นศ.สาววัย 20 เส้นเลือดในสมองแตก! "เพิกเฉย" สัญญาณผิดปกติขณะเล่นมือถือ
อายุเพียง 20 นศ.สาวก็เส้นเลือดในสมองแตก! ร่างกายส่งสัญญาณเตือนขณะเล่นมือถือ แต่กลับถูกมองข้าม
ละเลยสัญญาณผิดปกติขณะเล่นมือถือ นักศึกษาสาววัย 20 ปีในฮานอยต้องเผชิญผลร้ายจากโรคหลอดเลือดสมอง
โรงพยาบาลแถ่งเญิญ ประเทศเวียดนาม เคยรับรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองรายหนึ่ง ซึ่งเป็นนักศึกษาหญิงอายุเพียง 20 ปี กำลังศึกษาอยู่ในฮานอย
นพ.เหงียน ดิ อันห์ หัวหน้าหน่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลแถ่งเญิญ ระบุว่า ผู้ป่วยรายนี้ทำให้ทีมแพทย์จดจำได้ดีเพราะอายุน้อยมาก ขณะนำส่งถึงโรงพยาบาล ผู้ป่วยไม่สามารถเขียนหนังสือได้ เดินเซและเสียการทรงตัว
เธอมีประวัติเป็นโรคอ้วน และกินยาคุมกำเนิดต่อเนื่องนานถึง 1 ปี ก่อนหน้านั้น มือข้างหนึ่งเริ่มมีอาการผิดปกติ ไม่สามารถกดเบอร์โทรศัพท์ได้ แต่เจ้าตัวกลับไม่สนใจ ไม่ไปพบแพทย์ จนกระทั่ง 1-2 วันถัดมา อาการหนักขึ้นจึงมารักษา และพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
หลังเข้ารับการรักษาและทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยเริ่มกลับมาเดินและเขียนหนังสือได้ น้ำหนักลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่เธอยังจำเป็นต้องทำกายภาพบำบัดสม่ำเสมอ และพบแพทย์ตามนัด เพื่อติดตามความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้โรคกลับมาอีก
โรคหลอดเลือดสมอง ไม่ใช่โรคของผู้สูงวัยอีกต่อไป
นพ.เหงียน ดิ อันห์ อธิบายว่า ปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในผู้สูงอายุอีกแล้ว ในปี 2022 ทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคนี้ราว 12 ล้านราย โดย 16% อยู่ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 45 ปี สำหรับเวียดนาม กระทรวงสาธารณสุขประเมินว่าคนวัยกลางคนและวัยหนุ่มสาวคิดเป็นถึง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน
ที่โรงพยาบาลแถ่งเญิญ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สัดส่วนผู้ป่วยโรคนี้ในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คิดเป็นประมาณ 10% ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยบางรายมีอายุเพียง 19-20 ปีเท่านั้น
นพ.เหงียน ดิ อันห์ ชี้ว่า สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เช่น
- กินอาหารมัน ของแปรรูปมากเกินไป: อาหารเหล่านี้ทำให้ระบบเผาผลาญไขมันผิดปกติ ไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้น ๆ ของโรคหลอดเลือดสมอง
- โรคอ้วน ขาดการออกกำลังกาย: พบได้บ่อยในหมู่นักศึกษาและพนักงานออฟฟิศ ความอ้วนทำให้เสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ซึ่งเพิ่มโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- กินเค็มจัด: การบริโภคเกลือมากเกินไปทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หากไม่ตรวจพบและควบคุม อาจนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด
- ใช้ยาคุมกำเนิดต่อเนื่องนาน: โดยเฉพาะยาคุมที่มีฮอร์โมนสูง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด
- ดื่มแอลกอฮอล์-ใช้สารเสพติด: การดื่มเหล้าบ่อยทำให้เสี่ยงความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
- สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า: สารในบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าทำลายหลอดเลือด เพิ่มโอกาสเกิดลิ่มเลือด
- กรรมพันธุ์: ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดสมองผิดปกติหรือโป่งพองตั้งแต่กำเนิด มีความเสี่ยงสูง แต่ส่วนใหญ่จะถูกตรวจพบช้า
หมอเตือนว่า แม้อายุยังน้อย แต่หากละเลยสุขภาพ โรคหลอดเลือดสมองก็อาจมาเยือนได้ทุกเมื่อ
- แขนขาอ่อนแรง: ยกแขนไม่ขึ้น หรือเหยียดแขนตรงไม่ได้ ขาไม่มีแรง เดินเซ เสียการทรงตัว
- พูดลำบาก: พูดไม่ชัด พูดติดอ่าง สื่อสารไม่รู้เรื่อง หรือฟังคนอื่นไม่เข้าใจ
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า หากร่างกายมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที อย่ารอจนโรคหนักขึ้น
นพ.เหงียน ดิ อันห์ แนะนำวิธีลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองด้วยการปรับพฤติกรรม เช่น
- รับประทานอาหารให้สมดุล
- ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที
- เลิกสูบบุหรี่
- จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำตอนดึก
นอกจากนี้ ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เพื่อควบคุมโรคและป้องกันความเสี่ยง
กรณีของนักศึกษาหญิงวัย 20 ปี คือบทเรียนสำคัญที่เตือนว่าโรคหลอดเลือดสมองไม่เลือกอายุ ทุกคนมีโอกาสเป็นได้ ดังนั้นการป้องกันไว้ก่อน คือกุญแจสำคัญในการรักษาสุขภาพและชีวิต