Polycystic Ovarian Syndrome : PCOS ภัยเงียบของผู้หญิง ที่ไม่ควรมองข้าม
หนึ่งในภาวะสุขภาพที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้น “Polycystic Ovarian Syndrome : PCOS” หรือภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า จริงๆ แล้วโรคนี้ไม่ได้มีแค่ผลต่อรอบเดือนหรือสิวฮอร์โมนเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปสู่ ภาวะมีบุตรยาก และเพิ่มความเสี่ยงของ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ได้ในอนาคตด้วย
ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะช่วงอายุระหว่าง 20–30 ปี ควรใส่ใจสุขภาพตัวเองให้มากขึ้น เพราะโรคนี้มักไม่แสดงอาการชัดในช่วงแรก แต่แฝงมากับสัญญาณที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน
PCOS คืออะไร?
PCOS หรือ Polycystic Ovarian Syndrome คือ ภาวะที่รังไข่มีถุงน้ำขนาดเล็กหลายใบ เกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย ส่งผลให้ระบบตกไข่ทำงานผิดปกติ บางคนอาจไม่มีประจำเดือนนานหลายเดือน หรือมีปัญหาสิวเรื้อรัง ขนดก ผิวมัน ผมบาง ซึ่งบ่อยครั้งผู้หญิงหลายคนไม่รู้ตัว จนกระทั่งมีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์
อีกทั้งภาวะนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้อีกด้วย โดยสาเหตุของโรคนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนแต่ส่วนใหญ่จะเกิดกับสาวๆ ในช่วงวัยเจริญพันธุ์หรืออายุตั้งแต่ 15 - 30 ปี
แล้วสาเหตุของภาวะ PCOS เกิดจากอะไร?
แม้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่แพทย์เชื่อว่าโรคนี้เกี่ยวข้องกับปัจจัยสำคัญ 3 อย่าง ได้แก่
- พันธุกรรม
- ภาวะดื้ออินซูลิน
- การอักเสบระดับต่ำในร่างกาย
ผู้หญิงที่มีภาวะดื้ออินซูลิน มักมีน้ำหนักตัวเพิ่มง่าย และมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งยิ่งไปซ้ำเติมให้ฮอร์โมนผิดปกติยิ่งขึ้น
สัญญาณเตือนจากร่างกาย
ลองสำรวจตัวเองดูว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่?
- ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มาช้าหรือขาดหายไปหลายเดือน
- มีขนดกผิดปกติ โดยเฉพาะที่คาง หน้าท้อง หรือต้นขา
- มีสิวขึ้นเยอะ ผิวมันมากกว่าปกติ
- น้ำหนักขึ้นง่าย ควบคุมน้ำหนักยาก
- ผมร่วงหรือศีรษะล้านในลักษณะที่คล้ายผู้ชาย
หากมีอาการเหล่านี้ร่วมกัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
ความเสี่ยงจาก PCOS
PCOS ไม่เพียงแค่ทำให้ตั้งครรภ์ยาก แต่ยังนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้ เช่น
- มีโอกาสแท้งบุตรในไตรมาสแรก
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ / ครรภ์เป็นพิษ
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
วิธีการรักษา PCOS
แม้ว่า PCOS จะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เราสามารถควบคุมอาการและลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้ หากดูแลร่างกายอย่างถูกวิธี โดยแนวทางหลักในการรักษามีดังนี้
- ควบคุมน้ำหนักและอาหาร
การลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ มีผลโดยตรงต่อการปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย เมื่อฮอร์โมนเริ่มทำงานเป็นปกติ รอบเดือนก็จะกลับมาสม่ำเสมอมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดภาวะดื้ออินซูลินและลดความเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 2 อีกด้วย
- รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ
ควรทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ในผู้ที่ ไม่ต้องการมีบุตร แพทย์มักสั่งยาคุมกำเนิดเพื่อควบคุมรอบเดือนและปรับระดับฮอร์โมน
ในผู้ที่ ต้องการมีบุตร อาจได้รับยากระตุ้นการตกไข่ เช่น Clomiphene หรือ Letrozole และหากไม่สำเร็จ อาจต้องพิจารณาการรักษาขั้นสูง เช่น การผ่าตัดเจาะรังไข่ (Ovarian drilling) หรือเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (IVF)
ป้องกันภาวะแทรกซ้อนระยะยาว
การรักษา PCOS ไม่ได้จบแค่เรื่องประจำเดือนหรือการตั้งครรภ์ แต่ยังรวมถึงการดูแลเพื่อลดความเสี่ยงของโรคร้ายแรงที่อาจตามมา เช่น
เบาหวานและโรคหัวใจจากภาวะดื้ออินซูลิน
เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวหรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
โรคไขมันในเลือดสูง
แนวทางการป้องกัน PCOS
แม้ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) จะไม่สามารถป้องกันได้ 100% เพราะมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น พันธุกรรมและฮอร์โมน แต่เราสามารถลดความเสี่ยงและควบคุมอาการได้ด้วยการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม ดังนี้
ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว โยคะ หรือว่ายน้ำ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และลดความเครียด เพราะความเครียดอาจกระทบสมดุลฮอร์โมนได้
เลือกกินอย่างชาญฉลาด
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง แป้งขัดสี น้ำตาล และอาหารแปรรูป
- เน้นอาหารที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาล เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผักใบเขียว และผลไม้ไม่หวานจัด
ใช้ยาอย่างเหมาะสมภายใต้คำแนะนำของแพทย์
- ยาคุมกำเนิด เพื่อควบคุมรอบเดือนและระดับฮอร์โมน
- ยารักษาสิวหรืออาการขนดก จากภาวะฮอร์โมนเพศชายสูง
- ยาเมตฟอร์มิน สำหรับผู้ที่มีภาวะดื้ออินซูลิน หรือมีน้ำหนักเกิน
- ยาฮอร์โมน ในกรณีที่ต้องการปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย
การรักษาขั้นสูงในกรณีรุนแรง หากการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาให้ผ่าตัดเอาถุงน้ำในรังไข่ออก หรือใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ในกรณีที่มีบุตรยาก
เนื่องจากภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งเรื่องฮอร์โมน พันธุกรรม และสภาพร่างกาย การป้องกันที่ชัดเจนจึงอาจทำได้ยาก แต่สิ่งที่เราทำได้คือการดูแลสุขภาพให้ดีที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานอาหารที่สมดุล ออกกำลังกายเป็นประจำ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ล้วนเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงของ PCOS ได้
หากคุณชื่นชอบคอนเทนต์ที่ให้ทั้งสาระและความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพผู้หญิงแบบนี้ อย่าลืมกดติดตาม iNN Lifestyle
ขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
โรงพยาบาลวิมุต
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews