“พระสังฆราชลาว” องค์สุดท้ายแห่งยุคราชอาณาจักร กับบั้นปลายพระชนม์ชีพในกรุงเทพฯ
เรื่องราวของ “สมเด็จพระยอดแก้วพุทธชิโนรส สกลมหาสังฆปาโมกข์ ธัมมญาณะมหาเถระ” สมเด็จพระสังฆราชแห่งพระราชอาณาจักรลาว ผู้เสด็จลี้ภัยคอมมิวนิสต์มาสู่ประเทศไทย ก่อนจะสิ้นพระชนม์ที่โรงพยาบาลสงฆ์ กรุงเทพมหานคร
สมเด็จพระยอดแก้วพุทธชิโนรสฯ ทรงมีพระนามเดิมว่า บุญทัน บุปผรัตน์ ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2434 ที่บ้านป่าข้าม ตาแสงป่าขาม กำแพงเมืองหลวงพระบาง
พระองค์ออกบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดล้องคูณ ตาแสงเซียงเมน เมืองหลวงพระบาง เมื่อ พ.ศ. 2447 และอุปสมบท ณ อุโบสถวัดป่าไผ่ แขวงหลวงพระบาง พ.ศ. 2455 ทรงพระนามฉายาว่า “ธมฺมญาโณ”
ใน พ.ศ. 2479 พระองค์ได้ทรงสมณศักดิ์เป็น “พระยอดแก้วพุทธชิโนรส สกลมหาสังฆปาโมกข์ ธรรมญาณมหาเถระ”และในปีเดียวกันนั้นเอง ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช บริหารคณะสงฆ์เฉพาะเขตนครหลวงพระบาง
กระทั่งประเทศลาวได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสอย่างสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 2496 ดินแดนลาว 3 ภาค ได้แก่ นครหลวงพระบาง (ลาวเหนือ) นครเวียงจันทน์ (ลาวกลาง) และนครจำปาศักดิ์ (ลาวใต้) รวมกันเป็นราชอาณาจักรเดียว พระองค์จึงได้รับสถาปนาเป็น “สมเด็จพระสังฆราชแห่งพระราชอาณาจักรลาว” ทรงบริหารการคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร
อย่างไรก็ตาม หลังจากลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พระองค์ต้องเสด็จออกจากประเทศลาวเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2522 พร้อมพระ 1 รูป คฤหัสถ์ชาย 2 คน หญิง 1 คน ข้ามแม่น้ำโขงด้วยแพยางในรถยนต์สามเส้น มาขึ้นฝั่งไทยบริเวณท่า นปข. อ. ศรีเชียงใหม่ จ. หนองคาย
พระองค์เสด็จไปพำนักอยู่วัดมัชฌิมาวาส จ. อุดรธานี เป็นเวลา 3 เดือน แล้วทรงอาพาธด้วยมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ปวดท้อง ร้อนตามท้องและหลัง และมีอาการของทางเดินปัสสาวะร่วมด้วย
นายมงคล ศรีไพรวรรณอธิบดีกรมการศาสนาในขณะนั้นทราบข่าว จึงนิมนต์ให้เสด็จเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ในกรุงเทพฯ ภายใต้การอุปถัมภ์ของมหาเถรสมาคม รัฐบาลไทย สภากาชาดไทย ร่วมกับพุทธศาสนิกชนอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2527
ระหว่างเข้ารับการรักษา บันทึกของคณะแพทย์ประจำโรงพยาบาลสงฆ์ที่เฝ้าถวายการรักษาระบุว่า “แม้อาการอาพาธจะยังไม่ทุเลา พระองค์ก็ยังคงปฏิบัติศาสนกิจอยู่เป็นประจำตลอดมาด้วยความสำรวมอย่างยิ่ง พระองค์ไม่เคยมีความต้องการอะไรนอกเหนือไปจากที่คณะแพทย์และโรงพยาบาลสงฆ์ถวายให้”
เวลา 19.30 น. วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2527 พระองค์ก็สิ้นพระชนม์อย่างสงบ ณ โรงพยาบาลสงฆ์ กรุงเทพฯ สิริรวมพระชนมายุได้ 92 พรรษา 4 เดือน 26 วัน
คณะศิษย์ที่เฝ้าปรนนิบัติอย่างใกล้ชิดเผยว่า ก่อนหน้าจะสิ้นพระชนม์ 2-3 วัน พระองค์ยังตรัสถามเป็นเชิงทิ้งท้ายว่าเมื่อไหร่จะได้กลับบ้านเมืองของเรา และตรัสต่อว่าถ้าเราตายจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก จะได้บวชในพระพุทธศาสนา ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา และกรรมฐานให้เคร่งครัดยิ่งกว่าชาตินี้
นอกจากนี้ ระหว่างทรงรักษาอาการพระอาพาธ พระองค์ยังทรงนิพนธ์“สัมโมทนียกถา” ฉบับสุดท้าย เรียกว่าเป็นจดหมายเปิดผนึกให้ลูกศิษย์นำไปจัดพิมพ์ถวายในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 93 พรรษา ทว่ายังไม่ทันจะได้จัดพิมพ์ก็สิ้นพระชนม์ก่อน
สัมโมทนียกถาฉบับดังกล่าว คณะลูกศิษย์นำมาจัดพิมพ์ร่วมกับหนังสือ มูลมรดกชนชาติอ้ายลาว เผยแพร่เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของพระองค์ มีเนื้อหาสะท้อนถึงความสะเทือนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศลาวในขณะนั้น ความสัมพันธ์กับพระพิมลธรรม เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ความว่า
“เถิงแมนว่าอายุสังขารของข้าพเจ้าจำเฒ่าแก่ เป็นไม้ใกล้ฝั่ง และก็เว้าได้ว่า อยู่ในภาวะปงอายุสังขารแล้วก็ตาม แต่ย้อนว่าลูกหลานบ้านเมืองของข้าพเจ้า ยังอยู่ในความยากลำบาก อยู่ในระยะก่อฮ่างสร้างตัวเพื่อเอาชนะความยากลำบาก เอาชนะความแบ่งแยกแตกสามัคคี บ้านแตกเมืองเภท์ให้เป็นเอกราช เต้าโฮมกันสร้างบ้านเมือง ให้ก้านกุ่งฮุ่งเฮือง หมั้นอยู่ในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดไป
ข้าพเจ้าขอแสดงความเห็นอกเห็นใจ ต่อบรรดาท่านลูกหลานพี่น้องที่จำต้องตกอยู่ในความยากลำบากและขอแสดงความชื่นชมยินดีนำลูกนำหลานที่ได้ตั้งใจดีต่อบ้านเมือง สร้างบ้านแปงเมือง คุมบ้านคองเมืองให้เป็นมรดกของลูกหลาน ได้อาศัยอยู่อย่างสุขสบายต่อไปชั่วกาละนาน
ในโอกาสที่ข้าพเจ้าได้มาเพิ่งบุญบารมี ฮักษาตัวนำพี่น้องไทยสยาม ซึ่งก็คือเป็นพี่น้องสายเลือดเดียวกันนี้ เถิ่งแม่นลางเทื่อบางแนว จะมีผิดพลาดล่วงเกิน บ่อได้ดั่งใจ แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมีได้ เป็นธรรมดาของโลก จึงขอขอบบุญคุณอย่างล้นเหลือต่อองค์พระบรมโพธิสมภารเจ้า รัฐบาลและพี่น้องประชาชนชาวไทยสยามทุกถ้วนหน้า แทนพี่น้องลูกหลานของข้าพเจ้านำด้วย
ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีขอบบุญขอบคุณพิเศษต่อท่านเจ้าคุณพิมลธรรม ผู้เพิ่นได้เอาใจใส่เบิ่งแยง แก่ข้าพเจ้าเป็นส่วนตัว เป็นการพิเศษ ทุกอย่างทุกแนว ทุกปี เพิ่นก็ได้จัดงานเฮ็ดบุญวัดเกิดให้ เฮ็ดให้ข้าพเจ้ามีสุขภาพแข็งแรงดีหลาย แม่นเฒ่าแล้ว แต่ก็จิตใจแจ่มใสในธรรมดี บ่อได้เสียหายประการใด และก็เชื่อว่าจะหมั้นยืนอยู่นำเพิ่นไปอีกหลายปี
ในทำนองเดียวกัน ข้าพเจ้าก็ขออ้างอิงเอาคุณพระศรีรัตนะไตรอวยพรไชยให้เพิ่นจงสุขภาพดีดำรงอยู่เข้มแข็งทั้งฮ่างกายและจิตใจ ทำประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกไปดน ๆ นาน ๆ ให้ไทลาวไทสยาม ตลอดไทพี่น้องอื่น ๆ ได้ฮ่วมสามัคคีกันเป็นประโชน์แก่สันติสุขของโลกตลอดไป”
สมเด็จพระยอดแก้วพุทธชิโนรสฯ จึงถือเป็นสมเด็จพระสังฆราชลาวในยุคราชอาณาจักร “พระองค์สุดท้าย” เพราะแม้ลาวจะยังมีพระสังฆราชอยู่ แต่สถาบันสงฆ์ลาวอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม
อ่านเพิ่มเติม :
- ตำนาน “สมเด็จพระสังฆราช สา” ลาสิกขา แต่ร.4 ทรงตามมาบวชใหม่ แล้วได้เป็นสังฆราช
- สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) “พระสังฆราชคู่พระทัยในรัชกาลที่ 5”
- พระสังฆราช สา ปุสฺสเทโว “สังฆราช 18 ประโยค” สามเณรเปรียญ 9 ประโยครูปแรกในรัตนโกสินทร์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สาระสันต์ แสงศรี. สัมโมทนียกถา และ “นิมิตลับสุดยอด” แห่งพระสังฆราชลาว (องค์สุดท้าย). ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2535.
มูลมรดกชนชาติอ้ายลาว. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระยอดแก้ว พุทธชิโนรสสกลมหาสังฆปาโมกข์ สมเด็จพระสังฆราชแห่งราชอาณาจักรลาว ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร, 12 มีนาคม 2528.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “พระสังฆราชลาว” องค์สุดท้ายแห่งยุคราชอาณาจักร กับบั้นปลายพระชนม์ชีพในกรุงเทพฯ
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com