‘เงินบาท‘ แข็งสุดรอบ 9เดือน นักวิเคราะห์ชี้ จ่อหลุด 32 บาทต่อดอลล์
“เงินบาท” มาแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบประมาณ 9 เดือนที่ 32.305 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะกลับมาปิดตลาดที่ระดับ 32.35 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ระดับ 32.45 บาทต่อดอลลาร์
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่า ตอนนี้ ค่าเงินบาท เทียบสกุลดอลลาร์และสกุลอื่น ถือว่าค่อนข้างแข็งค่าขึ้นมากเกินไป และแข็งค่าขึ้นนับตั้งแต่ปี 2540 จากดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับสกุลหลัก อาทิ ยูโร และเยน
ขณะที่ ปัจจัยพื้นฐานในประเทศ ทั้งเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ดุลบัญชีเดินสะพัด ไม่ได้สนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่อาจมีปัจจัยอื่นสนับสนุนการแข็งค่าเงินบาท เช่นราคาทองคำ เงินเฟ้อไทยยังต่ำปัจจัยเหล่านี้ต้องติดตามใกล้ชิด
ระยะกลาง-ยาว ‘เงินบาท’ ควรอ่อน
ดังนั้น ประเมินทิศทางค่าเงินบาทระยะข้างหน้า มองว่าระยะสั้น อาจเห็นเงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้น จากครึ่งปีหลังเศรษฐกิจสหรัฐยังมีความเสี่ยงชะลอตัว และเฟดมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยทำให้นักลงทุนลดการถือครองเงินดอลลาร์ กระจายเข้าสู่สกุลเงินในประเทศอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย
แต่มองว่าระยะกลางถึงยาว ควรเห็นเงินบาทกลับไปอ่อนค่า ไม่เช่นนั้นไทยจะสูญเสียความสามารถแข่งขัน มองกรอบเงินบาทสิ้นปีนี้ 32-36 บาทต่อดอลลาร์
“เงินบาทปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์เท่ากับกรอบล่างที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ เราถือว่าตอนนี้เงินบาทค่อนข้างแข็งค่า หากเทียบเงินเยนที่อ่อนค่ากว่า เช่นซื้ออาหารในญี่ปุ่นตอนนี้ดูเหมือนว่า ราคาจะถูกกว่าซื้ออาหารในไทยและในแง่ของอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้การลงทุนในต่างประเทศจะคุ้มค่ากว่าลงทุนในไทย กดดันภาคบริการ ท่องเที่ยว และการลงทุนสะท้อนว่า เรากำลังสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน”
"เงินบาท” แนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง
นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เหตุสำคัญที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องมาจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดดอกเบี้ยระยะข้างหน้า ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
เช่นเดียวกันกับการมาของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นระยะสั้นๆ ในปลายปี แต่เดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ที่ทรัมป์ประกาศสงครามการค้า ทำให้เงินดอลลาร์เริ่มอ่อนค่าลง เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจไม่ได้มีน้ำหนักเพียงพอที่จะพลิกทางดอลลาร์ให้กลับมาแข็งค่าได้
“การแข็งค่าของเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อได้จนถึงสิ้นปีนี้ แม้สถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจจะดูแย่ แต่หากดูจากปัจจัยทางการเมืองในประเทศไทยในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นหลายครั้งแล้วว่าเป็น เพียงปัจจัยระยะสั้นและเป็นเพียง sentiment แต่อาจไม่ได้มีผลต่อระยะยาว”
ทั้งนี้มองว่า การเปลี่ยนผ่านของรักษาการนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังมีการเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้นในมุมมองของนักลงทุน การที่สินทรัพย์ของประเทศไทยมีปัญหาทางการเมืองในช่วงเวลาหนึ่ง อาจเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนได้ เช่นเดียวกับการซื้อหุ้นในช่วงที่ตลาดดูแย่และจะฟื้นตัวกลับมาเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย
อย่างไรก็ตาม หากดูค่าเงินบาท หากเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ พบว่า ตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 5.4% ซึ่งแข็งค่าเป็นอันดับ 6 ในภูมิภาค และหากเทียบกับต้นเดือน พบว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 0.3%
ทั้งนี้ หากมองไปข้างหน้ามองว่าค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยมีโอกาสแตะ 32 บาทต่อดอลลาร์ และมีโอกาสแตะระดับที่ในระยะสั้นๆ ที่ 31.50-32 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปีนี้
บาทแข็งตามแรงซื้อ“พันธบัตรไทย” ต่างชาติ
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง โดยล่าสุดจุดที่แข็งค่าสุดอยู่ที่ระดับ 32.30บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบประมาณ 8-9 เดือนนับตั้งแต่ต้นเดือนต.ค. ปีก่อน และแข็งค่าขึ้นหากเทียบกับค่าเฉลี่ยสิ้นปีที่เงินบาทอยู่ที่ 32.32 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าแล้ว 5.5% ปัจจัยหลักไม่ได้มาจากเงินไหลเข้า แต่ผลมาจากเงินดอลลาร์ ที่อ่อนแอลงจากหลายปัจจัยทั่วโลก
โดยปัจจัยหลักๆ มาจากการที่ตลาดมองว่าเฟดมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ย แรงกดดันของดอลลาร์ ยังมาจากแรงกดดันจากประธานาธิบดีทรัมป์ ที่มีต่อธนาคารกลางสหรัฐ โดยเฉพาะกดดันให้ลาออก เหล่านี้ตลาดมองว่าเป็นล้วงความอิสระของธนาคารกลาง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง
อย่างไรก็ตาม จากดอลลาร์ที่อ่อนค่าขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกด้วย
สำหรับสถานการณ์เงินบาท ถือว่าแข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค จากดอลลาร์ที่อ่อนแอลง แต่การแข็งค่าของเงินบาท อาจไม่ได้มาจากกระแสเงินไหลเข้า แต่มาจากสกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหากเทียบกับทุกสกุลเงิน
สำหรับ การซื้อเข้าขายผ่านตลาดบอนด์ ล่าสุดยังมีแรงซื้อเข้ามาในตลาดตราสารหนี้สุทธิ ที่ 30,000 ล้านบาท แต่ยังเห็นเงินออกตลาดหุ้นไทยถึง 8 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ หากมองไปข้างหน้า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นในระยะสั้นแตะระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ได้ แต่ปลายปีมองว่าเงินบาทมีโอกาสกลับมาอ่อนค่าได้ที่ระดับ 33.70 บาทต่อดอลลาร์
“ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ที่มีผลต่อค่าเงินบาท มีทั้งเรื่องของเฟด ที่มีโอกาสลดดอกเบี้ย ประเด็นของทรัมป์ จากการแซงแทรกความอิสระของธนาคารกลาง แนวโน้มการคลังของสหรัฐที่มีแนวโน้มแย่ลง และราคาทองที่ปรับตัวสูงขึ้น เหล่านี้ทำให้เงินบาทและสกุลเงินภูมิภาคกลับมาแข็งค่าต่อเนื่อง”
ดอลลาร์ทรงตัว ผู้ค้ารอตัวเลขจ้างงาน
ค่าเงินดอลลาร์ตลาดสิงคโปร์ เมื่อวันพฤหัสบดี (3 ก.ค.) ยังอยู่ใกล้เคียงกับระดับต่ำสุดในรอบสามปีครึ่งในสัปดาห์นี้ ก่อนการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงาน และการที่สหรัฐกับเวียดนามทำข้อตกลงการค้ากันได้โหมกระพือความหวังที่ว่า สหรัฐอาจมีดีลกับประเทศอื่นๆ ตามมาก่อนภาษีศุลกากรตอบโต้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ก.ค. เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นจากที่อ่อนค่าลงมาเกือบ 1% เมื่อวันพุธ (2 ก.ค.)
เมื่อสำนักงานนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ สนับสนุนราเชล รีฟส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหลังมีข่าวลือว่า เธอจะไม่สนใจความกังวลของนักลงทุนเรื่องการเงินของประเทศ
ทั้งนี้ เงินปอนด์แข็งค่าขึ้น 0.2%ปิดตลาดล่าสุดที่ 1.3665 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรอ่อนค่าที่ 1.180 ดอลลาร์ ซึ่งยังใกล้ระดับสูงสุดในเดือนกันยายน 2021 ที่ทำไว้เมื่อไม่กี่วันก่อน เงินเยนอ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ 143.80 เยนต่อดอลลาร์
สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่าขึ้น 0.8% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ต้น เม.ย.2022 ผู้ส่งออกต้องการขายเงินดอลลาร์และมีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไต้หวันอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ รูเปี๊ยะห์อินโดนีเซียขยับขึ้น 0.3% เปโซฟิลิปปินส์แข็งค่าขึ้น 0.1% เทียบกับดอลลาร์ แม้ธนาคารกลางฟิลิปปินส์กล่าวว่า ปีนี้อาจลดอัตราดอกเบี้ยอีกสองครั้ง