“พระเจ้าห้าพระองค์” คืออะไร ต้นไม้, คาถา หรือพระพุทธเจ้า 5 พระองค์
“พระเจ้าห้าพระองค์” แม้เป็นคำเดียว แต่กลับมีความหมายถึง 3 ประการด้วยกัน คือ พระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์, พระคาถาโบราณ และต้นไม้ใหญ่มีลักษณะเป็นศิริมงคล
แล้วทั้ง 3 สิ่ง เกี่ยวพันกันอย่างไร
“พระเจ้าห้าพระองค์” หรือ “พระพุทธเจ้าห้าพระองค์” ในภัทรกัป เป็นคติความเชื่อที่ผสมผสานกันระหว่างคติเรื่องอดีตพระพุทธเจ้า และพระอนาคตพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ แบ่งเป็น พระพุทธเจ้า 4 พระองค์ ที่ทรงอุบัติแล้ว ได้แก่ พระกกุสันธะ, พระโกนาคมนะ, พระกัสสปะ และพระโคตมะ ส่วนพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 5 คือ พระศรีอารยเมตไตรย จะทรงอุบัติในอนาคต
การบูชาพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ มีเค้ามาจากการบูชาพระเจ้าหลายองค์ อันเป็นคติดั้งเดิมในศาสนาพุทธทั้งฝ่ายเถรวาท และฝ่ายมหายาน ที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้แจ้งในธรรม มีจำนวนเป็นอนันต์เหลือคณานับ
นอกจากนี้ ยังมี “คาถา” ที่นับถือว่าเป็นบทมนตร์ของพระเจ้าทั้งห้าพระองค์ คือ “นโม พุทฺธาย” อ่านว่า “นะ-โม พุด-ทา-ยะ” แปลโดยอรรถว่า “ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า” นิยมใช้สวด และเขียนในยันต์จำนวนมาก หนังสือเก่าๆ มักเขียนหรือพิมพ์คาถานี้ไว้ที่หน้าต้น ด้วยนับถือกันว่าเป็นคำไหว้ครูที่สำคัญ
คาถาทั้ง 5 พยางค์ มีความหมายแทนพระพุทธเจ้าในภัทรกัปแต่ละพระองค์ หนังสือพระยากาเผือก ระบุคาถาประจำพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ไว้ ดังนี้
“…นะโม พุทธายะ นะเจ้าขา เรียก พระเจ้าทั้งห้า อย่าสงสัย นะ กุกกุสันโธ โม แจ้งใจ คือจอมไตรพระมหาโกนาคม พุทธ พงศ์องค์กัสสปคำรบสาม ธา คือนามโลกกะเฉทเหตุปฐม คือองค์พระสมโนพระโคดม ยะ สิทธิ์สม คือความนามเมตไตร”
อีกทั้งยังเป็นชื่อของไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูงประมาณ 25-40 เมตร มักขึ้นอยู่ตามป่าดิบแล้ง มีแนวการกระจายพันธุ์มาจากอินเดีย พม่า ไทย และเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร ในอดีตใช้รักษาโรคหิด หรือบริเวณที่เป็นเม็ดผื่นคันชนิดเรื้อรัง
เนื่องจาก “ผล” ของมันแบ่งออกเป็น 5 พู แต่ละพูมีรูปคล้ายพระเรียงรอบผล 5 องค์ จึงกลายเป็นชื่อของต้นไม้นี้ และยังได้ชื่อว่าเป็นไม้สิริมงคล มีการนำใบ, ดอก และผล มาประกอบพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ของคนโบราณ ทั้งไทย, ลาว, พม่า, กัมพูชา และจีน
คลิกอ่านเพิ่ม:
- “ตำนานกาเผือก” เรื่องราวของ 5 พระพุทธเจ้า (พระเจ้าห้าพระองค์) ครั้งเป็นพี่น้องกัน
- ต้นกำเนิด “พระเครื่อง” เมื่อคนเดือดร้อนไม่มั่นคง และวิทยาศาสตร์ให้คำตอบไม่ได้
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง
เด่นดาว ศิลปานนท์. เอกสารรายงานผลการศึกษา โครงการศึกษา ค้นคว้า วิชาการของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกรมศิลปากร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565-2566 เรื่อง โครงการศึกษาศิลปกรรมพระเจ้าห้าพระองค์. สำนักพิพิธภัรฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.
ผู้เขียน (ไม่ได้ระบุ). รุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, พ.ศ. 2560.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2568.
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “พระเจ้าห้าพระองค์” คืออะไร ต้นไม้, คาถา หรือพระพุทธเจ้า 5 พระองค์
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com