“รักเดียว” ของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สตรีที่พระบรมชนกนาถ (ร.5) ไม่ทรงชอบพระทัย
เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ “สมเด็จพระบรมฯ” พระองค์แรกของสยาม กับสตรีผู้ที่น่าจะเป็น “รักเดียว” ของพระองค์ และพอจะมีหลักฐานกล่าวถึงอยู่บ้าง แต่กลับกลายเป็นคนที่สมเด็จพระบรมชนกนาถ (รัชกาลที่ 5) ทรงเอ่ยถึงว่า “ผู้หญิงคนนี้ฉันไม่ชอบ”
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระอัครมเหสี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2421
ด้วยความที่ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เจ้าฟ้าพระองค์นี้จึงทรงเป็นความหวังสูงสุดของพระบรมราชชนก-ชนนี ในการที่จะทรงดำรงตำแหน่งประมุขปกครองดูแลราชอาณาจักรสืบต่อไป
แม้สุดท้ายจะมิได้เสวยราชสมบัติ เนื่องจากสวรรคตไปก่อน เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437 ขณะทรงมีพระชนมายุเพียง 16 พรรษา แต่พระประวัติในช่วงที่พระองค์เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร หรือ “รัชทายาท” ในราชบัลลังก์ ก็แสดงให้เห็นว่าทรงต้องสละความสุข-ความพอพระทัยส่วนพระองค์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยาม
รวมถึงเรื่อง “ความรัก” ซึ่งเกิดขึ้นในวัยหนุ่ม
เรื่องนี้ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย เล่าไว้ในบทความ “สตรีคนแรกและคนสุดท้ายของสมเด็จพระบรมฯ พระองค์แรก”ในศิลปวัฒนธรรมฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2536 ว่า คนนี้คงเป็นสตรีท่านเดียวในพระชนม์ชีพ แต่น่าเสียดายที่ไม่ปรากฏนามในหลักฐานใด ๆ เลย ข้อมูลที่มีทำให้คาดเดาได้เพียงว่า อาจเป็นคนที่ประพฤติตนไม่งามนัก ทั้งยังมีสามีอยู่แล้ว นำมาสู่ความไม่พอพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 5
ร่องรอยของสตรีผู้นี้อยู่ในพระราชหัตถเลขาที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีถึง พระยานรรัตนราชมานิต(โต มานิตยกุล) ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ซึ่งเป็นขวบปีสุดท้ายในพระชนมายุของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศแล้ว ความว่า
“คือหม่อม…ซึ่งกระดาษไหม้ไฟฤๅจมน้ำแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น…ที่แท้ควรจะเรียกว่า… เป็นคนมีหนี้สินเกี่ยวข้องอยู่ เมื่อมาวิ่งหาในวังไม่ได้แล้ว เป็นมิตรสหายอันสนิทผู้หนึ่งของพระยานรรัตนนั้น เป็นที่รังเกียจของเรา
ถึงว่าเจ้าผัว…จะชมอยู่ว่าดีประการใด การกระพฤติลามกต่าง ๆ ย่อมปรากฏแก่หูเราหลายสิบครั้ง จะจริงก็ช่างเถิด จะเท็จก็ช่างเถิด เพราะมิใช่หน้าที่ ที่เราจะไปไต่สวนให้ได้ความจริง ขอบอกแต่เพียงว่า ถ้าลูกชายใหญ่จะไปที่บ้านวันใด อย่าให้ได้พบปะมีสมาคมคบหากันเลยเป็นอันขาด”
พฤติกรรมที่ทรงกล่าวว่าเป็น “การประพฤติลามกต่าง ๆ” คือ “ว่าหม่อม…ผู้นี้เคยเดินผู้ชายตอมยื้อชักเกรียวกราวมาแต่ปีก่อน ถึงจะเท็จหรือจริงก็ไม่เป็นที่พอใจในคำเล่าฤๅเช่นนั้น” ซึ่งในส่วนพระองค์เองก็ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับสตรีผู้นี้ว่า
“ฉันก็ต้องยอมรับเป็นสัตย์ว่า ผู้หญิงคนนี้ฉันไม่ชอบ”
รัชกาลที่ 5 ทรงเข้าพระทัยเป็นอย่างดีว่า สมเด็จพระบรมฯ เข้าสู่วัยหนุ่มแล้ว ย่อมมีเหตุให้พลาดพลั้งบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา จึงทรงสอดส่องระมัดระวังอย่างเข้มงวด ทั้งทรงพระวิตกว่าอาจมีผู้ไม่ปรารถนาดีชักนำให้พระราชโอรสที่เยาว์พระชันษาไปมีน้ำพระทัยเผื่อแผ่รักใคร่ในสตรี หรือสตรีมีอายุมากกว่าจะล่อลวงให้ทรงไขว้เขว จึงทรงกำชับพระอภิบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไว้เป็นคำหนัก ดังพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์(ม.ร.ว. หลาน กุญชร) ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน ร.ศ. 112 ว่า
“ถ้าต่อไปผู้หญิงคนนี้ไปอยู่ที่ใด ขออย่าให้ลูกไปพบปะเป็นอันขาด เผอิญจะไปพบก็ให้เลี่ยงเสียทันที ถ้าพระยาเทเวศไม่ระวังคำสั่งนี้จนสุดกำลังที่จะทำได้ ก็ขอให้ถึงความพินาศฉิบหายด้วยศัตราวุธ อย่าให้แคล้วคลาดอาณาจักร จงมีจงถือโดยเร็วพลัน ถ้าหากป้องกันหลีกเลี่ยงได้ตามคำสั่ง ขอให้มีความเจริญศิริสวัสดิ์พัฒนามงคลทุกประการเทอญ…”
นอกจากนี้ ยังมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยานรรัตน์ราชมานิตย์ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน ร.ศ. 112 ดังว่า
“เพราะฉะนั้นขอให้คิดป้องกันอย่าให้มีการสมาคมเช่นได้ยินหนาหูอยู่จะจริงหรือเท็จไม่ทราบนั้น ในที่บ้านของพระยานรรัตนเลยเป็นอันขาด ถ้าข้อห้ามที่ห้ามนี้จะเป็นเวลาทวนกระแส หากจะเป็นไปได้แล้วไซ้ ก็มีอยู่อย่างแต่น้ำใจที่คิดประทุษร้ายต่อพระยานรรัตน
ถ้าให้ลูกพบกับหม่อม…ฤๅลูกล่อบริวารในที่บ้านและพระยานรรัตน ขอให้พระยานรรัตนถึงความพินาศฉิบหายด้วยสาสตราวุธจงเร็วพลัน ให้เห็นประจักษ์ว่า เป็นผู้ไม่มีความกตัญญูกะตะเวที ถ้าหากพระยานรรัตนคิดป้องกัน ให้ได้ตามคำสั่งนี้ ขอให้มีความเจริญศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลทุกประการเทอญ…”
รัชกาลที่ 5 ยังมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามกุฎราชกุมาร เพื่อกำชับเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน ดังปรากฏในลายพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน ร.ศ. 112 ความตอนหนึ่งว่า
“ได้ยินจากสมเด็จแม่ว่าไปเที่ยวภูเขาทอง แต่ก็ได้ความว่าไปกับคนเป็นอันมาก แต่อยากถามข้อหนึ่ง อยากห้ามข้อหนึ่ง อยากถามนั้นคือ ไปภพอีหม่อม…หรือไม่ ข้อที่จะห้ามนั้น ถ้าจะไปไหนเวลาผิดปรกติมืดค่ำเช่นนี้ให้บอกลา ได้อนุญาตเสียก่อนจึงไป เหมือนเช่นพ่อเคยประพฤติมา เมื่อครั้งทูลกระหม่อมปู่ ถ้ารักพ่อรักแม่คงจะบอกตามที่จริง และทำตามที่สั่งตลอดไปจนกว่าจะได้อนุญาต”
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดสมเด็จพระบรมชนกนาถก็ทรงคลายพระปริวิตก เมื่อพระอภิบาลและผู้เกี่ยวข้องที่ทรงกำชับได้ปฏิบัติตามคำปฏิญาณอย่างแน่วแน่ พระราชโอรสเองก็ทรงมีพระหทัยยึดมั่นในความรักและความหวังดีของสมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงทรงยินดีที่จะปฏิบัติพระองค์ให้พระราชบิดาทรงคลายพระกังวล
ดังที่ 2 วันต่อมาก็มีพระราชหัตถเลขาว่า “ด้วยได้รับคำตอบวันนี้ พอแล้ว สิ้นวิตก อย่าให้เป็นที่ขุ่นมัวรำคาญในใจต่อไปอีกเลย…”
อ่านเพิ่มเติม :
- “เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ” มกุฎราชกุมารองค์แรกของไทย ที่ รัชกาลที่ 5 ทรงรักมาก
- พระนาม “วชิรุณหิศ” ที่พระราชทานเป็นชื่อถนน แกะรอยเส้นทางนี้ อยู่จุดไหนในปัจจุบัน?
- พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ในประวัติศาสตร์ไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “รักเดียว” ของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สตรีที่พระบรมชนกนาถ (ร.5) ไม่ทรงชอบพระทัย
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com