‘คราฟต์ช็อกโกแลตไทย’ พลิกโฉมอุตสาหกรรมที่คนทั่วโลกต้องเหลียวมอง
อุตสาหกรรมคราฟต์ช็อกโกแลตไทยกำลังเติบโตอย่างน่าจับตาในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากเดิมทีไทยเป็นเพียงผู้นำเข้าโกโก้ และช็อกโกแลตเป็นหลัก ปัจจุบันได้มีการพัฒนาและยกระดับขึ้นสู่การผลิต “Bean-to-Bar” (จากเมล็ดสู่แท่ง) ที่ได้รับความสนใจจากทั้งในและต่างประเทศ
เมื่อพูดถึงประเทศที่ผลิตช็อกโกแลต ย่อมนึกถึงสวิตเซอร์แลนด์ และเบลเยียม เป็นอันดับแรก ๆ ที่จะนึกถึง แต่ประเทศเหล่านี้ไม่มีใครปลูกโกโก้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบจำเป็นต่อการทำช็อกโกแลต โดยร้อยละ 79 ของโกโก้ทั่วโลกมาจากไอวอรี่โคสต์ในทวีปแอฟริกา แต่คงไม่มีใครนึกถึงประเทศไทยที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้ปลูกกาแฟแบบ “Bean-to-Bar” ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังเฟื่องฟู
ประเทศไทยกับโกโก้มีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน โดยในศตวรรษที่ 17 สเปนเริ่มขนส่งพืชผลจากฟิลิปปินส์ไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย, อินเดีย, มาเลเซีย และไทย โดยเข้ามาในช่วงทศวรรษ 1900 แต่ความแตกต่างอยู่ที่ไทยไม่เคยเป็นผู้เล่นหลักในการค้าระดับโลก
ในปี 1952 รัฐบาลไทยออกมาตรการอุดหนุนเพื่อส่งเสริมโกโก้ให้เป็นพืชส่งออกที่ทำกำไร แต่ก็พบกับความล้มเหลว เพราะเกษตรกรมองว่าการปลูกยางพารา น้ำมันปาล์ม และผลไม้ ได้รับผลกำไรมากกว่า และในปี 1990 ผลผลิตโกโก้ลดลงเหลือเพียง 400 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับยักษ์ใหญ่ของภูมิภาคอย่างอินโดนีเซีย
ในช่วงทศวรรษปี 2000 ทางการแนะนำ “ชุมพร 1” โดยเป็นพันธุ์โกโก้ที่แข็งแรงกว่า และเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันครั้งใหม่อีกครั้ง จึงทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมาเป็น 1,400 ตันต่อปี สร้างความหวังใหม่ให้กับตลาดเฉพาะกลุ่มที่เน้นความยั่งยืน แต่สองทศวรรษต่อมา อุตสาหกรรมนี้ถดถอยอีกครั้ง อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงความสำคัญของนโยบายทางการเกษตร ไม่เพียงเท่านั้น เกษตรกรหลายรายโค่นต้นโกโก้เพื่อปลูกพืชผลที่ให้ผลกำไรมากกว่า เช่น ทุเรียน ซึ่งเป็นพืชที่มีความต้องการสูงมากในประเทศจีน
ขณะเดียวกัน ภาษีนำเข้าเมล็ดโกโก้ดิบที่สูงขึ้น ก็ส่งผลให้ผู้ผลิตช็อกโกแลตของไทยต้องปิดกิจการลง เนื่องจากขาดแคลนอุปทาน
อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณการฟื้นตัวของช็อกโกแลตในประเทศไทย โดยมีกระแสช็อกโกแลตแบบ bean to bar ที่กำลังเติบโต ซึ่งได้รับแรงหนุนจากร้านคาเฟ่ช็อกโกแลต และผู้ผลิตช็อกโกแลตแบบเป็นล็อตเล็ก
ตัวอย่างร้าน Choch ร้านช็อกโกแลตที่ตั้งอยู่ติดกับถนนทรงวาด เป็นร้านที่เสิร์ฟเครื่องดื่มช็อกโกแลตที่ทำโดย “chocoristas” ซึ่งเจ้าของร้านเคยเป็นชาวไร่ปลูกโกโก้ ก่อนผันตัวเองเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ
Suradech Tiyachaipanich เจ้าของร้าน Choch บอกว่าผมไม่ได้วางแผนที่จะเปิดร้านขายช็อกโกแลต ผมเป็นเกษตรกร เริ่มปลูกโกโก้ โดยตอนแรกพยายามขายผลผลิตกับผู้ผลิตช็อกโกแลต แต่ถูกค้นพบว่าไม่มีใครซื้อ เพราะตลาดมีขนาดเล็กมาก และทุกคนนำเข้าจากต่างประเทศ ณ จุดนี้จึงมองเห็นโอกาส นั่นคือไม่มีใครทำ เลยเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจช็อกโกแลต
ความสำเร็จของ “Choch” คือการชนะเลิศการแข่งขัน Thailand Chocorista Championship 2023 ซึ่งจัดโดยสหพันธ์ผู้ประกอบการโกโก้
ด้านBoonnum Phromchan เจ้าของสุริยาฟาร์ม ในจังหวัดจันทบุรี เล่าว่าตนเริ่มปลูกโกโก้เพื่อหารายได้เสริม การปลูกโกโก้สามารถสร้างรายได้ต่อเดือนได้ ทำให้มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าไฟ, ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไม่เหมือนกับทุเรียน และมังคุดที่สร้างรายได้ปีละครั้ง
ขณะเดียวกัน Daniel Bucher ผู้ก่อตั้ง Pridi Cacaofevier บริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตบาร์ มองว่าตนเห็นด้วยกับการปลูกโกโก้ ซึ่งเป็นพืชที่ให้ผลตลอดปี สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้ คุณอาจไม่ต้องพึ่งพาพืชชนิดเดียว โดยยังสามารถขายทุเรียน และมังคุดได้อยู่ และมีพืชผลใหม่ ๆ เข้ามาสร้างรายได้ให้กับฟาร์ม
“ในฐานะผู้ซื้อโกโก้ ผมมองเห็นโอกาสที่จะส่งเสริมแนวทางปฏิบัติโกโก้ที่ยั่งยืน อย่างฟาร์มสุริยา ต้นโกโก้จะเติบโตท่ามกลางต้นมังคุด และทุเรียน”
สำหรับอุตสาหกรรมช็อกโกแลตมีมูลค่าประมาณ 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยโกโก้เป็นพืชผลที่ทำกำไรได้ดี โดยเฉพาะเกษตรกรในแอฟริกา ซึ่งปลูกโกโก้เป็นส่วนใหญ่
มองได้ว่าอุตสาหกรรมคราฟต์ช็อกโกแลตไทยกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ด้วยความสนใจของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาคุณภาพของเมล็ดโกโก้ไทย และความสามารถของผู้ผลิตไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล แม้จะมีความท้าทายในด้านการผลิตและการตลาด หากมีการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงความร่วมมือระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมนี้มีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในตลาดโลกต่อไป
ที่มา: scmp
เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ