รัฐบาลปิดบังข้อเท็จจริงภาษีสหรัฐ ทิ้งผู้ประกอบการไทยในความมืด
เมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศจัดเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับไทยในอัตรา 36% ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 ภาพความจริงที่เผยออกมาแล้วนั้น เปรียบเสมือนภูเขานํ้าแข็ง ที่เรามองเห็นเพียงยอดแค่ส่วนเดียว ขณะที่ก้อนใหญ่ยังจมอยู่ใต้ผิวนํ้า
รัฐบาลไทย กระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงการคลัง ได้ปิดบังข้อเท็จจริงสำคัญที่ทำให้ผู้ส่งออกไทย SMEs และประชาชนไม่สามารถเข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริง ส่งผลให้การวางแผนรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ผิดพลาดและล่าช้าไปมาก
ภาษีตอบโต้ 36% ที่รัฐบาลเน้นยํ้าอย่างเดียว เป็นเพียงชิ้นเดียวในจิ๊กซอว์ภาระภาษีที่ผู้ส่งออกไทยต้องเผชิญ ความจริงที่น่าสะเทือนใจคือ สินค้าไทยหลายรายการต้องเสียภาษีในสหรัฐรวมกันสูงถึง 50-60% เมื่อนับรวมภาษีทุกประเภทที่มีอยู่
ความจริงแล้วสินค้าไทยบางตัวต้องแบกรับภาระภาษีถึง 5 ชนิดพร้อมกัน ได้แก่ ภาษีพื้นฐาน MFN (2-5%) ภาษีตามมาตรา 232 ที่บังคับใช้กับเหล็ก อะลูมิเนียม รถยนต์ในอัตรา 25% ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ที่บางรายการสูงถึง 300% อย่างแผงโซลาร์เซลล์ ภาษีตามมาตรา 301 และภาษีตอบโต้ใหม่ 36% ที่จะมาถาโถมในเดือนสิงหาคมนี้
ยกตัวอย่าง เฟอร์นิเจอร์ที่ต้องเสียภาษีปกติ 3% ภาษีการทุ่มตลาด 30% และภาษีตอบโต้ 36% รวมกันเป็น 69% หรือแผงโซลาร์เซลล์ที่ต้องเสียภาษีการทุ่มตลาดสูงถึง 300% บวกกับภาษีตอบโต้อีก 36% ทำให้ต้นทุนพุ่งสูงเกินกว่าจะแข่งขันได้
การปิดบังข้อเท็จจริงนี้ ทำให้ผู้ประกอบการไทยหลายรายตกใจเมื่อรู้ความจริง ที่ผ่านมาพวกเขาคิดว่าเพียงแค่เตรียมรับมือกับภาษีตอบโต้ 36% เท่านั้น แต่เมื่อรู้ว่า ต้องเผชิญภาษีรวมสูงถึง 50-60% หลายรายเริ่มพิจารณาปิดกิจการ หรือ เปลี่ยนไปนำเข้าสินค้าจากจีนที่ราคาถูกกว่ามาจำหน่ายแทน
ข้อเท็จจริงที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่ง ที่รัฐบาลไม่เน้นยํ้าเพียงพอ คือ ความเสียเปรียบของไทย เมื่อเทียบกับเวียดนาม ซึ่งถูกเก็บภาษีตอบโต้เพียง 20% ต่ำกว่าไทยถึง 16% ช่วงห่างนี้เพียงพอที่จะทำให้นักลงทุนต่างชาติหันไปลงทุนที่เวียดนามแทน โดยเฉพาะธุรกิจประเภท Footloose Industry ที่มุ่งส่งออกไปตลาดสหรัฐเป็นหลัก
ผู้ประกอบการหลายรายออกมาแสดงความคิดเห็นว่า หากรัฐบาลเปิดเผยข้อเท็จจริงตั้งแต่แรก พวกเขาจะได้เตรียมมาตรการรับมือที่เหมาะสม เช่น การหาตลาดทดแทน การปรับโครงสร้างต้นทุน หรือการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
กลุ่มโซลาร์เซลล์ที่ต้องเสียภาษีการทุ่มตลาด 300% บวกกับภาษีตอบโต้ 36% ระบุว่า หากรู้ข้อเท็จจริงตั้งแต่แรก จะได้วางแผนเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดหรือปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ก่อนที่จะสายเกินไป
รัฐบาลควรเร่งเปิดเผยข้อเท็จจริงครบถ้วนเกี่ยวกับภาระภาษีทั้งหมดที่ผู้ส่งออกไทยต้องเผชิญ รวมถึงจัดทำข้อมูลรายละเอียดภาษีแยกตามประเภทสินค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนรับมือได้อย่างเหมาะสม
การปิดบังข้อเท็จจริงไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม แต่จะทำให้ปัญหาใหญ่ขึ้น เมื่อความจริงถูกเปิดเผยในที่สุด รัฐบาลควรกลับมาทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และทันเวลา เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทบรรณาธิการ หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,115 วันที่ 20 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2568