อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาชง 3 แนวทางแก้ไขคดีฮั้ว สว.
23 ก.ค.2568 - นายวัส ติงสมิตร นักวิชาการอิสระ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “ปัญหาของ สว. จากระบบการเลือกกันเองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 และแนวทางแก้ไข” ระบุว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2568 วุฒิสภาได้ประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน และกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 1 คน
ในส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วุฒิสภามีมติ "ไม่เห็นชอบ" ให้ศาสตราจารย์ ร.ต.อ.สุธรรม เชื้อประกอบกิจ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเสียง 118 ต่อ 39 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง "เห็นชอบ" ให้นายสราวุธ ทรงศิวิไล ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเสียง 143 ต่อ 17 เสียง งดออกเสียง 27 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง
ในส่วนของ กกต. วุฒิสภามีมติ "เห็นชอบ" ให้นายณรงค์ กลั่นวารินทร์ ดำรงตำแหน่ง กกต. ด้วยคะแนนเสียง 165 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 20 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
ผู้เขียนมีความเห็นดังต่อไปนี้
1.ผลของการลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามความคาดหมายของผู้คนที่สนใจเรื่องราวของบ้านเมืองอยู่บ้าง ผู้ที่สามารถผ่านความเห็นชอบได้น่าจะมีจุดเกาะเกี่ยวกับดินแดนแห่งขุมพลัง ส่วนผู้ที่ไม่สามารถผ่านความเห็นชอบได้ อาจมาจากอดีตที่เคยเป็นที่ปรึกษาของเสนาบดีฝ่ายตรงข้าม
2.ส่วน กกต. นั้น รัฐธรรมนูญ 2560 แบ่งที่มาออกเป็น 2 ทาง คล้ายแม่น้ำ 2 สาย สายแรก มี 5 คน มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา ส่วนสายหลัง มี 2 คน มาจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
การลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่ง กกต. ผู้เขียนก็ลุ้นอยู่เหมือนกันว่า สว. เสียงข้างมาก จะหักมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่คัดเลือกผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาให้ความเห็นชอบหรือไม่ ผลปรากฏว่าไม่หัก
3.นอกจากหน้าที่หลักในการกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว วุฒิสภายังมีหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 5 องค์กร รวม 33 คน ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลปกครองสูงสุด และอัยการสูงสุด วุฒิสภาจึงเป็นกลไกสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางของประเทศอย่างมีนัยสำคัญที่น้อยคนจะคาดถึง
4.หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการฮั้วกันเลือก สว. อันเป็นการกระทำโดยทุจริต หรือที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตั้งแต่การสมัครรับเลือกเป็น สว. การเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศจริง ไม่เพียงแต่จะเป็นการละเมิดต่อกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. แต่ยังก่อให้เกิดความเสียหายเชิงโครงสร้างต่อประเทศในหลายมิติ เช่น ความเสียหายต่อหลักการประชาธิปไตย ความเสียหายทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ความเสียหายต่อการเมืองระดับชาติ ความเสียหายต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นระหว่างประเทศ และความเสียหายต่อสังคมและความสงบเรียบร้อย
สิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะยุบวุฒิสภาได้ ไม่เหมือนสภาผู้แทนราษฎรที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจในการยุบสภาไว้
5. หนทางในการแก้ไขปัญหานี้มีอยู่ 3 ทาง คือ
(1) หาก กกต. สืบสวนและไต่สวนแล้วเห็นว่า มีการฮั้วกันจริง ขอให้ กกต. รีบยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือสิทธิเลือกตั้งของผู้กระทำความผิด รวมทั้งถอดถอน สว. คนที่กระทำความผิดออกจากตำแหน่ง (กฎหมายเรียกว่า ให้สมาชิกภาพของ สว. ผู้กระทำความผิดสิ้นสุดลง)
(2) ขอให้ กกต. หรือ สส. ไม่น้อยกว่า 10 % ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาฯ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของ สว. ที่กระทำความผิดสิ้นสุดลง เพราะฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมือง
(3) ป.ป.ช. ควรตรวจสอบจริยธรรมของ สว. ที่ถูกกล่าวหาว่า ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่ ยึดมั่นหลักนิติธรรมหรือไม่ หรือกระทำการที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งหรือไม่
หากปรากฏว่า มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวอย่างร้ายแรง ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย
ในกรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า สว. ที่ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา สว. ผู้ต้องคำพิพากษาต้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ สว. ผู้นั้น ส่วนจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้
6.ขอให้องค์กรที่เกี่ยวข้องดำเนินการด้วยวิธีการข้อใดข้อหนึ่งใน 3 ข้อดังกล่าวข้างต้น ปัญหาก็น่าจะคลี่คลายแล้วครับ