การตรวจสอบและการให้ความเชื่อมั่นในรายงานความยั่งยืนคืออะไร
ขึ้น “การเปิดเผยข้อมูลและการจัดทำรายงานความยั่งยืน” ได้กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญขององค์กร แต่ปัจจุบันหลายบริษัทกลับได้รับคำถามถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลในรายงานเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้ กระบวนการ "การตรวจสอบและการให้ความเชื่อมั่นรายงานความยั่งยืน (Sustainability Assurance)” จึงทวีความสำคัญและกลายเป็นแนวโน้มสากลที่ธุรกิจทั่วโลกต้องมุ่งไป
แนวโน้มสากลและความสำคัญต่อธุรกิจไทย
ข้อมูลล่าสุดปี 2023 จาก IFAC AICPA และ CIMA ชี้ว่า 73% ของบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่ม G20 มีการขอรับรองบางส่วนต่อข้อมูลด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Emissions) แม้ในไทยจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้นและเป็นเรื่องสมัครใจ แต่องค์กรชั้นนำหลายแห่งได้เริ่มปรับตัวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ลงทุนและเตรียมพร้อมสำหรับกฎเกณฑ์ในอนาคตแล้ว
เข้าใจศัพท์พื้นฐาน: Assurance ไม่ใช่แค่ Audit
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น สิ่งสำคัญคือการแยกแยะความแตกต่างของคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง:
- การทวนสอบ (Verification): มักใช้กับข้อมูลเชิงปริมาณที่เฉพาะเจาะจงโดยเป็นการยืนยันความถูกต้องของข้อมูล เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐาน ISO 14064-3 เป็นต้น
- การสอบทาน (Review): เป็นกระบวนการที่ให้ความเชื่อมั่นในระดับจำกัด (Limited Assurance) โดยต่ำกว่า Audit ใช้วิธีสอบถาม (Inquiries) และวิเคราะห์เปรียบเทียบ (Analytical Procedures) เป็นหลัก
- การตรวจสอบ (Audit): เป็นกระบวนการที่ตรวจสอบข้อมูลหรือระบบขององค์กรเพื่อให้ความเห็นว่าข้อมูลนั้น “ถูกต้องตามเกณฑ์ที่ตกลงกัน” หรือไม่ ซึ่งให้ความเชื่อมั่นในระดับสูง (Reasonable Assurance)
- การให้ความเชื่อมั่น (Assurance): เป็นคำที่กว้างที่สุดและครอบคลุมทุกกระบวนการข้างต้น
มาตรฐานสากลของการตรวจสอบและการให้ความเชื่อมั่นที่ควรรู้จัก
การตรวจสอบและการให้ความเชื่อมั่นมีในรายงานความยั่งยืนอ้างอิงมาตรฐานสากลหลายฉบับ โดยมีมาตรฐานหลักที่นิยมใช้ เช่น:
AA1000AS: เน้นการประเมิน “กระบวนการ” จัดทำรายงานว่าสอดคล้องกับหลักการมีส่วนร่วม (Inclusivity) การมีสาระสำคัญ (Materiality) และการตอบสนอง (Responsiveness) หรือไม่
ISAE 3000: เป็นมาตรฐานที่ใช้ให้ความเชื่อมั่นต่อข้อมูลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งครอบคลุมข้อมูล ESG ในรายงานความยั่งยืน
ISAE 3410: เป็นมาตรฐานที่ใช้สำหรับ "การให้ความเชื่อมั่นต่อรายงานก๊าซเรือนกระจก"
ISSA 5000: เป็นมาตรฐานใหม่ด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะ คาดว่าจะเริ่มใช้กับรายงานรอบวันที่ 15 ธันวาคม 2569 เป็นต้นไป
ISO 14064-3: เป็นมาตรฐานสำหรับ "การทวนสอบ (Verification)" รายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะ เพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูลและการคำนวณตามหลักการที่ยอมรับ เช่น GHG Protocol หรือแนวทางของ อบก. เป็นต้น
ผลลัพธ์ที่แตกต่าง: Limited vs. Reasonable Assurance
การให้ความเชื่อมั่นแบ่งเป็น 2 ระดับ ซึ่งสะท้อนความลึกในการตรวจสอบที่แตกต่างกัน:
- Limited Assurance (การให้ความเชื่อมั่นในระดับจำกัด): เป็นการให้ความเชื่อมั่นระดับจำกัด รายงานที่ได้จะระบุว่า “ไม่มีสิ่งใดที่บ่งชี้ว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง”
- Reasonable Assurance (การให้ความเชื่อมั่นในระดับสมเหตุสมผล): เป็นระดับที่สูงกว่าและมีกระบวนการตรวจสอบที่ครอบคลุมมากกว่า โดยในรายงานมักระบุว่า “ข้อมูลดังกล่าวมีความถูกต้องตามเกณฑ์ที่ตกลงกันอย่างมีนัยสำคัญ”
บทสรุป: จากต้นทุนสู่การลงทุนที่สร้างมูลค่า
แม้จะมีต้นทุนสูงขึ้น แต่การลงทุนใน Sustainability Assurance คือการลงทุนที่สร้างมูลค่ากลับคืนแก่องค์กร ทั้งการเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้ลงทุน การลดความเสี่ยงด้านชื่อเสียง (Greenwashing) และการยกระดับกระบวนการทำงานภายใน
ดังนั้นการเตรียมความพร้อมอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน การพัฒนาระบบข้อมูล ไปจนถึงการทำงานร่วมกับผู้ตรวจสอบ สามารถเปลี่ยนกระบวนการให้ความเชื่อมั่นนี้ เป็นเครื่องมือที่สร้างความได้เปรียบและขับเคลื่อนองค์กรสู่การเติบโตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
*บทความนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง SET ESG Experts Pool และ SET ESG Academy ในการนำเสนอประเด็น ESG ที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจและการลงทุนของไทย
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://s.setth.org/dwt