ThaiBMA หั่นเป้ายอดออกหุ้นกู้ปี 68 เหลือ 8 แสนล. รายใหญ่หันหาแบงก์
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ เป็นรองกรรมการผู้จัดการของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า สมาคมฯ ปรับลดคาดการณ์ยอดออกหุ้นกู้ปี 2568 ลงเหลือ 8 แสนล้านบาท จากเดิมคาด 8.5-9 แสนล้านบาท หลังช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มูลค่ายอดออกหุ้นกู้ เท่ากับ 398,820 ล้านบาท ลดลง 19.3%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการลดลงของทั้งกลุ่ม Investment Grade และกลุ่ม High Yield
เนื่องจากหุ้นกู้ที่ครบกำหนดลดลง จากผู้ออกมีการยืดหนี้ออกไปและหุ้นกู้ที่มีเรทติ้งสูง AAA AA โรลโอเวอร์น้อย จากมีทางเลือกรอให้อัตราดอกเบี้ยลงระดับที่น่าสนใจ จึงหันไปขอสินเชื่อ หรือบริษัทมีกระแสเงินสดที่สูงยังไม่จำเป็นต้องออก
ประกอบกับ การเจรจาภาษีสหรัฐของไทยที่ยังไม่มีความชัดเจน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่ยุติ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลงและลากนานตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวได้เล็กน้อยจากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นสำคัญ ในขณะที่ภาคเอกชนมีการออกหุ้นกู้ลดลง 19.3% จากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา
แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มช่วงครึ่งหลังของปี 2568 มองว่า ก็ยังมีโอกาสยอดออกจะสูงกว่าที่คาดการณ์ได้ หากการเจรจาภาษีทรัมป์มีความชัดเจนทำให้ตลาดทางการเงินนิ่งขึ้น และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่จูงใจเอื้อในการระดมทุนในการออกหุ้นกู้
นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวสรุปประเด็นสำคัญว่า มูลค่าตลาดตราสารหนี้ไทยขยายตัว: โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2568 มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยเท่ากับ 17.3 ล้านล้านบาท (คิดเป็น 93% ของ GDP) เพิ่มขึ้น 1.1% จากสิ้นปี 2567 จากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นสำคัญ ในขณะที่มูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปีที่ผ่านมา
นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทย 32,331 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568: โดยเป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ไทย 11,989 ล้านบาทในเดือนมกราคม จากนั้นเป็นการเข้าซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องในเดือน ก.พ. – เม.ย. รวม 79,240 ล้านบาท ก่อนจะพลิกกลับเป็นการขายสุทธิ
ตราสารหนี้ไทยในเดือน พ.ค. - มิ.ย. รวม 34,921 ล้านบาท ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2568 นักลงทุนต่างชาติมีการถือครองตราสารหนี้ไทยเท่ากับ 9 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.2% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวต่ำลง: อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Bond Yield) ปรับตัวต่ำลงทั้งเส้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ตามการปรับลดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทย 2 ครั้งในเดือนกุมภาพันธ์และเมษายน ส่งผลให้ Bond yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี 5 ปี และ10 ปี ปรับตัวลดลง 62-70 bps. จากสิ้นปี 2567 มาอยู่ที่ระดับ 1.40%, 1.40% และ 1.60% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2568
เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนปรับตัวต่ำลงในทิศทางเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล: ในช่วงครึ่งแรกปี 2568 อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้รุ่นอายุ 5 ปี ของหุ้นกู้กลุ่ม AAA AA A และ BBB+ ปรับตัวลดลง 52-93 bps. มาอยู่ที่ระดับ 1.88% 2.29% 2.75% และ 3.91% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2568
อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี: ผลสำรวจจากผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ราว 1 ครั้ง รวม 0.25% ลงมาอยู่ที่ 1.50% จากปัจจุบันที่ 1.75% สำหรับการคาดการณ์ Bond yield ไทย ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า Bond yield ไทยรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี ในช่วงที่เหลือของปี 2568 จะขยับตัวลดลงเฉลี่ยราว 5-10 bps. จากสิ้นไตรมาส 2 ปี 2568 จากปัจจัยเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ภาวะเศรษฐกิจโลกและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ