โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

บิน กิน เที่ยว ชวาตะวันตก อินโดนีเซีย เส้นทางใหม่ที่สายชิลต้องลอง

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 14 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 7 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ถ้าคุณเป็นสายชิล ชิม ชอป เที่ยว ที่กำลังมองหาจุดหมายใหม่ ๆ บนแผนที่ อินโดนีเซีย ต้องไม่พลาด "เกอร์ตาจาตี" เมืองเล็ก ๆ ใน ชวาตะวันตก ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของธรรมชาติ และวัฒนธรรมท้องถิ่นไม่เหมือนใคร

ล่าสุดสายการบิน Scoot เปิดเส้นทางใหม่ เชื่อมต่อกรุงเทพฯ ผ่านสิงคโปร์ สู่เกอร์ตาจาตี ด้วยเครื่องบินรุ่นใหม่ ประหยัดพลังงาน บริการครอบคลุมถึง 70 จุดหมายใน 15 ประเทศ

โดยเฉพาะเส้นทาง สิงคโปร์ – เกอร์ตาจาตี Scoot ให้บริการ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ทุกวันอังคารและวันเสาร์ เที่ยวนี้ กรุงเทพธุรกิจ จึงขอพาทุกท่านออกเดินทางแบบ 4 วันเต็ม บิน กิน เที่ยว อินโดนีเซียกับ Scoot ไปด้วยกัน

เปิดประตูสู่สากลของชวาตะวันตกที่ สนามบินนานาชาติเกอร์ตาจาตี ชวาตะวันตก (Kertajati West Java International Airport)

สนามบินนี้ ตั้งอยู่ในอำเภอเกอร์ตาจาตี เมืองมาจาเลงกา ชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย ห่างจากเมืองใหญ่อย่างบันดุง ประมาณ 68 กิโลเมตร

เส้นทางเชื่อมต่อจากสนามบินแห่งนี้ ได้รับการสนับสนุนด้วยโครงข่ายทางหลวงที่สะดวกสบาย โดยเฉพาะ ทางด่วนชิซุมดาวู (Cisumdawu Toll Road) ที่ช่วยเชื่อมเกอร์ตาจาตีเข้ากับเมืองหลัก ๆ ในภูมิภาค

ด้วยทำเลที่ตั้งล้อมรอบด้วยพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ สนามบินเกอร์ตาจาตีจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นความภาคภูมิใจของชุมชนท้องถิ่นในชวาตะวันตก พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวและการเดินทางเชื่อมสู่ระดับสากลอย่างเต็มตัว

ปักหมุดจุดหมายแรกที่ พระราชวังกาเซปูฮาน (Keraton Kasepuhan) พระราชวังเก่าแก่ที่สุดแห่งเมืองชีเรอบอน ประเทศอินโดนีเซีย สถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยกลิ่นอายของประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าในอดีตกาล

พระราชวังแห่งนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1529 เพื่อใช้เป็นที่ประทับของสุลต่านชีเรอบอน และ เป็นศูนย์กลางด้านการปกครองและวัฒนธรรมของเมืองมาอย่างยาวนาน

จนถึงทุกวันนี้ พระราชวังกาเซปูฮานยังคงสง่างามในฐานะแหล่งเก็บรักษาโบราณวัตถุทางประวัติศาสตร์และศาสนา เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมของสุลต่าน รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ที่ถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตของราชสำนักในอดีตได้อย่างมีเสน่ห์

สิ่งหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือ ความโดดเด่นของเครื่องกระเบื้องเซรามิกที่ประดับตกแต่งอยู่ทั่วบริเวณพระราชวัง ไม่ว่าจะเป็นตามผนัง หรือ โครงสร้างต่างๆ ซึ่งสะท้อนอิทธิพลของศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบดัตช์ได้อย่างชัดเจน เพราะอินโดนีเซียเคยอยู่ภายใต้การปกครองของ เนเธอร์แลนด์ ยาวนานกว่า 300 ปี วัฒนธรรมทั้งสองจึงถักทอและหลอมรวมกันอย่างกลมกลืน

การได้มาเยือนพระราชวังกาเซปูฮานนั้น ไม่เพียงแค่ได้ชมความงามของสถานที่ แต่ยังเหมือนได้เดินย้อนเวลากลับไปสัมผัสหัวใจของประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของชวาตะวันตกอีกด้วย

เดินชมเพลินๆ จนเริ่มท้องร้อง เลยแวะเติมพลังกันที่ร้าน Nasi Jamblang Ibu Nur ร้านดังประจำเมืองที่บรรยากาศให้ฟีลเหมือนร้านข้าวแกงบ้านเรา แต่มีความเก๋ตรงที่ลูกค้าสามารถเลือกหยิบอาหารเองได้ตามใจ แล้วค่อยไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ทีเดียว

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ข้าวที่นี่เสิร์ฟบน ใบสัก ตามแบบฉบับการกินข้าวของชาววังในสมัยก่อน ต่างจากชาวบ้านทั่วไปที่นิยมใช้ ใบกล้วย

เมนูมีให้เลือกก็หลากหลาย ทั้งเนื้อสัตว์ ผัก และของทอด รสชาติจัดว่าเข้มข้นถึงใจ ราคาเป็นมิตร ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมทุกวันถึงมีคนมาต่อแถวยาวเหยียด บางช่วงแถวยาวออกไปถึงนอกร้านด้วยซ้ำ ด้วยกระแสความนิยมนี้เอง ทำให้ Nasi Jamblang Ibu Nur ต้องขยายสาขาเพิ่ม เพื่อรองรับลูกค้าที่แวะเวียนมาไม่ขาดสาย

อิ่มท้องแล้ว ก็ได้เวลาไปเช็กอินกันต่อที่ มันเตรา รัตตัน (Mantera Rattan) จุดหมายสำหรับสายคราฟต์และคนรักงานดีไซน์ เพราะที่นี่ไม่ได้เป็นแค่โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์หวายเก๋ๆ เท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมเวิร์กชอป “สานหวาย” ให้ลองทำกันเองด้วย

แนวคิดของแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

รู้ไหมว่า… หวายมีมากกว่า 400 สปีชีส์ทั่วโลก และในอดีต หวายยังเคยถูกใช้เป็นหนึ่งในสินสอดแต่งงานของชาวอินโดนีเซียด้วย

สำหรับเวิร์กชอปที่เราจะได้ลองทำกันนั้น จะใช้วัสดุเป็น หวายสังเคราะห์ ซึ่งออกแบบมาให้มีสีสัน ลวดลาย และผิวสัมผัสใกล้เคียงกับหวายธรรมชาติมากๆ แต่มีข้อดีตรงที่ยืดหยุ่นกว่า ไม่แตกหักง่าย

นั่งสานหวายไปเพลินๆ ได้ทั้งฝึกสมาธิ ได้ทั้งของฝากกลับบ้าน และยังเข้าใจเสน่ห์ของงานฝีมือท้องถิ่นชวาตะวันตกเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ก่อนจบวัน ขอแนะนำให้แวะเติมความอร่อยกับมื้อเย็นที่ร้าน Empal Gentong ซึ่งถือเป็นเมนูขึ้นชื่อ คือ เนื้อวัวนุ่มๆ ที่ผ่านการเคี่ยวอย่างช้าๆ ในหม้อดินที่เรียกว่า “เกนตง” ซึ่งเป็นเคล็ดลับที่ช่วยให้รสชาติและกลิ่นหอมของสมุนไพรซึมเข้าเนื้อได้อย่างเต็มที่ รสชาติของน้ำแกงมีความละมุนคล้ายแกงเขียวหวานบ้านเรา แต่จะเบากว่าและไม่เผ็ดจัด

จานนี้เสิร์ฟมาพร้อมข้าวสวยร้อนๆ และถ้าอยากเพิ่มความฟิน แนะนำให้สั่ง สะเต๊ะเนื้อ มาทานคู่กัน

วันที่ 2 ออกเดินทางสู่เมืองบันดุง (Bandung) เมืองใหญ่ท่ามกลางขุนเขา ที่เคยถูกขนานนามโดยเจ้าอาณานิคมดัตช์ว่าเป็น “ปารีสแห่งเกาะชวา” เพราะตัวเมืองรายล้อมด้วยภูเขาและภูเขาไฟ อากาศจึงเย็นสบายตลอดปี

นอกจากธรรมชาติที่ชวนหลงใหล บันดุงยังมีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์โลกด้วยการเป็นเจ้าภาพจัด การประชุมเอเชีย-แอฟริกา (The Asian-African Conference) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “การประชุมบันดุง” ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1955

ช่วงเวลานั้น โลกกำลังตกอยู่ในสภาวะสงครามเย็น ประเทศต่างๆ ถูกบีบให้เลือกระหว่างขั้วประชาธิปไตยกับขั้วคอมมิวนิสต์ แต่ประเทศในเอเชียและแอฟริกาหลายแห่งต้องการจุดยืนเป็นของตัวเอง จึงรวมตัวกันเพื่อหารือเรื่องสันติภาพ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การเลิกทาส การต่อต้านการแทรกแซงจากมหาอำนาจ และการต่อต้านระบบอาณานิคมใหม่

ผลลัพธ์ของการประชุมนี้ นำไปสู่การก่อตั้งขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement) ซึ่งยังคงมีบทบาทในการเมืองโลกมาจนถึงปัจจุบัน

เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญครั้งนั้น รัฐบาลอินโดนีเซียได้ก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์การประชุมเอเชีย-แอฟริกา (Museum Konferensi Asia Afrika) ขึ้นภายในอาคารที่เคยใช้จัดประชุมจริง ๆ

เราสามารถเดินเข้าไปชมได้ทั้งนิทรรศการ ภาพถ่ายเอกสารสำคัญ และไฮไลท์คือการได้ยืนอยู่ใน “โถงแห่งประวัติศาสตร์” ที่ผู้นำโลกเคยนั่งถกเถียงกันอย่างจริงจังเมื่อเกือบ 70 ปีก่อน

อีกหนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญของเมืองบันดุงที่ไม่ควรพลาดก็คือเกอดุงซาเต (Gedung Sate) อาคารเก่าแก่ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของชวาตะวันตก

สร้างขึ้นในช่วงทศวรรษปี ค.ศ. 1920 สมัยที่อินโดนีเซียยังเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ ตัวอาคารออกแบบในสไตล์นีโอคลาสสิก ผสมผสานกับศิลปะพื้นเมืองของชวาอย่างลงตัว สะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนระหว่างชาวยุโรปและชาวชวาในยุคนั้น

พื้นที่ชั้นล่างของอาคาร เคยถูกใช้เป็นเรือนจำมาก่อน ปัจจุบันปรับเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ส่วนชั้นบนยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์ราชการบริหารของชวาตะวันตก

เดิมทีเกอดุงซาเตมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Departement van Gouvernements Bedrijven แต่ด้วยชื่อที่ยาวและออกเสียงยากสำหรับชาวบ้านทั่วไป จึงถูกเรียกติดปากว่า “เกอดุงซาเต” แทน

คำว่า “Gedung” ในภาษาอินโดนีเซีย แปลว่า “อาคาร” ส่วนคำว่า “Sate” มาจากเมนูอาหารขึ้นชื่ออย่าง “สะเต๊ะ” เพราะส่วนยอดของตัวอาคารมีดีไซน์เป็นปลายแหลม เรียงซ้อนกันจนดูคล้ายกับไม้สะเต๊ะที่ใช้เสียบเนื้อนั่นเอง เป็นอีกหนึ่งจุดถ่ายรูปยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนบันดุง

ชมพิพิธภัณฑ์แล้ว ก็ได้เวลามาสัมผัสวัฒนธรรมดนตรีท้องถิ่นกันต่อที่ Saung Angklung Udjo หรือ “บ้านอังกะลุง

ที่นี่คือศูนย์รวมของศิลปะและงานฝีมือจากไม้ไผ่ โดยเฉพาะ “อังกะลุง” เครื่องดนตรีพื้นเมืองของอินโดนีเซียที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 2,000 ปี

ย้อนกลับไปในอดีต อังกะลุงไม่ได้มีไว้เพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่ถูกใช้ในพิธีแห่ขบวนพระราชา รวมถึงในเวลาเดินป่า เพื่อแสดงเกียรติยศและส่งเสียงขับไล่สิงสาราสัตว์ไปในตัว

ลักษณะของอังกะลุงนั้นทำจากกระบอกไม้ไผ่ อายุระหว่าง 3 – 6 ปี จำนวน 2 – 4 กระบอก ห้อยอยู่ในโครงไม้ไผ่ มัดด้วยเชือกหวาย

วิธีเล่นคือการ “เขย่า” เพื่อให้เกิดเสียง แต่ละชิ้นจะสามารถบรรเลงได้แค่โน้ตเดียว จึงต้องอาศัยผู้เล่นหลายคนมาช่วยกันสร้างท่วงทำนองให้สมบูรณ์

ด้วยเอกลักษณ์และคุณค่าทางวัฒนธรรมนี้เอง ในปี ค.ศ. 2010ยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศรับรองให้อังกะลุงเป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” อย่างเป็นทางการ

ที่นี่ นอกจากจะได้เห็นการผลิตอังกะลุงแบบแฮนด์เมดแล้ว ยังสามารถเข้าร่วม เวิร์กชอปการทำ และ การเล่นอังกะลุง ได้ด้วยตัวเอง รวมถึงมีการแสดงดนตรีและศิลปะการแสดงจากเด็กๆ ในชุมชนใกล้เคียง ที่มาเรียนรู้ และถ่ายทอดวัฒนธรรมเหล่านี้ต่อไป

บรรยากาศที่นี่อบอุ่น สนุกสนาน และเปี่ยมไปด้วยพลังของชุมชนอย่างแท้จริง

มื้อเที่ยงวันนี้ขอชวนแวะเติมพลังกันที่ Sultan Agung Resto อีกหนึ่งร้านดังของบันดุงที่ขึ้นชื่อทั้งเรื่องรสชาติและบรรยากาศ

จานแรกที่ไม่ควรพลาดคือ ไก่ทอดสุลต่าน เสิร์ฟคู่กับน้ำพริกรสเผ็ดจัดจ้านแบบอินโดนีเซียแท้ๆ เผ็ดถึงใจ แต่พอกินคู่กับข้าวสวยร้อนๆ แล้วเข้ากันแบบลงตัว

ใครสายของทอดต้องลองชีสบอล ปอเปี๊ยะ และ มั่นโถว ที่ทอดมากรอบนอกนุ่มใน

แต่ไฮไลท์ของมื้อนี้ ต้องยกให้เมนูของหวานที่ทั้งแปลกและอร่อยเกินคาดอย่าง กล้วยชุบแป้งทอดโป๊ะด้วยเชดดาร์ชีส ราดซอสคาราเมล รสชาติหวานมันเค็มตัดกันอย่างพอดี กินเพลินๆ จนเผลอหมดจานแบบไม่รู้ตัว

ตกเย็น ถึงเวลาออกมาเดินเล่นชิลๆ กันที่ Braga City Walk ถนนคนเดินสุดฮิปกลางเมืองบันดุง ที่เหล่าสายอาร์ตและนักช้อปต้องห้ามพลาด

ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ถนนเส้นนี้จะปิดไม่ให้รถสัญจรผ่าน กลายเป็นถนนคนเดินเต็มรูปแบบ ตลอดสองข้างทางเต็มไปด้วยภาพวาดและงานศิลปะให้เลือกชมเลือกซื้อ รวมถึงร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านค้าต่างๆ

ด้วยประชากรอินโดนีเซียกว่า 200 ล้านคน หรือราว 85% ของประเทศนับถือศาสนาอิสลาม ทำให้ร้านอาหารส่วนใหญ่ที่นี่ ไม่ได้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เว้นแต่จะเป็นร้านที่มีใบอนุญาตโดยเฉพาะ

จึงไม่แปลกที่กิจกรรมยอดนิยมของชาวบันดุงหลังมื้อเย็น จะเป็นการแวะร้านกาแฟนั่งคุยกันชิล ๆ ฟังเพลง หรือเดินเล่นดูงานศิลป์ยามค่ำ มากกว่าการไปนั่งบาร์ หรือ ปาร์ตี้แบบเมืองอื่นๆ

วันที่ 3 ตื่นเช้า ออกเดินทางสู่ธรรมชาติที่งดงามไม่เหมือนที่ไหน

เป้าหมายแรกของวันนี้คือ Kawah Putih หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “ทะเลสาบปล่องภูเขาไฟสีขาว” หนึ่งในแลนด์มาร์กของบันดุงที่ถ้าไม่ได้มาเยือน ถือว่ามาไม่ถึงจริง ๆ

แม้จะต้องนั่งรถออกจากตัวเมืองบันดุงไปไกลถึง 46 กิโลเมตร ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง แต่บอกเลยว่าคุ้มกับการตื่นเช้า เพราะภาพตรงหน้าช่างสวยราวกับหลุดออกมาจากอีกโลก

Kawah Putih เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ ปาตูฮา (Patuha) ซึ่งมีความสูงถึง 2,194 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทำให้อุณหภูมิบริเวณนี้ค่อนข้างเย็น เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10–15 องศาเซลเซียส แนะนำให้พกเสื้อกันหนาว หรือ เสื้อกันลมติดตัวไปด้วย

จุดเด่นของที่นี่ คือ น้ำในทะเลสาบที่มีสีขาวอมเขียวอมฟ้า ซึ่งเกิดจากกำมะถันที่อยู่ในปล่องภูเขาไฟที่ยังแอคทีฟอยู่ จะเห็นควันสีขาวลอยขึ้นมาจากใต้พื้นดินหลายจุด บรรยากาศรอบๆ ดูลึกลับแฝงด้วยความงามที่ชวนให้หยุดมอง

อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณกำมะถันที่เข้มข้น บริเวณนี้จึงมีกลิ่นค่อนข้างแรง และอาจส่งผลต่อสุขภาพหากอยู่ในพื้นที่นานเกินไป คำแนะนำสำคัญคือ ไม่ควรอยู่นานเกิน 30 นาที และที่สำคัญที่สุด ห้ามสัมผัสน้ำเด็ดขาด

นอกจากนี้ ควรระมัดระวังเวลาเดิน เพราะพื้นบริเวณริมทะเลสาบบางจุดมีโคลนกำมะถันที่อาจทำให้รองเท้าจมได้ ใครที่ไม่ชินกับกลิ่นแรง ๆ แนะนำให้พกหน้ากากอนามัยติดตัวไปด้วย

ไปต่อกันที่ ศูนย์อนุรักษ์กวาง Kampung Cai Ranca Upas อีกหนึ่งจุดหมายที่สายรักธรรมชาติและคนรักสัตว์ต้องไม่พลาด เพราะที่นี่คือพื้นที่สีเขียวกว้างใหญ่ ล้อมรอบด้วยภูเขาและป่าไม้สวยงาม อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี

ภายในศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นที่อยู่ของ กวางสายพันธุ์ทิโมเรนซิส (Timorensis) จำนวนมาก เป็นกวางท้องถิ่นของอินโดนีเซีย

ความน่ารักคือ กวางที่นี่ค่อนข้างคุ้นชินกับคน เพราะมีคนมาเยี่ยมเยือนอยู่ตลอด ถ้าได้กลิ่นอาหาร ก็จะค่อยๆ เดินเข้ามาหาอย่างเป็นมิตร

ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทั้งเพลินและผ่อนคลาย เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย

ปิดท้ายวันด้วยมื้อเย็นที่Pascal Food Market ศูนย์รวมสตรีทฟู้ดและร้านอาหารชื่อดังใจกลางบันดุง ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งรวมของกินขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมือง เพราะมีเมนูให้เลือกสรรมากถึง 1,100 เมนู

ร้านที่ต้องแวะให้ได้คือIga Bakar Si Jangkung ร้านซี่โครงเนื้อกระทะร้อนชื่อดังที่โด่งดังจนเป็นไวรัลในโซเชียลของอินโดนีเซีย

เมนูไฮไลท์คือ “Iga Bakar” หรือซี่โครงเนื้อย่างกระทะร้อน ที่เนื้อมีความเหนียวนุ่มกำลังดี เคลือบด้วยซอสที่มีรสเผ็ดร้อนจากพริกเผา ตัดกับความหวานนัวๆ จากซีอิ๊วดำแบบอินโดนีเซีย รสชาติเข้มข้นถึงใจ วันนี้โชคดีมาก เชฟเจ้าของสูตรต้นตำรับมาทำอาหารให้ชมกันสดๆ ได้ทั้งความอร่อยและความบันเทิงไปพร้อมกันเลยทีเดียว

วันสุดท้าย ก่อนกลับบ้าน ใครที่มองหาของฝากจากบันดุง ขอแนะนำร้านดังอย่างKartika Sari ที่มีทั้งของหวาน ของคาว ขนมพื้นเมือง และสินค้าพร้อมแพ็กเกจสวยๆ ให้เลือกมากมาย จะซื้อเป็นเซ็ตหรือเลือกแยกชิ้นตามใจชอบก็สะดวก

และอีกหนึ่งร้านที่ไม่ควรพลาดซึ่งอยู่ใกล้ๆ กันคือ Bolu Susu Lembang ร้านเค้กชื่อดังประจำเมือง

จุดเด่นของที่นี่ คือเค้กเนื้อเนียนนุ่ม หอมกลิ่นเนยนม มีหลายรสชาติให้เลือก แต่ที่ขายดีที่สุดต้องยกให้ รสออริจินัล ที่ท็อปด้วยครีมและชีสรสหวานๆ เค็มๆ ตัดกันอย่างลงตัว

จบทริปชวาตะวันตกอย่างอิ่มใจ พร้อมบินกับ Scoot กลับสิงคโปร์และต่อเครื่องสู่กรุงเทพฯ

ทริปนี้ต้องบอกเลยว่าเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่น่าจดจำ เพราะได้สัมผัสเสน่ห์ของชวาตะวันตกครบทุกมิติ ทั้งวัฒนธรรมที่หลากหลาย ธรรมชาติสวยสะกดตา อาหารท้องถิ่นรสชาติเข้มข้น ไปจนถึงกิจกรรมสนุก ๆ ที่ทำให้ไม่มีเบื่อเลยตลอดการเดินทาง

ถ้าใครกำลังมองหาทริปใหม่ๆ ที่ไม่ซ้ำใคร ลองปักหมุดมาเที่ยวตามเส้นทางนี้ดูสักครั้ง รับรองว่าได้ทั้งภาพสวยๆ ความทรงจำดีๆ และเรื่องเล่ากลับบ้านไปแน่นอน

และสำหรับการเดินทางกับ Scoot ผู้โดยสารสามารถเลือกปรับแต่งประสบการณ์ได้ตามสไตล์ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกที่นั่ง, สั่งจองมื้ออาหารล่วงหน้า, เพิ่มน้ำหนักกระเป๋า, ชอปปิ้งบนเครื่อง หรือแม้แต่ใช้บริการ Wi-Fi ก็มีครบ

ใครที่ต้องการความเงียบสงบก็สามารถเลือกที่นั่งในโซน Scoot-in-Silence หรือถ้าอยากเพิ่มความสบายขึ้นไปอีกขั้น ลองอัปเกรดเป็น ScootPlus ก็ช่วยให้การเดินทางยาว ๆ เป็นเรื่องผ่อนคลายขึ้น

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ทำให้ Scoot เป็นสายการบินราคาประหยัดที่ทั้ง คุ้มค่า ปลอดภัย และมอบประสบการณ์การเดินทางที่น่าจดจำ ให้กับผู้โดยสารทุกคนได้อย่างแท้จริง

Cr. ภาพ Smiling West Java , Farida Waller

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก กรุงเทพธุรกิจ

ยลโฉมทรัพย์สิน ‘นายกเบี้ยว’ พ้นเก้าอี้ รวย 36 ล้าน ปืน 6 กระบอก

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ก.ล.ต.จี้ ECF ปรับราคาสิทธิ ECF-W5 ระบุกระทบผู้ถือหุ้นแปลงสิทธิหุ้นแม่ภายใน 18 ก.ค.

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ฮุนได ‘SANTAFE FE’ ออปชั่นแน่น ๆ 2 ทางเลือก เริ่ม 1.59 ล้าน

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ก.ล.ต.สั่งพักงานมาร์เก็ตติ้ง บล.เคจีไอ พบรับคำสั่งซื้อขายหุ้นไม่มีการบันทึก

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

‘เมนูนี้ต้องไม่พลาด! “ทรัฟเฟิลฤดูร้อน” พร้อมเสิร์ฟ!’

GM Live

“ถ้าจะมีความรัก ต้องเผื่อใจไว้ให้กับความทุกข์ด้วย” พระดล แห่งซีรีส์ ‘สาธุ’ กับคำแนะนำความรักให้กับโยมเดียร์

THE STANDARD

พระพุทธชินราชสร้างพุทธศตวรรษที่ 20 สมัยกษัตริย์พระองค์ใด?

ศิลปวัฒนธรรม

Hailey Bieber อยู่เคียงข้าง Justin Bieber มาตลอดช่วงทำอัลบั้ม SWAG

THE STANDARD

Harry Potter ทีวีซีรีส์ HBO เริ่มถ่ายทำแล้ว กำหนดฉาย 2027

กรุงเทพธุรกิจ

วาดเส้น เติมสีสันกับ PEPPER.INKER สตูดิโอสักสุดสดใสของ ‘ชาช่า ริต์ตา‘ ที่ให้คุณค่ากับงานออกแบบ

Capital

จากรัฐกันชนสู่คู่ซ้อม "ไทย" สมรภูมิซ่อนเร้นสหรัฐฯ แห่งสงครามเย็น

Thai PBS

IETA เปิดรายงาน CBAM ในไทย ส่องท่าทีหลายประเทศ-จับตาเทรนด์-ยกเลิกโควตาฟรี

กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...