ดาบสองคมของ ‘จิตดลบันดาล’ รู้จักเหรียญสองด้านของแนวคิด ‘Manifestation’
‘คิดอย่างไรก็ได้อย่างนั้น’ วลีติดปากของใครหลายคนที่พยายามโน้มน้าวให้เรา ‘คิดบวก’ อยู่เสมอ ตามแนวคิดที่ว่าการคิดบวกจะดึงดูดสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต แนวคิดดังกล่าวมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าจิตดลบันดาล (Manifestation) ที่บอกว่าการคิดและเชื่อในผลลัพธ์ที่พึงปรารถนาอย่างแรงกล้า สิ่งนั้นก็จะกลายเป็นความจริง แนวคิดดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายตั้งแต่ยุคหนังสืออย่างThe Secret ว่าด้วยกฎการดึงดูด (Law of Attraction) ตามมาด้วยยุคโซเชียลมีเดียที่เหล่าอินฟลูเอนเซอร์นำประเด็นนี้มาบอกเล่าต่ออย่างเป็นล่ำเป็นสัน
แม้คนจำนวนไม่น้อยจะยึดมั่นในแนวคิดเรื่องจิตดลบันดาล อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการพิสูจน์แล้วว่า แนวคิดดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยกลุ่มที่เชื่อมั่นแนวคิดจิตดลบันดาลและเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าตนเองจะประสบความสำเร็จนั้น ไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อระดับความสำเร็จตามตัวชี้วัดที่จับต้องได้ อาทิ รายได้และระดับการศึกษา แม้ว่าพวกเขาจะเชื่อมั่นว่าตัวเองมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงกว่ากลุ่มที่ไม่สนใจแนวคิดเรื่องจิตดลบันดาลแม้แต่น้อย
ถึงแม้แนวคิดจิตดลบันดาลจะเป็น ‘วิทยาศาสตร์เทียม’ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์เสียทีเดียว เพราะการยึดมั่นกับความคิดแง่บวกนั้นจะทำให้พวกเรามองโลกในแง่ดี เชื่อมั่นในตนเอง กระตือรือร้นและมุ่งมั่น
ในขณะเดียวกัน คุณลักษณะเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะการมองโลกในแง่ดีและเชื่อมั่นในตนเองมากเกินไปย่อมทำให้พวกเรากล้าเสี่ยงเกินพอดี และมีโอกาสตกเป็นเหยื่อกลุ่มหลอกลวงรวยเร็วมากกว่าคนอื่นๆ อีกทั้งยังเสี่ยงที่จะจิตตกเมื่อวันหนึ่งต้องเผชิญกับความจริงที่ว่าสิ่งที่ปรารถนาในความคิดนั้นไม่มีวันเป็นจริง
กับดักของการมองโลกในแง่ดี
เหล่าคนที่ยึดมั่นกับแนวคิดจิตดลบันดาลมีแนวโน้มมองโลกในแง่ดี โดยเชื่ออยู่เสมอว่า “เราทำได้” ซึ่งนำไปสู่ความมุ่งมั่นและกระตือรือร้นเพื่อทำให้สำเร็จ การนึกถึงสิ่งที่ตัวเองปรารถนาอยู่เสมอยังช่วยหักล้างความกลัวการล้มเหลวและความไม่มั่นใจในตัวเอง โดยเป็นแรงผลักดันให้ก้าวเดินไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ทำงานหามรุ่มหามค่ำ หรือหาเส้นสายที่ปูทางไปสู่ความสำเร็จ
การปรับเปลี่ยนมุมมองจากด้านลบที่เต็มไปด้วยภาพความล้มเหลวสู่ด้านบวกที่มองเห็นตนเองเข้าใกล้ความสำเร็จยังช่วยลดความเครียดและความกระวนกระวายลงอีกด้วย เช่น การจินตนาการว่าตัวเองนำเสนองานในที่ประชุมได้อย่างยอดเยี่ยม จะทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองพร้อมมากยิ่งขึ้นในการลงมือทำมันให้สำเร็จจริงๆ การพยายามมองโลกในแง่บวกเอาไว้จึงช่วยผลักดันให้เราก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่หยุดนิ่งเพราะความกลัวที่จะล้มเหลวหรือรู้สึกไม่มั่นใจ
อย่างไรก็ตาม คนเราส่วนใหญ่มีแนวโน้มมองโลกในแง่ดีเกินจริงอยู่แล้วตามธรรมชาติ โดยเหล่านักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมตั้งชื่อให้ว่า ‘อคติการมองโลกในแง่ดี’ (optimism bias) หากการพยายามมองทุกอย่างในแง่บวกและเชื่อมั่นในตัวเองอย่างล้นเกินกว่าปลายทางคือความสำเร็จแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ตามมาคือความมั่นใจอย่างล้นเกินที่นำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยง โดยมีการศึกษาพบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างความเชื่อในแนวคิดจิตดลบันดาลกับพฤติกรรมใช้เงินแบบไม่ยั้งคิด เช่น ลงทุนในตัวเลือกเสี่ยงๆ เผชิญผลขาดทุนก้อนใหญ่ หรืออาจถึงขั้นล้มละลาย เนื่องจากพวกเขาเชื่ออย่างแน่วแน่ว่า “เงินก้อนใหญ่กำลังจะลอยมาหา” นอกจากนี้ คนที่มีความเชื่อดังกล่าวยังเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของสารพัดการหลอกลวง ‘รวยเร็ว’ อย่างเช่นแชร์ลูกโซ่อีกด้วย
คิดได้ แต่ต้องลงมือทำด้วย
จากการอ่านเนื้อหาเกี่ยวกับจิตดลบันดาลมาพอประมาณ ผมเองก็สังเกตเห็นปัญหาสำคัญคือ การให้คำแนะนำแบบกว้างๆ เนื่องจาก ‘เป้าหมาย’ ของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนต้องการความร่ำรวย บางคนต้องการมีสุขภาพดี บางคนต้องการคนรัก ฯลฯ ดังนั้นคำแนะนำจากแนวคิดจิตดลบันดาลจึงเป็นเพียงภาพกว้างๆ อย่างเช่น เขียนเป้าหมายลงบนกระดาน จดบันทึกประจำวัน และพยายามคิดบวกอยู่เสมอ
แต่ ‘เป้าหมาย’ กับ ‘วิธีการ’ นับเป็นคนละเรื่องกัน ต่อให้เรามีเป้าหมายชัดเจนแต่ถ้าไม่มีวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นก็ยากที่จะสำเร็จได้
อีกอุปสรรคสำคัญคือ ต่อให้เราหมกมุ่นกับเป้าหมาย มีแผนดำเนินการชัดเจน แต่อุปสรรคที่ก้าวข้ามได้ยากที่สุดคือการลงมือทำ นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเรียกปัญหานี้ว่าช่องว่างระหว่างความตั้งใจกับพฤติกรรมจริง (Intention–Behavior Gap) ยกตัวอย่างง่ายๆ เรารู้ว่าการสูบบุหรี่ไม่ดี ตั้งเป้าหมายว่าจะเลิกบุหรี่ให้ได้ วางแผนอย่างดิบดีว่าจะค่อยๆ ลดปริมาณ หาหมากฝรั่งมาติดตัวไว้ ผนวกกับนัดหมายขอรับคำปรึกษาการเลิกบุหรี่จากผู้เชี่ยวชาญ แต่ชีวิตจริงไม่ได้ง่ายเหมือนในจินตนาการ เพราะสารพันปัญหาที่รุมเร้าอาจทำให้เราไม่สามารถดำเนินตามแผนเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นได้นั่นเอง
ดังนั้นการเฝ้าฝันถึงความสำเร็จตามแนวคิดจิตดลบันดาลเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอที่จะ ‘ดึงดูด’ ให้บรรลุเป้าหมายนั้นได้ แต่ต้องอาศัยแรงใจใฝ่สัมฤทธิ์และความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการลงมือทำและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามแผนที่วางเอาไว้ ไม่เช่นนั้นจิตดลบันดาลก็คงไม่ต่างจากฝันกลางวัน
เผื่อใจไว้บ้าง เพราะสิ่งที่ฝันอาจไม่กลายเป็นความจริง
แนวคิดจิตดลบันดาลสนับสนุนให้เรานึกถึงความสำเร็จปลายทาง อย่างไรก็ตามสิ่งที่ยากที่สุดในการบรรลุเป้าหมายได้นั้นคือเรื่องระหว่างทาง นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมพบว่ามนุษย์ปุถุชนนั้นเผชิญปัญหาอคติการวางแผนแบบเข้าข้างตัวเอง (Planning Fallacy) โดยมักจะประเมินทรัพยากรที่ต้องใช้และความยุ่งยากของอุปสรรคที่พบเจอระหว่างทางต่ำเกินไป เรามักจะคิดเข้าข้างตัวเองว่าทุกอย่างจะราบรื่น เรียบง่าย แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่ใช่เลย การยึดมั่นกับความคิดเชิงบวกมากเกินไปก็อาจทำให้เราไม่ได้เตรียมใจไว้สำหรับสารพันปัญหาที่คาดไม่ถึง
นักจิตวิทยาอธิบายไว้ว่าเราทุกคนมักจะมองตัวเอง ‘พิเศษและโชคดี’ กว่าคนอื่นๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วเราทุกคนก็คือมนุษย์ปุถุชนที่เจอทั้งเรื่องดีบ้าง ร้ายบ้าง สลับสับเปลี่ยนกันไป การคาดหวังว่าทุกอย่างจะเป็นบวกไปเสียทั้งหมดจึงไม่สมเหตุสมผล และกลับกลายเป็นความไม่พร้อมเมื่อต้องเจอผลลัพธ์แย่ๆ หรือความผิดหวังที่คาดไม่ถึง
บางครั้งกลุ่มคนที่ยึดติดกับแนวคิดจิตดลบันดาลมากๆ ก็มักโทษตัวเองที่ปล่อยให้ความคิดเชิงลบล่องลอยเข้ามาในหัวจน ‘ดึงดูด’ เรื่องร้ายๆ เข้ามาในชีวิต ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วทุกคนต่างก็ต้องเจอเรื่องที่ดีและร้ายด้วยกันทั้งนั้น การทดลองชิ้นหนึ่งยังพบว่าการบีบบังคับให้ตัวเอง ‘คิดบวก’ อยู่ตลอดเวลาอาจทำให้เกิดความเครียดและกลายเป็นกดทับอารมณ์ด้านลบอย่างความเศร้า ความโกรธ และความกลัวซึ่งอาจกระทบต่อสุขภาพจิตโดยรวมอีกด้วย
ปัจจุบันแนวคิดจิตดลบันดาลกลับมาแพร่หลายอีกครั้ง แม้แนวคิดดังกล่าวจะมีข้อดีอยู่บ้างบางประการ แต่ก็มีข้อควรระวังเช่นกัน การตั้งเป้าหมายและคิดบวกอยู่เสมอไม่ใช่ปัญหา ตราบใดที่เรายังยึดหลักความจริงที่ว่าความสำเร็จนั้นไม่ได้มาได้โดยง่าย และไม่ว่าใครต่างก็ต้องทุ่มเทแรงกาย แรงใจ บวกกับโชคบางส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมาย ที่สำคัญอย่าลืมเผื่อใจเอาไว้บ้าง เพราะไม่มีทางที่เราจะประสบความสำเร็จตามฝันได้ทุกคน
อ่านเพิ่มเติม
Is Manifesting Magical Thinking or Real Psychology?
Can You Really “Manifest” Success Through Positive Visualization?
Manifestation Promises Fame, Fortune, and Your Ideal Mate—But Does It Work?
Belief in manifesting financial success leads to risky investments and bankruptcy, says study
Intention, Expectation, and Willingness
รู้จัก "Manifestation" หลักการสร้างความสำเร็จด้วยการ "คิดบวก"
Manifestation คืออะไร ทำไมแนวคิดนี้จึงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง?
Manifest คืออะไร ทำไมเป็นกระแสสร้างแรงบันดาลใจบน TikTok
บทความต้นฉบับได้ที่ : ดาบสองคมของ ‘จิตดลบันดาล’ รู้จักเหรียญสองด้านของแนวคิด ‘Manifestation’
บทความที่เกี่ยวข้อง
- Spotlight: ประเทศไทยเกิดอะไรขึ้นบ้างในสัปดาห์นี้ [21-25 ก.ค. 2568]
- ทั่วโลกเกิดอะไรขึ้นบ้างสัปดาห์นี้ 21-26 กรกฎาคม 2568
- เกิด-เรียน-ทำงาน-แก่-เจ็บ-ตาย นิทรรศการ ‘เส้นทางความเหลื่อมล้ำ คนจนเมือง’ กับเรื่องราวของความจนที่สืบทอดโดยไม่สมัครใจ
ตามบทความก่อนใครได้ที่
- Website : plus.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath