“ล่มปากอ่าว” มาจากไหน ทำไมต้องปากอ่าว ?
สงสัยกันไหม ? “ล่มปากอ่าว” มาจากไหน ทำไมต้องปากอ่าว ? สำนวนข้างต้นมาจากบทอัศจรรย์ หรือบทรักช่วงเข้าพระเข้านาง ใน เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนพลายแก้วเข้าห้องนางสายทองนั่นเอง
หน้าที่ของบทอัศจรรย์นั้นตรงไปตรงมา คือเพื่อยืนยันว่าพระ-นางได้เสียกันแล้ว แต่กวีอธิบายตรง ๆ ไม่ได้ เพราะจะหยาบโลนเกินไป จึงต้องใช้การพรรณนาโวหารด้วยภาษาวิจิตร ใช้กลวิธีทางวรรณคดีหลีกหนีความสัปดน เล่าเหตุการณ์นั้นผ่านปรากฏการณ์ธรรมชาติ หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ตามแต่กวีจะเปรียบเปรยได้
สำหรับ “ขุนช้างขุนแผน” เชื่อกันว่ามีเค้าเรื่องจากเรื่องจริงในสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วมีผู้จดจำเล่าต่อ ๆ กันมา ดัดแปลงเพิ่มเติมจนมีลักษณะคล้ายนิทาน เพื่อให้เนื้อเรื่องสนุกสนานชวนติดตามยิ่งขึ้น จนมาเป็นวรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 3 และกวีราชสำนักอีกหลายท่าน อาทิ สุนทรภู่
ทีนี้ “ล่มปากอ่าว” อยู่ในตรงไหนของเรื่อง ?
เรื่องราวเกิดขึ้นช่วงที่พลายแก้ว(ขุนแผน) บวชเป็นเณรแก้วอยู่วัดแค เมืองสุพรรณบุรี นางพิม (พิมพิลาไลย – วันทอง) ตอนนั้นกำลังเป็นทุกข์กังวล เพราะถูกขุนช้างตามรังควาน นางศรีประจันผู้เป็นมารดายังเห็นดีเห็นงามจะยกนางเป็นเมียขุนช้างอีก นางพิมจึงชวนนางสายทองพี่เลี้ยง ไปฟ้องเณรแก้ว
ฝ่ายเณรแก้วรู้เรื่องจึงบอกคืนนี้จะสึกไปหา 2 นางก็กลับเรือน ตกเย็นเณรแก้วลาอาจารย์สึกแล้วปลุกผีป่าช้าให้พาตนไปบ้านนางศรีประจัน ครั้นถึงแล้วขึ้นเรือนไปหานางพิม บรรเลงความรักกันจนนางพิมผล็อยหลับไป แต่ใจพลายแก้วยังคิดคำนึงถึงนางสายทอง จึงแอบสะเดาะกลอนเข้าห้องนางพี่เลี้ยง หมายจะเอาเป็นเมียอีกคน
ด้านนางสายทองนั้นมีใจให้พลายแก้วอยู่แต่เดิมแล้ว พอเห็นพลายแก้วก็ออกอาการบ่ายเบี่ยงอยู่บ้าง แต่พอถูกโอ้โลมปฏิโลมเข้าจึงยอมมีสัมพันธ์ด้วยในท้ายที่สุด เกิดเป็นบทอัศจรรย์ระหว่างทั้งสอง ดังนี้
“พลางเป่าปถมังกระทั่งทรวง สายทองง่วงงงงวยระทวยนิ่ง
ทำตาปริ่บปรอยม่อยประวิง เจ้าพลายอิงเอนทับลงกับเตียง
ค่อยขยับจับเขยื้อนแต่น้อยน้อย ฝนปรอยฟ้าลั่นสนั่นเปรี้ยง
ลมพัดซัดคลื่นสำเภาเอียง ค่อยหลีกเลี่ยงแล่นเลียบตลิ่งมา
พายุหนักชักใบได้ครึ่งรอก แต่เกลือกกลอกกลับกลิ้งอยู่หนักหนา
ทอดสมอรอท้ายเป็นหลายครา เภตราหยุดแล่นเป็นคราวคราว”
ปรากฏว่ารสสวาทนางสายทองต่างจากนางพิม พลายแก้วในวัยคะนองเคยผ่านนางพิมมาบ้างแล้วก็จริง แต่เป็นลีลาหนุ่มรุ่นกับสาวน้อย พอมาเจอสาวใหญ่รุ่นพี่อย่างสายทอง พลายแก้วถึงกับ “เสียท่า” ดังกวีบรรยายเหตุการณ์ต่อไปว่า
“สมพาสพิมดุจริมแม่น้ำตื้น ไม่มีคลื่นแต่ระลอกกระฉอกฉาว
ปะสายทองดุจต้องพายุว่าว พอออกอ่าวก็พอจมล่มลงไป ฯ”
เรียกว่าระลอกก่อนไม่เป็นไร พอจะประคองเรือออกทะเลได้ แต่พอเจอพายุเข้าไปก็ไม่รอด เรือต้องล่มลงเสียก่อนที่ปากอ่าว นี่แหละคือที่มาของสำนวน “ล่มปากอ่าว” ที่เราพูดกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- ที่มาของคำบางคำ “กินน้ำใต้ศอก”
- ทำไมต้อง “โจรห้าร้อย” คำนี้เขียนเป็นตัวหนังสือไม่ใช่ตัวเลข เพราะเป็นสำนวน
- รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา สำนวนไทยนี้มาจากไหน เกี่ยวอะไรกับ “จั่ว” และ “เสา”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ. เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ.สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. (ออนไลน์)
ภาษิต จิตภาษา. “บทอัศจรรย์” คือบทอะไร? ทำไมต้องมี? มีเมื่อไร?. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2545. จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_20228
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “ล่มปากอ่าว” มาจากไหน ทำไมต้องปากอ่าว ?
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com