“อัมเบดการ์” บิดารัฐธรรมนูญอินเดีย ใช้กฎหมายช่วยคนทุกชนชั้น
อัมเบดการ์ (Ambedkar) บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย ใช้กฎหมายช่วยคนทุกชนชั้น
อัมเบดการ์จัณฑาลผู้มีอุดมการณ์แรงกล้าในการต่อสู้ เพื่อสร้างสังคมอินเดียที่ปลดแอกจากระบบวรรณะ เป็นบุคคลสำคัญในการวางกรอบรัฐธรรมนูญอินเดีย จนได้รับการขนานนามว่า “บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย” เพราะช่วยให้ชาวอินเดียทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย หากแต่นั่นยังไม่เพียงพอสำหรับอัมเบดการ์ เพราะระบบวรรณะยังคงฝังรากลึกเป็นอุปสรรคขวางกั้นความก้าวหน้า เขาจึงรื้อฟื้นศาสนาพุทธในอินเดีย เพื่อเป็นศาสนาทางเลือกใหม่ของผองชนผู้ถูกกดขี่
ถูกเหยียดหยามเพราะเป็น “จัณฑาล”
ภีมราว รามยี อัมเบดการ์(Bhimrao Ramji Ambedkar) เกิดเมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1891 ในตระกูลสังข์ปาล (Sakpal) ซึ่งเป็นจัณฑาล กลุ่มคนที่มีสถานะต่ำต้อยที่สุดในศาสนาฮินดู ครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ที่เมือง Mhow พ่อของอัมเบดการ์ทำงานเป็นทหารอังกฤษ และมีความก้าวหน้ากว่าจัณฑาลกลุ่มอื่น ครอบครัวสังข์ปาลจึงเห็นความสำคัญของการศึกษา และเขี่ยวเข็ญให้ลูกๆ ได้เล่าเรียนหนังสือ ถึงขั้นที่เมื่อครอบครัวสังข์ปาลต้องย้ายไปบอมเบย์ (ปัจจุบันคือมุมไบ) และเริ่มประสบปัญหาทางการเงิน พี่ชายของอัมเบดการ์ต้องยอมเลิกเรียนหนังสือไปทำงานในโรงงานเพื่อช่วยค้ำจุนบ้าน และส่งเสียให้อัมเบดการ์ได้เรียนหนังสือ
อัมเบดการ์ต้องเผชิญกับการกีดกันทางวรรณะที่แสนเลวร้าย เพราะนามสกุลเดิมอย่างสังข์ปาล หรือนามสกุลใหม่ของครอบครัวที่ตั้งตามภูมิลำเนาอย่าง อัมบาวาเดการ์ (Ambavadekar) ยังแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นจัณฑาลอย่างชัดเจน
ในชั้นเรียน อัมเบดการ์ถูกเลือกปฏิบัติหลายอย่าง เช่น ถูกครูสั่งให้นำผ้าปูพื้นเก่า ๆ มานั่งแยกจากเพื่อนนักเรียน ไม่มีเพื่อนมาพูดคุยหรือเล่นด้วย ไม่ได้กินข้าวกับเพื่อน ๆ จำเป็นต้องกินน้ำโดยไม่มีแก้ว และถูกห้ามเรียนภาษาสันสกฤต เพราะความเชื่อที่ว่าจัณฑาลต่ำต้อยและแปดเปื้อนเกินกว่าจะศึกษาภาษาสันสกฤตอันศักดิ์สิทธิ์ได้ อัมเบดการ์จึงเติบโตกับการถูกเลือกปฏิบัติโดยการตีตราทางวรรณะ
แต่เขายังได้รับโอกาสที่ดี เมื่อ กฤษณาจี เคชาฟ อัมเบดการ์(Krishnaji Keshav Ambedkar) ครูวรรณะพราหมณ์ซึ่งเอ็นดูเขาเป็นพิเศษ อนุญาตให้เขาใช้นามสกุล “อัมเบดการ์” จนหลายคนเข้าใจผิดคิดว่า อัมเบดการ์เป็นคนในวรรณะพราหมณ์ ซึ่งช่วยลดแรงเสียดทานที่ต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี อัมเบดการ์จึงยกย่องสรรเสริญครูคนนี้มาก เพราะนามสกุลดังกล่าวช่วยเบิกทางให้เขากลายเป็นผู้นำคนสำคัญในการต่อสู้เพื่อปลดแอกระบบวรรณะ
ปี 1907 อัมเบดการ์เรียนจบโรงเรียนมัธยมปลายเอลฟินสโตน นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่สำหรับจัณฑาลที่สามารถไต่เต้าเข้าสู่การศึกษาระดับสูง เมื่อมีงานเลี้ยงฉลองเรียนจบ อัมเบดการ์ก็ได้รู้จักกับพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกจาก กฤษณจี อรชุน เกลุสการ์(Krishnaji Arjun Keluskar) นักเขียนนวนิยายภาษามราฐีและนักสังคมสงเคราะห์ ที่นำหนังสือพุทธประวัติที่เขาเป็นผู้เขียนมอบให้อัมเบดการ์ ตอนนั้นอัมเบดการ์สนใจเรื่องพระพุทธเจ้าอย่างมาก แต่เขาก็ยังคงนับถือศาสนาฮินดูตามเดิม
ความเป็นคนตั้งใจศึกษาหาความรู้ ทำให้อัมเบดการ์ได้รับทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอมเบย์ จากมหาราชาสายาจีราว คายกวาทที่ 3(Maharaj Sayajirao Gaekwad III) กษัตริย์ผู้ปกครองรัฐบาโรดา หลังเรียนจบแล้ว ในปี 1913 เขาได้ทำงานตอบแทนมหาราชาแห่งรัฐบาโรดา แต่โดนย้ายตำแหน่งงานใหม่เรื่อย ๆ โดยไม่มีงานถาวร ประกอบกับพ่อของเขาเสียชีวิต อัมเบดการ์จึงตัดสินใจลาออก แต่เดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน อัมเบดการ์ได้รับทุนของมหาราชาสายาจีราว คายกวาทที่ 3 อีกครั้ง เพื่อเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีเงื่อนไขว่าต้องกลับมาทำงานใช้ทุนทันทีหลังเรียนจบ
ในสหรัฐอเมริกา อัมเบดการ์สามารถคบหาผู้คนได้มากมาย เพราะปราศจากการกีดกันทางวรรณะ ซึ่งช่วยให้อัมเบดการ์เห็นศักยภาพของประชาธิปไตยที่จะทำให้สังคมมีความเสมอภาคมากขึ้น พร้อมกับเรียนรู้ความสำคัญเรื่องสิทธิ เป็นฐานของการขับเคลื่อนสังคมอินเดียให้ก้าวหน้าต่อไป
อัมเบดการ์เรียนจบปริญญาโทในปี 1916 ทว่าเขากลับตัดสินใจขอเรียนต่อที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยขยายทุนอีก 1 ปี แต่ก็เรียนไม่จบจึงต้องกลับอินเดียเพื่อทำงานใช้ทุนมหาราชา
ชีวิตใหม่ที่บอมเบย์
อัมเบดการ์กลับอินเดียในปี 1917 เข้าทำงานเป็นเลขานุการกองทัพของมหาราชาบาโรดา แต่หนีการถูกเหยียดวรรณะไม่พ้น เพราะคนวรรณะพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของอัมเบดการ์ต่างรังเกียจเขา อัมเบดการ์ร้องเรียนเรื่องนี้ต่อมหาราชา แต่ทุกอย่างยังคงเงียบงัน ช่วงนั้นเขายังโดนชาวปาร์ซีกลุ่มหนึ่งขับไล่ออกจากหอพัก หลังทราบว่าเขาเป็นจัณฑาล ทำให้อัมเบดการ์ตัดสินใจเดินทางออกจากบาโรดา และไปอยู่ที่บอมเบย์
ปีแรกที่บอมเบย์ของอัมเบดการ์ช่างยากลำบาก เพราะไม่มีใครรับทำงาน แต่ต่อมาวิทยาลัยการพาณิชย์และเศรษฐศาสตร์ซิดแนมเสนอให้เขารับตำแหน่งอาจารย์ด้านเศรษฐกิจการเมืองเป็นเวลา 2 ปี อัมเบดการ์ตอบตกลงทันที และเริ่มงานตั้งแต่ 11 พฤศจิกายน ปี 1918 เขาทุ่มเทกับการสอนหนังสืออย่างจริงจังกระทั่งมีชื่อเสียงโด่งดัง ดึงดูดนักศึกษาจากสถาบันอื่นให้มาฟังเขาบรรยายได้อย่างล้นหลาม กระนั้นเพื่อนร่วมงานวรรณะสูงบางคนก็ยังเหยียดเขาอยู่
อัมเบดการ์ที่เข้าใจดีถึงการกดขี่ทางวรรณะ จึงเริ่มเคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องระบบวรรณะ เรียกร้องให้ชาวอินเดียโดยเฉพาะคนวรรณะสูงและอภิสิทธิ์ชนเปลี่ยนทัศนคติ ให้นึกถึงสิทธิของคนที่ถูกกดขี่ ไล่เลี่ยกันนั้นก็ตัดสินใจลาออกก่อนหมดสัญญาจ้าง พกทุนรอนก้อนหนึ่งย้ายไปเป็นข้าราชการในเมืองโครักขปุระตามคำเชิญของมหาราชาชาหุที่ 1ผู้ทรงสนับสนุนสิทธิของจัณฑาล
มหาราชาพระองค์นี้ออกทุนให้อัมเบดการ์เขียนและตีพิมพ์วารสารรายสัปดาห์ชื่อ มุขนายกในบอมเบย์เมื่อปี 1920 อัมเบดการ์ใช้วารสารฉบับนี้โจมตีนักการเมืองอนุรักษนิยมที่ไม่แยแสต่อการกดขี่คนวรรณะต่ำ แต่วารสารนี้กลับต้องปิดตัวลงในเวลาไม่นานด้วยขาดสภาพคล่องทางการเงิน
แม้การเคลื่อนไหวช่วงแรกจะเต็มไปด้วยปัญหา แต่เขาก็ยังไม่ละทิ้งความมุ่งมั่น เมื่ออัมเบดการ์เก็บหอมรอมริบได้จำนวนหนึ่ง และจากการหยิบยืมเงินจากเพื่อนและมหาราชา ก็ไปเรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอกที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน ประเทศอังกฤษ พร้อมกับพยายามสอบเนติบัณฑิต
เขาใช้ชีวิตในอังกฤษอย่างแร้นแค้นถึง 3 ปี จนสามารถเรียนจบปริญญาโท ปริญญาเอก และสอบผ่านเนติบัณฑิตอังกฤษได้ในที่สุด
“อัมเบดการ์” ต่อสู้เพื่อปลดแอกระบบวรรณะ
อัมเบดการ์กลับอินเดีย เริ่มต้นทำงานเป็นทนายความในศาลสูงบอมเบย์ในปี 1924 ทำให้มีโอกาสช่วยเหลือเรื่องกฎหมายให้ผู้ด้อยโอกาส เขาได้ทำตามความฝันอีกครั้ง นั่นคือ การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้สังคมอินเดียมองเห็นปัญหาของระบบวรรณะ ควบคู่กับการเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ
อัมเบดการ์เห็นว่า“ระบบวรรณะ”คือสิ่งชั่วร้ายที่ขัดขวางความก้าวหน้าของสังคมอินเดีย อีกทั้งคำเรียกผองชนผู้ไร้วรรณะอย่าง “จัณฑาล”เป็นคำเรียกอย่างรังเกียจเดียดฉันท์ จึงเลือกใช้คำว่า “ทลิต” (Dalit) อันมีความหมายว่า แตกหัก หรือ สลาย ในภาษาสันสกฤต เป็นคำเรียกผองชนทั้งมวลที่ถูกกดขี่ในสังคมอินเดีย ไม่ใช่เพียงชาวฮินดูเท่านั้น หากยังรวมถึงคนด้อยโอกาสต่าง ๆ ด้วย
หลากหลายวาระโอกาสที่อัมเบดการ์พยายามต่อสู้เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพให้กลุ่มคนด้อยโอกาสเช่น ในปี 1927 อัมเบดการ์ทำพิธีสัตยาเคราะห์ ดื่มน้ำในสระโชว์ดาร์ที่เมืองมหัท (Mahad) ซึ่งเดิมห้ามคนวรรณะต่ำใช้น้ำในสระ เพื่อเรียกร้องสิทธิให้ทลิตเข้าไปใช้น้ำในสระสาธารณะโชว์ดาร์ได้
ช่วงแรกอัมเบดการ์มีเจตนารมณ์ถอดรากถอนโคนระบบวรรณะให้สิ้นซาก ปรากฏชัดในงานเขียน The Annihilation of Caste(วรรณะวินาศ) ซึ่งมีเนื้อหาแข็งกร้าว รุนแรง ปลุกระดมให้ชาวทลิตและผู้ด้อยโอกาสตระหนักรู้ ต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของตน
อัมเบดการ์จึงกลายเป็นผู้นำของชาวทลิตในการต่อสู้ล้มล้างระบบวรรณะ และมีบทบาทในการเรียกร้องเอกราชของอินเดีย โดยเป็นผู้แทนชาวทลิตหารือเรื่องเอกราชอินเดียร่วมกับผู้แทนกลุ่มอื่น ๆ กับอังกฤษ
แต่เมื่อรัฐบาลอังกฤษเห็นด้วยกับอัมเบดการ์ว่าทลิตควรมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน เช่นที่ชาวมุสลิมและซิกซ์มี กลุ่มฮินดูอนุรักษนิยมกลับไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าการมีผู้แทนทลิตจะก่อให้เกิดความแตกแยก จึงกดดันให้อัมเบดการ์ยกเลิกข้อเรียกร้องเรื่องผู้แทนชาวทลิต อัมเบดการ์ซึ่งกลัวว่าข้อเรียกร้องจะทำให้ชาวทลิตถูกคนฮินดูหมู่มากเพ่งเล็ง จึงยอมถอนข้อเรียกร้อง และยอมลดระดับความเคลื่อนไหวเป็นในทางประนีประนอมมากขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้อัมเบดการ์เห็นว่า ภายใต้กรอบของศาสนาฮินดู ไม่มีทางที่ชาวทลิตจะยกสถานภาพของตัวเองได้เลย จึงประกาศความตั้งใจละทิ้งศาสนาฮินดูไปนับถือศาสนาอื่น ตัวแทนศาสนาทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นอิสลาม ซิกข์ และคริสต์ ต่างพยายามเกลี้ยกล่อม แต่อัมเบดการ์ได้ปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมดอย่างนุ่มนวล
อัมเบดการ์ บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย
ปี 1947 หลังอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ อัมเบดการ์ได้รับเชิญจากพรรคคองเกรส เข้าร่วมกับคณะรัฐมนตรีของ ยวาหลาล เนห์รูนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย ร่วมกับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด 296 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มาจากพรรคคองเกรส แต่ยังมีทลิตอีก 29 คน ช่วยร่างรัฐธรรมนูญ
อัมเบดการ์ในฐานะประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ทำให้ “รัฐธรรมนูญอินเดีย” กลายเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการสร้างสังคมอินเดียสมัยใหม่ ที่ประชาชนทุกคนต่างเสมอภาคกันด้วยกฎหมาย รัฐธรรมนูญอินเดียคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพชาวอินเดียทุกคน ทั้งการนับถือศาสนา การยกเลิกระบบวรรณะ และยกเลิกการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ ไม่ว่าด้วยเหตุแห่งวรรณะ ศาสนา เพศ เชื้อสาย และภูมิลำเนา เหล่านี้คือมรดกสำคัญ ซึ่งทำให้อัมเบดการ์ได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย”
อัมเบดการ์ยังทำให้อินเดียมีระบบโควตาในระบบราชการ โรงเรียน และมหาวิทยาลัย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของอัมเบดการ์ ในการต่อสู้เพื่อสร้างสังคมอินเดียที่มีความเสมอภาค
ถึงอย่างนั้น อัมเบดการ์ยังคงไม่พอใจกับรัฐธรรมนูญอินเดีย เพราะมีหลายส่วนในรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปดังใจเขา และยังคงแสวงหาหนทางที่จะทำให้ชาวทลิตขึ้นมามีบทบาทในสังคมอินเดียมากขึ้น
อัมเบดการ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ผลักดันร่างกฎหมายกฎบัตรฮินดู (Hindu Code Bill) เพื่อแทนที่จารีตฮินดู ซึ่งผู้หญิงตกเป็นเบี้ยล่างมาตลอด ด้วยกฎหมายที่มอบสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย โดยเฉพาะเรื่องมรดก การแต่งงาน และเศรษฐกิจ แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวกลับล้มเหลว เพราะถูกต่อต้านจากนักการเมืองส่วนใหญ่ในสภา อัมเบดการ์จึงลาออกจากรัฐบาลในปี 1951
เขาลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 1952 และแพ้การเลือกตั้ง แต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปีเดียวกัน และเป็นวุฒิสมาชิกจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาคืนสู่มาตุภูมิ
หลังจาก อัมเบดการ์ ใช้เวลาศึกษาลัทธิการเมืองและศาสนาต่าง ๆ เขาก็หันเข้าสู่ศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นหนทางใหม่ในการปลดแอกชาวทลิตจากระบบวรรณะ เพราะศาสนาพุทธเปิดกว้างต่อผู้คนทุกชนชั้นวรรณะ
ราวปี 1950 อัมเบดกาเดินทางไปประเทศศรีลังกา เพื่อเข้าร่วมการประชุมองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (World Fellowship of Buddhists) และประกาศว่า กำลังเขียนหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เมื่อเขียนเสร็จเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธอย่างเป็นทางการ จากนั้นในปี 1954 เขาเดินทางไปเมียนมาร์เพื่อเข้าร่วมการประชุมองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ที่กรุงย่างกุ้ง ต่อมาในปี 1955 ก็ก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งอินเดีย (Bharatiya Bauddha Mahasabha)
ทว่าปี 1956 สุขภาพของอัมเบดการ์ย่ำแย่ลงด้วยโรคเบาหวานต้องนอนติดเตียงอยู่ในบ้านที่เดลี และมีสายตาที่แย่ลงจากผลข้างเคียงของยาเบาหวาน อัมเบดการ์อุทิศเวลาช่วงสุดท้ายให้กับพระพุทธศาสนา โดยเขียนต้นฉบับหนังสือ The Buddha and His Dhamma(พระพุทธเจ้ากับพระธรรม) จนจบ ตีความศาสนาพุทธเสียใหม่ โดยไม่ได้อิกับนิกายเถรวาทหรือมหายาน ศาสนาพุทธแบบใหม่ในอินเดียจึงถือกำเนิดขึ้นเป็น “พุทธนวยาน”อันมีความหมายว่า แนวทางใหม่
ปีเดียวกันนั้น ตรงกับ พ.ศ. 2499 (หรือ พ.ศ. 2500 เพราะอินเดียนับพุทธศักราชเร็วกว่าไทย 1 ปี เช่นเดียวกับพม่าและลังกา) รัฐบาลอินเดียได้เฉลิมฉลองเนื่องในวาระพุทธศาสนาอายุครบ 2500 ปี โดยจัดงานเฉลิมฉลองวนเวียนตามรัฐต่าง ๆ ตลอด 1 ปีเต็ม
รัฐบาลอนุมัติงบประมาณเพื่อช่วยเหลือศาสนาพุทธในด้านต่าง ๆ เช่น ตัดถนนเข้าสู่พุทธสังเวชนียสถาน สร้างธรรมศาลา อำนวยความสะดวกแก่ผู้มาร่วมงานพุทธชยันตีจากประเทศต่าง ๆ จัดพิมพ์หนังสือสดุดีพระพุทธศาสนา และจัดทำหนังสือวิชาการพระพุทธศาสนา
ในงานฉลองพุทธชยันตีที่เมืองนาคปุระ รัฐมหาราษฏระ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ปี 1956 อัมเบดการ์ได้นำชาวทลิตกว่า 5 แสนคน เข้าร่วมพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะพร้อมกัน โดยกล่าวคำปฏิญาณตน 22 ข้อ และกล่าวว่า
“ข้าพเจ้าเกิดมาจากตระกูลที่นับถือศาสนาฮินดู แต่ข้าพเจ้าจะขอตายในฐานะพุทธศาสนิกชน”
เพียงสามเดือนหลังพิธีประกาศตนเป็นพุทธมามกะ อัมเบดการ์ได้เสียชีวิตอย่างกะทันหันในเช้ามืดวันที่ 6 ธันวาคม ปี 1956 เป็นการสิ้นสุดชีวิตของนักต่อสู้เพื่อปลดแอกระบบวรรณะ บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย และผู้ฟื้นฟูศาสนาพุทธในอินเดีย
ในฐานะ “นักต่อสู้เพื่อปลดแอกระบบวรรณะ” อัมเบดการ์ทำได้อย่างดีเยี่ยมเท่าที่เขาทำได้ภายใต้กรอบของฮินดู ในฐานะ “บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย” อัมเบดการ์ทำให้ประชาชนอินเดียเท่าเทียมกันใต้กฎหมาย และในฐานะ “ผู้ฟื้นฟูศาสนาพุทธในอินเดีย” อัมเบดการ์ได้อุทิศตนเพื่อฟื้นฟูศาสนาพุทธให้หวนคืนสู่แผ่นดินอินเดียอีกครั้ง
คุณนานัปประการของอัมเบดการ์ที่มีต่อชาวอินเดีย ทำให้เขาได้รับการยกย่องและเคารพรักจากชาวอินเดียจำนวนมาก ผู้คนนิยมเรียกเขาว่า “บาบาซาเฮบ” มีความหมายว่า พ่อ ผู้มีความรอบรู้ที่นำอินเดียสู่ยุคสมัยใหม่
อ่านเพิ่มเติม :
- ส่องสภาผู้แทนฯ อินเดีย ประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก
- คานธีเริ่มต้น “สัตยาเคราะห์” เพราะคนงานอินเดียในแอฟริกาที่ถูกใช้เยี่ยงทาส
- ฉายา “เพชรประดับยอดมงกุฎกษัตริย์อังกฤษ” น้อยไปไหมสำหรับอินเดีย
อ้างอิง :
Dhananjay Keer, Dr. Babasaheb Ambedkar: Life and Mission (Mumbai: Popular Prakashan, 1954, 2016
พิทธิกรณ์ ปัญญามณี. 2560. “ปัญหาของการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์อินเดีย: อัมเบดการ์ศึกษา, ประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนนอกวรรณะ และการศึกษาซับบอลเทิร์น: ทางเลือกของการศึกษาประวัติศาสตร์นิพนธ์อินเดีย”. วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 3 (1):245-81.https://doi.org/10.14456/thammasat-history.2016.6.
พิทธิกรณ์ ปัญญามณี. 2560. “การปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และความคิดของ ดร.อัมเบดการ์: การสำรวจเชิงวิเคราะห์” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560.
สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. อัมเบดการ์ : ผู้แสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพในอินเดีย (ตอนที่ 19). 3 ตุลาคม 2563. https://curadio.chula.ac.th/Program-Detail.php?id=10266 (21 พฤศจิกายน 2565 ที่เข้าถึง).
อรุรธตี รอย. บัณฑิตกับนักบุญ. แปลโดย รวิวาร รวิวารสกุล และ ชวาร์ เกษมสุข. กรุงเทพฯ: สวนเงินมีมา, 2564.
https://www.drbrambedkarcollege.ac.in/bharat-ratna-dr-bhim-rao-ambedkar
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กรกฎาคม 2566
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “อัมเบดการ์” บิดารัฐธรรมนูญอินเดีย ใช้กฎหมายช่วยคนทุกชนชั้น
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com