข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผู้ออกแบบนิทรรศการเล่าทิ้งท้ายไว้ถึงเสียงตอบรับจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม ระบุว่า “เขามองว่า ตัวเขาเองก็ไม่รู้ว่าจะมีส่วนช่วยเพื่อนผู้ต้องขังทางการเมืองอย่างไรบ้าง […] แต่การที่เขาสามารถเขียนจดหมาย เขารู้สึกว่าเขามีส่วนในการช่วยให้เพื่อนทนในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องทนได้สักนิดก็ยังดี”