“อยากให้มันจบลงโดยเร็ว” เสียงคนแนวหน้า เมื่อการปะทะเกิดขึ้นไม่ทันตั้งตัว คุยกับ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ชายแดนไทย-กัมพูชา
“ตอนนี้หนักมาก ผมพยายามอพยพชาวบ้านมาที่ศูนย์อพยพ มีทั้งเสียงปืนเสียงระเบิดดังสนั่นตลอด” เสียงชุลมุนของเด็ก และชาวบ้าน ภายในศูนย์อพยพของชาวบ้าน ในพื้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ใน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เช้า วันนี้ (24 ก.ค. )
ประยูร (นามสมมติ) ผู้นำหมู่บ้าน และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ได้บอกเล่าให้กับสำนักข่าว TODAY ผ่านโทรศัพท์ ถึงการแจ้งเตือนให้ชาวบ้านเตรียมพร้อม ตั้งแต่ พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผบ.ทบ. สั่งการดูแลพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา หากต้องรับมือเหตุที่อาจทวีความรุนแรงตั้งแต่เมื่อวาน (23 ก.ค.)
สำหรับ อ.กันทรลักษ์ นับเป็นพื้นที่หนึ่ง ที่มีรายงานความ ‘เสียหายต่อชีวิต’ มากที่สุดในตอนนี้ จากเหตุบริเวณปั๊ม ปตท. บ้านผือ ต.หนองหญ้าลาด ที่ส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตไปแล้ว 6 คน บาดเจ็บ 10 คน
[เช้าวันธรรมดา ที่เริ่มต้นจากลูกไปโรงเรียน]
นับตั้งแต่ 8 โมงเช้าที่ผ่านมา ประยูร เล่าว่า กรมการปกครองแจ้งเตือนให้ผู้นำหมู่บ้าน และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน เตรียมความพร้อม หากได้ยินเสียงปะทะ ไม่ว่าจะปืนเล็กปืนใหญ่ ให้ทำการอพยพได้ทันที
“เริ่มปะทะกันตั้งแต่ 8.40 น.” ประยูรกล่าว “เสียงปืนเสียงระเบิดดังสนั่น ตอนนี้ผมพยายามอพยพชาวบ้านมาที่ศูนย์อพยพ”
ถึงจะได้รับการแจ้งเตือน ทว่า ประยูรและชาวบ้านในพื้นที่ ไม่คาดคิดว่าความรุนแรงจะทวีคูณรวดเร็วถึงเพียงนี้ จากที่ผ่านมา ความรุนแรงจะเริ่มต้นขึ้นด้วยการใช้ปืนขนาดเล็ก แต่ครั้งนี้กลับเริ่มยิงตอบโต้กันด้วยปืนใหญ่
ณ เวลา 13.00 น. โดยประมาณ มีชาวบ้านในพื้นที่อพยพมาที่ศูนย์ได้ ไม่ถึง 20 คน โดยยังมีอีกกว่า 300 คนติดอยู่ในหมู่บ้าน
“ในฐานะคนชายแดน อยากให้มันจบโดยเร็ว ยิ่งจบไวยิ่งดี แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ในเมื่อเราอยู่ชายแดนต้องยอมรับสภาพ เพราะว่ามันทำอะไรไม่ได้ ในเมื่อเรายังไม่สามารถปักปันเขตแดนกันได้”
ประยูร เล่าต่อว่า ตอนเช้าเขายังให้ลูกเดินทางไปโรงเรียนอยู่เลย โดยไม่คาดคิดว่าเพียงชั่วพริบตา สถานการณ์จะบานปลายได้ขนาดนี้ ก่อนวางสาย ประยูร กล่าวว่า เขาจำต้องกลับไปที่หมู่บ้านอีกรอบ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนในหมู่บ้านของเขาจะปลอดภัย
[คนเฒ่า-เด็กเล็ก ใจสั่นขวัญหาย]
ทางด้านหมู่บ้านอีกแห่ง ใน จ.อุบลราชธานี เป็นอีกชุมชน ที่อยู่ใกล้เขตแนวปะทะมากที่สุดจุดหนึ่งในไทย วิชิต (นามสมมติ) ผู้ใหญ่บ้าน ได้ให้ข้อมูลกับทางสำนักข่าว TODAY ว่า สถานการณ์ในหมู่บ้านอยู่ในสภาวะชุลมุน ชาวบ้านเกือบทั้งหมดต้องอพยพไปพื้นที่ปลอดภัย
“ตอนนี้มีเสียงปืนตอบโต้กันไปมาอยู่ จึงไม่กล้าอพยพส่วนที่เหลือออกมา” ผู้ใหญ่บ้าน วิชิต กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสาย
วิชิต เล่าต่อว่า เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นช่วง 8 โมงเช้า สถานการณ์ลุกลามมาเรื่อยๆ ตามแนวตะเข็บชายแดน มีการแจ้งจากทางจังหวัดว่ามีการปะทะ และผ่านไปเพียงครึ่งชั่วโมง ก็ลุกลามจนถึงหมู่บ้านของเขา
“ตอนนี้คนเฒ่าคนแก่ เด็กเล็กเด็กแดงใจสั่นขวัญหายกันแล้ว”
ในฐานะผู้ใหญ่บ้าน และหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน วิชิต กล่าวว่า ผู้ปฏิบัติงานของหมู่บ้านกำลังใจยังดีอยู่ แต่เขาก็อยากให้คนไทยช่วยส่งกำลังใจ เพื่อช่วยเหลือคนในพื้นที่
“ยิ่งจบไวยิ่งดี เพราะว่ามันคือชีวิตการทำมาหากินของคนชายแดน เราไม่สามารถออกหากินเองได้มานานแล้ว ชาวบ้านไม่สามารถออกไปไหนได้เลยตอนนี้”
วิชิต ยังได้ฝากไปถึงรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า อยากให้ทางรัฐบาลมาช่วยดูแลเรื่องหลุมหลบภัย ให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ และอย่างน้อยควรมีหลุมหลบภัย ในแต่ละหมู่บ้านให้เพียงพอ เมื่อเกิดเหตุการณ์การปะทะจริง ชาวบ้านจะได้หลบได้ทัน
“ชาวบ้านไม่รู้ล่วงหน้าเลยว่าจะมีการปะทะ มีเวลาแค่ 30 นาทีในการเตรียมตัว ตอนนี้เสียงปืน และเสียงระเบิดยังคงดังอย่างต่อเนื่อง” วิชิต กล่าวทิ้งท้าย
[พื้นที่ไร้เสียงปืน ก็ต้องเตรียมความพร้อม]
ขณะที่หมู่บ้านอีกแห่ง ใน จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมี จรัญ (นามสมมติ) ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า ในพื้นที่ของเขา ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการปะทะเกิดขึ้น แต่ได้มีการแจ้งประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมพร้อม เพื่อรอการอพยพหากมีคำสั่ง
“เราสั่งให้ทุกโรงเรียนปิดเรียน และสั่งให้เด็กกลับบ้านอยู่กับผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ปกครองต้องเตรียมความพร้อมเรื่องแผนอพยพ ตามที่ซักซ้อมกันไว้”
ในฐานะคนชายแดน จรัญ กล่าวว่า เขาภาวนาให้พื้นที่ของเขาเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่ไม่เกิดการสู้รบ แต่หากสถานการณ์มันลุกลามบานปลาย เขาก็เตรียมพร้อมตามมาตรการที่ทางหน่วยงานราชการสั่งการ
โดยยังอยากฝากถึงคนไทยทั่วประเทศ ให้เป็นกำลังใจให้กับคนที่อยู่แนวหน้าทั้งทหาร เจ้าหน้าที่ และประชาชนในพื้นที่ “ทุกคนที่อยู่แนวหน้าเสียสละมาแล้วเป็นเวลานาน เราไม่อยากให้เกิดการสู้รบ แต่เมื่อเวลานี้มันเกิดขึ้น เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้”
“สงครามไม่มีอะไรดี มีแต่การสูญเสียทั้งฝ่ายเราและฝ่ายเขา และถ้ายิ่งยืดเยื้อไป บาดแผลก็จะยิ่งลึกขึ้น การจะกลับมาเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน ก็จะยิ่งยากขึ้น ผมจึงอยากให้มันจบลงโดยเร็ว” จรัญ ได้ฝากข้อความทิ้งท้าย