ไร้เงาผู้นำจีน! สี จิ้นผิง ไม่ร่วม BRICS ครั้งแรกในรอบทศวรรษ
การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (BRICS) ได้เปิดฉากขึ้นแล้ว ณ นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิลในวันอาทิตย์นี้
ทว่ากลับมีปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นคือ“ไร้เงาของผู้นำประเทศสมาชิกที่ทรงอิทธิพลที่สุดอย่างจีน” ตามรายงานของ CNN
นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษแห่งการครองอำนาจ ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งเป็นผู้ผลักดันให้ BRICS กลายเป็นแกนกลางสำคัญในยุทธศาสตร์การจัดระเบียบอำนาจโลกใหม่ของจีน ดันไม่เข้าร่วมการประชุมประจำปีด้วยตนเอง
การขาดหายไปของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กลุ่ม BRICS กำลังอยู่ในจุดที่เปราะบางอย่างยิ่ง
เพราะตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นมา BRICS ได้ขยายสมาชิกจากเดิมที่มี บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ โดยมี อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เอธิโอเปีย อินโดนีเซีย และอิหร่าน เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่ตึงเครียดอย่างมาก สมาชิกบางประเทศกำลังเผชิญกับเส้นตายในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นวันที่พวกเขาสุ่มเสี่ยงจะถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้า ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ไม่เพียงเท่านั้น ทุกประเทศต่างต้องรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ
ด้วยสถานการณ์เช่นนี้เอง ที่ทำให้กลุ่ม BRICS จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงพลังความเป็นเอกภาพให้โลกเห็นมากกว่าที่เคยเป็นมา
การตัดสินใจของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ส่งนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ซึ่งเป็นบุคคลหมายเลขสองของรัฐบาลเข้าร่วมการประชุมแทนตนเอง
ถือเป็นการพลาดโอกาสทองของจีนที่จะแสดงบทบาทผู้นำทางเลือกที่แข็งแกร่ง เพื่อแข่งขันกับสหรัฐอเมริกา
ภาพลักษณ์ที่ปักกิ่งพยายามนำเสนอต่อกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South) มาโดยตลอด คือการเป็นอีกขั้วอำนาจที่มั่นคง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้นโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" (America First)
และการที่สหรัฐฯ ร่วมกับอิสราเอลปฏิบัติการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านเมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้หลายประเทศเริ่มมองหาทางเลือกอื่น
การที่สี จิ้นผิง ไม่เข้าร่วมด้วยตนเอง จึงทำให้จีนพลาดโอกาสสำคัญในการตอกย้ำภาพลักษณ์ดังกล่าวบนเวทีโลก
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า การไม่เข้าร่วมของสี จิ้นผิง ไม่ได้หมายความว่าปักกิ่งลดทอนความสำคัญของ BRICS หรือมองว่าเวทีนี้มีความสำคัญน้อยลงในการสร้างกลุ่มอำนาจเพื่อคานอำนาจตะวันตก
"BRICS ยังคงเป็นส่วนสำคัญในความพยายามของปักกิ่งที่จะสร้างหลักประกันว่าตนเองจะไม่ถูกปิดล้อมโดยพันธมิตรของสหรัฐฯ" ฉง จา เอียน (Chong Ja Ian) รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ให้ทัศนะ
เขากล่าวเสริมว่า แรงกดดันจากสหรัฐฯ อาจลดลงไปบ้างในยุคของทรัมป์ ซึ่งสร้างความสั่นคลอนต่อความสัมพันธ์แม้กระทั่งกับพันธมิตรหลักของตนเอง
ขณะเดียวกัน สำหรับสี จิ้นผิง แล้ว BRICS อาจไม่ใช่ "ภารกิจสำคัญสูงสุด" ในขณะนี้ เมื่อเทียบกับการที่เขาต้องทุ่มเทสมาธิเพื่อกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศ
นอกจากนี้ ปักกิ่งอาจประเมินแล้วว่าการประชุมครั้งนี้อาจไม่มีความคืบหน้าหรือข้อตกลงที่สำคัญเกิดขึ้น
เช็คชื่อ BRICS 2025 ใครมา ใครขาด?
สี จิ้นผิง ไม่ใช่ผู้นำระดับสูงเพียงคนเดียวที่ไม่ได้เดินทางมายังรีโอเดจาเนโรเพื่อร่วมประชุม BRICS 2025
วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรคนสำคัญที่ใกล้ชิดกับจีน จะเข้าร่วมการประชุม BRICS ผ่านระบบวิดีโอทางไกลเท่านั้น
การตัดสินใจนี้มีเหตุผลเดียวกับการประชุมที่แอฟริกาใต้เมื่อปี 2023 นั่นคือบราซิลในฐานะรัฐภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) มีพันธกรณีต้องจับกุมปูตินตามหมายจับของศาลในข้อหาอาชญากรรมสงครามในยูเครน
การขาดหายไปของสองผู้นำมหาอำนาจ ทำให้แสงสปอตไลต์สาดส่องไปที่นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย อย่างเต็มที่ ซึ่งจะเดินทางเยือนบราซิลทั้งเพื่อการประชุมสุดยอดและการเยือนอย่างเป็นทางการ
สำหรับเจ้าภาพอย่างประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล แม้จะผิดหวังอยู่บ้าง
แต่ความรู้สึกดังกล่าวอาจบรรเทาลงได้จากการที่สี จิ้นผิง เพิ่งเดินทางเยือนบราซิลเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 และการเยือนอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ซึ่งทั้งสองได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือหลายฉบับ ประกอบกับที่ลูลาเองก็ได้เดินทางเยือนจีนเมื่อเดือนพฤษภาคม หลังจากเข้าร่วมพิธีสวนสนามของกองทัพในมอสโกเคียงข้างสี จิ้นผิง เช่นกัน
นักสังเกตการณ์ชี้ว่า ปัจจัยเหล่านี้ ประกอบกับการคาดการณ์ว่าจะไม่มีความคืบหน้าครั้งสำคัญในการประชุม
และการที่จีนต้องหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาภายในประเทศ ล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้สี จิ้นผิง ตัดสินใจส่ง หลี่ เฉียง มือขวาที่ไว้ใจได้มาเป็นตัวแทน
วาระสำคัญ BRICS 2025 และอนาคตการค้าโลก
แม้ผู้นำสูงสุดของจีนจะไม่ได้มาด้วยตนเอง แต่วาระของจีนยังคงถูกขับเคลื่อนอย่างแข็งขัน โดยคาดว่านายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง จะได้รับมอบหมายให้ผลักดันประเด็นสำคัญ เช่น
การกระชับความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่างจีนกับสมาชิก BRICS ที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ และการผลักดันให้มีการใช้เงินหยวนในตลาดต่างประเทศและสกุลเงินดิจิทัลเพื่อการค้าภายในกลุ่มให้มากขึ้น
ประเด็นที่ทุกฝ่ายจับตามองมากที่สุดคือ "การลดการพึ่งพาดอลลาร์ (De-dollarization)" แนวคิดนี้เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับสมาชิกรัสเซียและอิหร่าน
ซึ่งถูกคว่ำบาตรอย่างหนักจากสหรัฐฯ โดยก่อนหน้านี้ ลูลาได้ตั้งเป้าหมายในการเป็นเจ้าภาพของบราซิลว่าต้องการ "เพิ่มทางเลือกในการชำระเงิน" เพื่อลด "ความเปราะบางและต้นทุน" ในระบบการเงินลง
ในขณะเดียวกัน รัสเซียเองก็เคยผลักดันให้มีการพัฒนาระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนที่เป็นอิสระเมื่อปีที่ผ่านมาเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่อง"สกุลเงิน BRICS" ที่ประธานาธิบดีลูลาเคยเสนอไว้ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่ไม่น่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในการเจรจาครั้งนี้
เพราะแนวคิดนี้สร้างความไม่พอใจให้กับโดนัลด์ ทรัมป์เป็นอย่างมาก ถึงขั้นที่ทรัมป์เคยขู่ไว้เมื่อเดือนมกราคมว่าจะ "เก็บภาษี 100%" กับประเทศสมาชิก BRICS หากพวกเขาสนับสนุนเรื่องสกุลเงินนี้
ขณะที่บรรดาผู้นำรวมตัวกัน ณ นครริโอเดจาเนโร สายตาของทั่วโลกต่างจับจ้องไปที่ท่าทีและความมุ่งมั่นของแต่ละชาติในการผลักดันสกุลเงินของตนเองเพื่อใช้ในการค้าขาย
แม้การประชุมครั้งนี้จีนจะเป็นแกนนำคนสำคัญ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อิทธิพลทางเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ยังคงมีน้ำหนักอย่างมหาศาล