UNSC คือใคร มีอำนาจทางกฎหมาย แล้วมีอำนาจในการบังคับใช้จริงหรือ?
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอ้างแหล่งข่าวทางการทูตว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC เตรียมเปิดประชุมฉุกเฉินในวันนี้ (25 กรกฎาคม 68) เพื่อแก้ปัญหาการปะทะกันริมชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชา
การประชุมดังกล่าวมีกำหนดการเริ่มขึ้นในเวลา 15 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ หรือประมาณ 02.00 น. -ของเช้าวันที่ 26 กรกฎาคม ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศไทย โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ หลังฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ยื่นเรื่องให้มีสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซง
UNSC ทำหน้าที่อะไรบ้าง?
UNSC หรือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คือหน่วยงานหนึ่งในสหประชาชาติ ทำหน้าที่หลักในการ รักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยมีบทบาทสำคัญในการพิจารณาข้อพิพาทระหว่างรัฐ เรียกร้องให้มีการหยุดยิงหรือการเจรจา หรือส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ (Peacekeeping Forces)
UNSC ทำหน้าที่กำหนดมาตรการลงโทษหรือบังคับใช้ โดยอาจใช้มาตรการทางการทูต เศรษฐกิจ หรือแม้แต่กำลังทหาร ตัวอย่างเช่น การคว่ำบาตรประเทศที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
UNSC มีอำนาจทางกฎหมาย แต่ไม่มีอำนาจบังคับใช้
แม้ UNSC จะมีอำนาจตามกฎบัตรสหประชาชาติและมีผลผูกพันทางกฎหมายต่อชาติสมาชิก โดยเฉพาะ มติที่ออกภายใต้บทที่ 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งเกี่ยวกับการจัดการกับภัยคุกคามต่อสันติภาพ การละเมิดสันติภาพ หรือการกระทำการรุกราน
แต่อำนาจ “ทางกฎหมาย” กับ “การบังคับใช้จริง” เป็นคนละเรื่อง เพราะถึงแม้ UNSC จะออกมติที่มีผลทางกฎหมาย แต่ UNSC ไม่มีทหารหรือกองกำลังของตัวเอง ต้องพึ่งพาประเทศสมาชิกในการส่งกำลัง และถ้าประเทศสมาชิก “ไม่ร่วมมือ” หรือ “เพิกเฉย” มติ UNSC ก็อาจไม่มีผลในทางปฏิบัติ
หรือมีบางประเทศไม่ยอมปฏิบัติตามมติ เช่น ที่ประชุมมีมติให้เกาหลีเหนือยุติโครงการนิวเคลียร์ หรือมติประณามอิสราเอลในประเด็นปาเลสไตน์ แต่ก็ไม่สามารถบังคับให้ยุติได้
นอกจากนี้ 5 ชาติถาวรยังมีอำนาจวีโต้ ซึ่งถ้าหากชาติถาวร 1 ใน 5 ใช้ “สิทธิ์วีโต้” มติจะตกไปทันที แม้ประเทศอื่นจะเห็นด้วยหมดก็ตาม