"เด็กสมบูรณ์" เผชิญวิกฤตรอบด้าน ปรับแผนรุกตลาดเอเชีย หนีภาษีทรัมป์
นายวสุพล ตั้งสมบัติวิสิทธิ์ กรรมการบริษัท และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการตลาดและฝ่ายขายในประเทศ บริษัท หยั่น หว่อ หยุ่น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 เปิดเผยถึงสถานการณ์ธุรกิจว่าปีนี้เป็นปีที่ท้าทายที่สุดตั้งแต่ผมทำงานมา ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2568 เป็นช่วงที่ท้าทายที่สุดในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา แม้แต่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ยอดขายก็ยังเติบโตได้ถึง 7-8% แต่ปีนี้กลับต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้าน ทั้งจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว
นายวสุพล ระบุว่า สหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญของหยั่น หว่อ หยุ่น คิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วน 35% ของรายได้รวมของบริษัท โดยยุโรปยังคงเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 คิดเป็นกว่า 40% ขณะที่ตลาดเอเชียมีสัดส่วนเพียง 15% และบริษัทได้ส่งออกสินค้าไปยังกว่า 80 ประเทศทั่วโลก
รับมือภาษี "ทรัมป์" 36% เร่งชิงส่งสินค้า-ลดต้นทุนภายใน
สำหรับประเด็นภาษีนำเข้า 36% ของสหรัฐฯ ที่สร้างความกังวลในภาคการส่งออก นายวสุพลกล่าวว่า ขณะนี้ยังคงต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังมีข่าวดีว่าสินค้าในกลุ่ม Seasoning (เครื่องปรุงรส) อาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงใน Tier แรกของมาตรการภาษี อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมและลดความเสี่ยง บริษัทได้เร่งดำเนินการล่วงหน้า โดยการส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ ในปริมาณที่สูงกว่าปกติถึง 4-5 เท่า หรือประมาณ 200 ตู้สินค้า มูลค่าราว 200 ล้านบาท ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ภาษีอย่างเป็นทางการ เพื่อให้สามารถครอบคลุมความต้องการของลูกค้าในตลาดนั้นได้ประมาณ 3-4 เดือนข้างหน้า
"เราพยายามพยุงราคาสินค้า และภายใต้คุณภาพมาตรฐานที่ดี สิ่งที่ต้องทำคือ เราพยายามหาวิธีการที่ทำให้ COGS (ต้นทุนขาย) ของเรา สามารถแข่งขันได้ในตลาด เราไม่พยายามผลักภาระในส่วนนี้ไปสู่ผู้บริโภค"
เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันและลดต้นทุนในระยะยาว บริษัทได้ลงทุนครั้งใหญ่ด้วยการติดตั้งเครื่องจักรเซ็ตใหม่ มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ในรอบ 3-4 ปี ที่โรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร โดยเป็นการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตในทุกไลน์สินค้า และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
ผลงาน 7 เดือนแรกในประเทศชะลอตัว ตั้งเป้าโตแค่ 1-2%
แม้ว่าตลาดส่งออกจะเผชิญความท้าทาย แต่ตลาดในประเทศของหยั่น หว่อ หยุ่น ก็ยังคงทรงตัว ไม่ได้เติบโตในอัตราที่สูงเหมือนในปี 2567 โดย 7 เดือนแรกของปี 2568 ยอดขายในประเทศเติบโตในระดับ Single Digit หรือประมาณ 2-3% ซึ่งลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2567 ที่เติบโตในระดับ Double Digit (11%) นายวสุพลมองว่า สาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจของไทยที่อยู่ในจุดที่ใกล้จะถึงจุดสูงสุดแล้ว และตลาดรวมที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
"ปีนี้ถ้าเกิดว่าเราพยายามพยุงให้ยอดขายไม่ตกลงไป ผมถือว่าโอเคแล้ว ตลาดรวมเครื่องปรุงรสมูลค่าราว 5,000 ล้านบาท ปีที่แล้วเรามีรายได้กว่า 5,000 ล้าน ซึ่งความท้าทายของปีนี้เป้าหมายการเติบโตที่เคยตั้งไว้ในระดับ Double Digit ทุกปี คงต้องปรับลง โดยคาดการณ์การเติบโตของยอดขายรวมสำหรับปี 2568 ไว้ที่ประมาณ 1-2% ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา แม้แต่ช่วงโควิด-19 ก็ยังโตได้สูงกว่านี้”
ปรับกลยุทธ์รุกตลาดใหม่-เน้นเทรนด์สุขภาพ-ดันสัดส่วนส่งออก 90%
เพื่อรับมือกับความท้าทาย นายวสุพลเผยถึงแผนการปรับตัวของบริษัท โดยจะหันมาโฟกัสในส่วนของ ตลาดเอเชียมากขึ้น พยายามดูประเทศอื่นๆ ที่ไม่มีประเด็นเรื่องภาษีนำเข้า ซึ่งปัจจุบันแม้สัดส่วนตลาดเอเชียจะยังน้อย แต่ก็มีบางประเทศที่เติบโตได้ดี เช่น อิสราเอล
นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับ เทรนด์สุขภาพ ที่กำลังมาแรง โดยเริ่มศึกษาและพัฒนาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ลดปริมาณโซเดียมและน้ำตาล แม้ว่าตลาดพรีเมียมและตลาดสุขภาพจะยังคงเป็นสัดส่วนที่เล็กมาก เมื่อเทียบกับตลาด Mass ที่บริษัททำอยู่
ด้านการตลาด ได้ลงทุนในงบการตลาดประมาณ 1-2% ของรายได้รวม หรือประมาณ 50 ล้านบาท โดยมีการเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์ใหม่ "พีพี" เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นยอดขาย ซึ่งมั่นใจว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับแผนระยะยาวจะผลักดัน สัดส่วนรายได้จากการส่งออกให้เพิ่มขึ้นเป็น 90% ภายใน 10 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่ 35% โดยยังคงเป้าหมายที่จะเติบโตในตลาดในประเทศไปพร้อมๆ กัน
ในส่วนของวัตถุดิบหลักอย่างถั่วเหลือง นายวสุพลยืนยันว่า หยั่น หว่อ หยุ่น ได้รับวัตถุดิบทั้งจากในประเทศและยุโรป โดยมีปริมาณจากสหรัฐฯ น้อยมากจึงไม่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบในส่วนนี้มากนัก และบริษัทยังมีการทำข้อตกลงกับซัพพลายเออร์เพื่อตรึงราคาวัตถุดิบ ทำให้มีความเสถียรในด้านต้นทุนพอสมควร