PTTGC เดินหน้า Biorefinery ลุยขยายเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน ตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิตเป็น 24 ล้านลิตร/ปี พร้อมต่อยอดสู่ Bio-Polymers–Chemicals มูลค่าสูง
PTTGC เร่งขยายศักยภาพโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefinery) เดินหน้าเพิ่มกำลังผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนเป็น 24 ล้านลิตรต่อปี พร้อมต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพและพลาสติกชีวภาพมูลค่าสูง
นายทศพร บุณยพิพัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้าขยายศักยภาพโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefinery) ต่อยอดจากความสำเร็จในการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) เป็นรายแรกของประเทศ สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Bio-Chemicals) และพลาสติกชีวภาพ (Bio-Polymers) มูลค่าสูงที่ตอบโจทย์การใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม
โดยโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefinery) เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนม.ค. 68 ที่ผ่านมา ในระยะแรกมีกำลังการผลิต SAFประมาณ 6 ล้านลิตรต่อปี หรือ Bio-polymers/chemicals จำนวน 20,000 ตันต่อปี และตั้งเป้าหมายจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 24 ล้านลิตรต่อปี หรือ Bio-polymers/chemicals จำนวน 80,000 ตันต่อปี ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 15,000 ตันต่อปีในระยะแรก และ 60,000 ตันต่อปีในระยะที่สอง หรือสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การขยายกำลังการผลิตดังกล่าวข้างต้น บริษัทยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการได้ เนื่องจากต้องรอประเมินสถานการณ์ตลาดและนโยบายของหน่วยงานต่างๆ ก่อน
สำหรับโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefinery)มีจุดเด่นที่สำคัญ คือ 1. นวัตกรรมการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ผสานจุดแข็งทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีของโรงกลั่นชีวภาพโดยใช้การแปรรูปน้ำมันพืชใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) ร่วมกับน้ำมันดิบสู่การผลิต SAF เชิงพาณิชย์ได้โดยไม่ต้องสร้างโรงงานขึ้นมาใหม่ ทำให้สามารถประหยัดการลงทุนเมื่อเทียบกับการสร้างโรงงานใหม่ ซึ่งกระบวนการนี้ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการแปรรูปวัสดุชีวภาพ แต่ยังสร้างความมั่นใจว่าอุตสาหกรรมการบินไทยจะสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก และมีส่วนร่วมสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
2.พันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ความร่วมมือระหว่างบริษัทกับพันธมิตรสำคัญอย่างบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR การบินไทยหรือ TGและสายการบินบางกอก แอร์เวย์ ในการนำ SAF ไปใช้ นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมทั่วภูมิภาค พร้อมสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยมีแผนการขยายการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและขยายฐานการตลาด รวมถึงการทำงานร่วมกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพและพลังงานทดแทน เพื่อผลักดันการพัฒนาและขยายตลาดผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน
3.ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง โดยบริษัทต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านการกลั่นและเคมีภัณฑ์ขั้นสูง ด้วยการพัฒนากระบวนการ Co-processing ที่สามารถใช้งานร่วมกับหน่วยกลั่นเดิมได้ นำน้ำมันพืชใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Bio-Chemicals) และพลาสติกชีวภาพ (Bio-Polymers) มูลค่าสูง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการใช้วัสดุทางเลือกที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยบริษัทได้เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Bio-Propylene สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ พลาสติกแข็ง ของเล่นเด็ก และชิ้นส่วนยานยนต์ Bio-BD (Bio-Butadiene) ใช้ในยางรถยนต์และรองเท้ากีฬา และ Bio-PTA (Bio-Purified Terephthalic Acid) สำหรับผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์และขวดพลาสติก PET โดยขณะนี้มีตลาดปลายทางในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมยาง และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ตามลำดับ
ขณะเดียวกันบริษัทยังได้ต่อยอด Bio-Naphtha ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตเคมีภัณฑ์และพลาสติก Bio-PE (Bio-Polyethylene) สำหรับผลิตถุงพลาสติก ฟิล์ม และบรรจุภัณฑ์อาหาร และ Bio-MEG (Bio-Monoethylene Glycol) สำหรับผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์และขวดพลาสติก PET อีกด้วย
อีกทั้งโรงกลั่นชีวภาพของบริษัทมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรและของเสียในประเทศ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณสมบัติเทียบเท่าวัสดุจากฟอสซิล แต่ปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญช่วยลดปัญหาของเสีย เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทในการเป็นผู้นำธุรกิจคาร์บอนต่ำที่เติบโตอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพของบริษัทได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากลด้านความยั่งยืนอย่าง ISCC PLUS (International Sustainability and Carbon Certification Plus) ซึ่งมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบชีวภาพและวัสดุหมุนเวียนในกระบวนการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ ช่วยให้แบรนด์ผู้ผลิตสินค้าปลายทางสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมั่นใจ
4.ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม การลงทุนในโครงการนี้ไม่เพียงช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการบิน แต่ยังพัฒนาและส่งเสริมความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การคัดเลือกแหล่งวัตถุดิบทางชีวภาพที่ยั่งยืนไปจนถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ พร้อมเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ในอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ สนับสนุนเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร
อย่างไรก็ตาม โครงการ SAF ของบริษัทไม่เพียงเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย แต่ยังช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินให้เข้าสู่เศรษฐกิจพลังงานสะอาด พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงระดับโลกในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน