สัญญาณ 'เลือดข้นหนืด' ที่คนนอนน้อยต้องระวัง สุขภาพแย่ จิตใจพัง
หากมี ‘อาการปวดศีรษะ มึนงง เวียนหัวบ่อยๆ คลื่นไส้ อาเจียน มือเท้าชา ปลายมือปลายเท้าเย็น ตาพร่า ใจสั่น’ อย่าปล่อยไว้ เพราะนั่นอาจเสี่ยง ‘ภาวะเลือดข้น เลือดหนืด’ ที่มีสาเหตุมาจากการใช้ชีวิต และพฤติกรรมทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ หรือน้ำหนักตัวเกิน
ภาวะเลือดหนืด ( Polycythemia ) โดยทั่วไปภาวะเลือดหนืดในระยะแรกมักไม่มีอาการ ตรวจพบได้จากการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด หรือการตรวจซีบีซี CBC จากการตรวจสุขภาพทั่วไป แต่เมื่อเป็นมากขึ้น คือ ปริมาณเม็ดเลือดแดงสูงขึ้นมาก จะมีอาการมีเม็ดเลือดแดงที่สูงขึ้น ส่งผลให้เลือดข้นหรือเลือดหนืดขึ้น เลือดจึงไหลเวียนได้ช้าลง ทำให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดได้ง่าย ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดช้าลงหรือเลือดติดขัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ขี้เกียจ ง่วง หงุดหงิด ทำ ‘ฮอร์โมนรวน หมวกไตทำงานผิดปกติ'ได้อย่างไร?
มือชาบอกโรค 'วัยทำงาน'ควรรู้ '4 ตำแหน่ง' มีโรคอะไรซ่อนอยู่
อาการที่เรียกว่า ‘ภาวะเลือดข้นหนืด’
โดยทั่วไปอาการที่นำมานั้น มีได้ตั้งแต่
- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อ่อนเพลีย อ่อนแรง
- การมองเห็นผิดปกติ
- หน้าแดงผิดปกติ
- เหนื่อยง่าย เจ็บแน่นหน้าอก
- จุดแดง ๆ เป็นจ้ำ ๆ ทั่วตัว หน้าแดง
- ตาแดงที่ไม่ได้เกิดจากลูกตาติดเชื้อ
- ปวดเมื่อย บวม
แต่ก็มีบางกลุ่มที่ไม่ได้มีอาการนำใดๆ มาก่อนเลย แต่ตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจเลือด CBC (Com plete Blood Count)
'ภาวะเลือดข้น เลือดหนืด' เกิดจากอะไร ?
ภาวะเลือดข้นมีหลายประเภท แต่ละประเภทจะแบ่งตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น น้ำหนักตัวเกิน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ปัญหาจากการผลิตเซลล์เม็ดเลือด การใช้ยาขับปัสสาวะ หรือเป็นผลมาจากภาวะขาดน้ำในร่างกาย หรือเป็นผลมาจากโรคต่างๆ
ภาวะเลือดข้นที่มีสาเหตุจากไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงออกมาในปริมาณที่มากเกินไป (Absolute Polycythemia) แบ่งได้ 2 ประเภท ดังต่อไปนี้
- ไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ (Primary Polycythemia หรือ Polycythemia Vera) ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสารพันธุกรรมเจเอเคทู (JAK2) ทำให้ไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงในปริมาณที่มากผิดปกติ และผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดในปริมาณที่มากผิดปกติด้วยเช่นกัน มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ
- การผลิตฮอร์โมนอีริโทโพอิติน (Erythropoietin) ในปริมาณที่มากเกินไป (Secondary Polycythemia) หรืออาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น ๆ เช่นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnoea) ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ไม่เพียงพอ จึงผลิตฮอร์โมนอีริโทโพอิตินมากขึ้น
ปัญหาที่เกี่ยวกับไต เช่น เนื้องอกในไต หรือการตีบของหลอดเลือดแดงในไต เป็นต้น
เลือดข้น ตรวจเจอได้ ด้วยวิธีไหนบ้าง ?
การตรวจภาวะเลือดข้นทำได้ 5 วิธี แต่มีวิธีที่นิยมทำด้วยกันหลักๆ 3 วิธี คือ การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การตรวจสเมียร์เลือด หรือการตรวจอีริโทโพอิติน โดยมีรายละเอียดดังนี้
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC)
เป็นการวัดจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ระดับความเข้มข้นของฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดง รวมถึงปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดแดง
- การตรวจสเมียร์เลือด (Blood Smear)
จะแสดงลักษณะของเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้สามารถตรวจพบเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติ ที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับโรคนี้ได้
- การตรวจอีริโทโพอิติน (Erythropoietin Test)
ในผู้ที่มีภาวะเลือดข้นอาจมีจำนวนของฮอร์โมนอีริโทโพอิตินในเลือดผิดปกติได้
- การตรวจไขกระดูก
วิธีนี้จะทำโดยการดูดและเจาะเนื้อเยื่อไขกระดูก (Bone Marrow Aspiration and Biopsy) แล้วนำไปวิเคราะห์ผลโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยในผู้ที่มีภาวะเลือดข้นมักจะพบจำนวนเซลล์เม็ดเลือดที่มากกว่าปกติ
- การตรวจหาสารพันธุกรรมเจเอเคทู (JAK2)
ประมาณร้อยละ 95 ของผู้ที่มีภาวะเลือดข้นจากการทำงานผิดปกติของไขกระดูก จะมีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสารพันธุกรรมเจเอเคทู (Polycythemia Vera) ซึ่งตรวจพบได้จากการตรวจเลือดและการดูดและเจาะเนื้อเยื่อไขกระดูก
ภาวะเลือดข้น เลือดหนืด รักษาอย่างไร ?
สำหรับการรักษานั้นมีหลายวิธีการขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ตั้งแต่การถ่ายเลือด (Blood letting) จนถึงการให้ยาเพื่อลดการสร้างเม็ดเลือด เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและลดความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในอนาคต
- การลดปริมาณเม็ดเลือดแดง ที่ได้ผลรวดเร็ว ลดอาการต่าง ๆ ได้รวดเร็ว
คือ การเจาะเลือดออกทิ้ง ที่เรียกว่า Phlebotomy ซึ่งการเจาะเอาเลือดออกจะทำเป็นระยะ ๆ ถี่หรือห่างขึ้นกับจำนวนเม็ดเลือดแดงในเลือดสูงมากหรือสูงน้อย อาการ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย นอกจากนั้น คือ การให้ยาชนิดต่าง ๆ เพื่อลดการทำงานของไขกระดูก เช่น ยาเคมีบำบัด ยากระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ยาน้ำแร่รังสี ซึ่งการจะเลือกยาตัวใดขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ โดยดูจากความรุนแรงของอาการ ปริมาณเม็ดเลือดแดง และการตอบสนองหรือการดื้อต่อยา ผลการรักษาจากยาชนิดต่าง ๆ
- การรักษาประคับประคองตามอาการ
เช่น การให้ยาลดความดันโลหิตที่สูง การให้ยาลดการแข็งตัวของเลือดหรือลดการเกิดลิ่มเลือด เช่น ยาแอสไพริน เป็นต้น
ผลข้างเคียงจากภาวะเลือดหนืด
ภาวะเลือดหนืดอาจเกิดจากการล้มเหลวของการไหลเวียนเลือดจากเลือดที่ข้นขึ้นมากและจากภาวะลิ่มเลือด โดยผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อาการคันผิวหนังโดยเฉพาะ รวมถึงเกิดแผลต่าง ๆ ได้ง่ายที่บริเวณผิวหนังและที่เยื่อเมือกบุอวัยวะภายในต่าง ๆ เช่น หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร
นอกจากนั้น ยังมีโอกาสที่โรคนี้จะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ประมาณ 15% โดยมักเกิดหลังการวินิจฉัยโรคเลือดหนืดได้ประมาณ 10 ปีขึ้นไปแล้ว
ดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเลือดหนืด
- กินยาที่แพทย์แนะนำให้ถูกต้อง ครบถ้วน
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน
- ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่
- รักษาความสะอาดผิวหนังเสมอ
- รักษาร่างกายให้อบอุ่น ไม่ร้อนจัดหรือหนาวจัด
- เมื่อเป็นแผลตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และแผลไม่ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์ ควรพบแพทย์
วิธีป้องกันเลือดหนืด
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันเลือดหนืด แต่การตรวจสุขภาพประจำปี โดยการตรวจเลือดซีบีซี จะช่วยให้พบโรคนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การรักษาควบคุมโรคได้ผลดีมากกว่าเมื่อมีอาการมากแล้วจึงไปพบแพทย์
อ้างอิง: โรงพยาบาลพญาไท , เมดิคอลไทม์