“ภัทรพงษ์” ซัด รัฐบาลคุยจีน-เมียนมา ไม่คืบ ปมสารพิษแม่น้ำกก
ในการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันแรก ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามสดรองนายกรัฐมนตรี ประเสริฐ จันทรรวงทอง ถึงแนวทางและความคืบหน้าในการแก้ปัญหาสารพิษปนเปื้อนในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำรวก ที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย
นายภัทรพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาสารพิษปนเปื้อนในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำรวก ซึ่งเกิดจากการทำเหมืองแร่ในฝั่งประเทศเมียนมา สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนตลอดทั้งสองฝั่งแม่น้ำอย่างหนักมากว่า 3 เดือนแล้ว
แต่ที่ผ่านมาการสื่อสารของรัฐบาลทำได้แย่มาก ราวกับว่ากำลังละเลยปัญหานี้และทิ้งให้ประชาชนต้องเผชิญปัญหาเพียงลำพัง ดังนั้น คำตอบของท่านรองนายกฯ ในฐานะหัวเรือที่ดูแลปัญหานี้ จะสะท้อนการทำงานของรัฐบาลให้ชัดเจนว่าที่ผ่านมาเป็นเพราะการสื่อสารที่แย่ หรือเป็นเพราะการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพกันแน่ ตนและประชาชนจะพิจารณาจากคำตอบของท่านในวันนี้
คำถามแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการภายในประเทศ ซึ่งมี 2 ประเด็นย่อย ประเด็นแรกคือเรื่องระบบฐานข้อมูล ที่ปัจจุบันเรายังไม่มีฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายเลย มีเพียงข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษหน่วยงานเดียวเท่านั้นที่แสดงข้อมูลอย่างชัดเจน
แต่หน่วยงานอื่นๆ ยังไม่เข้ามาบูรณาการ ตอนแรกตนดีใจมากที่รัฐบาลริเริ่มตั้งศูนย์สื่อสาร “AIM” (Awareness Information Monitoring) ซึ่งเหมือนชื่อเล่นของ รมช.มหาดไทย ขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับประชาชน
แต่การดำเนินงานของศูนย์นี้ก็เป็นเพียงการเปิดเฟซบุ๊กเพจมาสื่อสารข้อมูล ยังไม่ใช่ระบบบูรณาการฐานข้อมูลที่ประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ได้ง่าย
จึงขอให้ท่านรองนายกฯ ช่วยอธิบายให้ประชาชนเห็นภาพว่า ระบบฐานข้อมูลที่รัฐบาลใช้ในการวางแผน ป้องกัน และบรรเทาปัญหาอยู่ทุกวันนี้เป็นอย่างไร และจะเปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างไรบ้าง
ส่วนประเด็นที่สอง บริเวณแม่น้ำกก-สาย-รวกเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปีถึง 100,000 ไร่ คิดเป็นผลผลิตประมาณ 50,000 ตัน มูลค่ากว่า 250 ล้านบาท ซึ่งกำลังจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ถ้าหากมีการตรวจสอบพบในภายหลังว่าผลผลิตที่มีมูลค่ามากกว่า 250 ล้านบาทนี้มีสารพิษปนเปื้อนเกินมาตรฐาน ท่านจะเตรียมมาตรการรับมืออย่างไร และมีแนวทางในการเยียวยาเกษตรกรอย่างไรบ้าง
ด้านรองนายกฯ ประเสริฐ ได้ตอบคำถามแรกว่า ในเรื่องระบบฐานข้อมูลนั้น ขณะนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ซึ่งตนนั่งเป็นประธาน โดยมีการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมแผนที่ทหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ดังนั้น เรื่องการบูรณาการข้อมูลนั้นรัฐบาลทำอยู่แล้ว เรามีข้อมูลเพียงพอ โดยเฉพาะข้อมูลแผนที่ดาวเทียมที่เรามีข้อมูลภาพเหมืองแร่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เปรียบเทียบเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน
ขณะที่ในเรื่องสุขภาพประชาชน นายกฯ แพทองธารเป็นห่วงประชาชนอย่างยิ่ง โดยเรียกประชุมในเรื่องนี้ถึง 2 ครั้ง และมอบหมายให้ตนลงพื้นที่ไปตรวจสอบทั้งในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ โดยมีข้อสั่งการหลายอย่าง เช่น ให้กรมควบคุมมลพิษตรวจสอบคุณภาพน้ำทุกสัปดาห์ และทำงานร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อแจ้งเตือนประชาชนกลุ่มเสี่ยง
การจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในการแก้ปัญหา โดยมี รมช.มหาดไทย ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ช่วยประสาน การตั้งศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ 4 จุด เพื่อตรวจสุขภาพพี่น้องประชาชนอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการตรวจคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีค่าเกินมาตรฐาน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้ และดำเนินการทั้งเชิงรับและเชิงรุก
นายภัทรพงษ์ กล่าวว่า จากการตอบคำถามของรองนายกฯ ตนไม่แปลกใจเลยว่าทำไมประชาชนถึงไม่เชื่อมั่นในข้อมูลที่ภาครัฐนำเสนอ เพราะนอกจากหน่วยงานต่างๆ นอกเหนือจากกรมควบคุมมลพิษจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงง่ายแล้ว ฐานข้อมูลต่างๆ ที่ท่านบอกว่ามีการรวบรวมไว้แล้ว เราก็ยังไม่เห็นภาพว่ามีการบูรณาการกันอย่างไร ที่ท่านอธิบายมาไม่ต่างอะไรกับการขอเอกสารจากแต่ละหน่วยงานมานั่งดู ยังไม่เห็นภาพการบูรณาการใดๆ ทั้งสิ้น
ตนขอยกตัวอย่างวิธีการบูรณาการและเปิดเผยข้อมูล ซึ่งทำได้ง่ายๆ ผ่านการใช้ซอฟต์แวร์ฟรีอย่าง Google Earth รัฐบาลสามารถสร้างฐานข้อมูลโดยระบุพิกัดได้เลยว่าเหมืองแร่ที่เมียนมาอยู่จุดใดบ้าง การตรวจสอบคุณภาพน้ำจากกรมควบคุมมลพิษในแต่ละจุดมีค่าเป็นอย่างไร
การตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาลจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นอย่างไร ประชาชนสามารถซูมดูเป็นรายจุดได้เลยว่าบ้านของเรา ชุมชนของเรา มีการตรวจน้ำบาดาลครั้งล่าสุดเมื่อใด ตรวจไปแล้วกี่ครั้ง แล้วแนวโน้มของสารพิษในน้ำเป็นอย่างไร เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร มีการตรวจสุขภาพในชุมชนของพวกเขาอย่างไรบ้าง และผลเป็นอย่างไรบ้าง ทำฐานข้อมูลแบบนี้ไม่ยาก ไม่ต้องใช้งบประมาณเลย ทำได้ทันที และจะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการสื่อสารของรัฐบาลมากขึ้น แต่ก็ไม่ยอมทำ