‘กรมทางหลวง‘ ยุค’สราวุธ‘ หจก.บุรีเจริญฯ ปี 62-67 กวาดงานพันล.
“สราวุธ ทรงศิวิไล” อดีตอธิบดีกรมทางหลวง บุคคลที่มติที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) เสียงข้างมากเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” คนล่าสุด ผ่านการลงคะแนน “ทางลับ” โดย “สราวุธ” ได้รับคะแนนเห็นชอบ 143 เสียง ไม่เห็นชอบ 17 เสียง และ งดออกเสียง 27 เสียง ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยขั้นตอนหลังจากนี้ประธานวุฒิสภา จะทูลเกล้าฯรายชื่อต่อไป
สำหรับประวัติส่วนตัว “สราวุธ ทรงศิวิไล” จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา TRANSPORTATION ENG.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยผ่านหลักสูตรการอบรมมาทั้ง หลักสูตรนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 3 หลักสูตรโครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง และหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 57 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.57)
เขาคือคือหนึ่งใน “ลูกหม้อ” ที่เติบโตมาในกระทรวงคมนาคม โดยประวัติการทำงานที่ผ่านมาคือ
ปี 2529 - 2540 วิศวกรโยธา ฝ่ายแผนงาน กองบำรุง
ปี 2540 - 2545 หัวหน้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักบริหารบำรุงทาง
ปี 2545 - 2547 ผู้อำนวยการส่วนมาตรฐานผู้รับจ้าง (งานจดทะเบียนผู้รับเหมา)
ปี 2547 - 2549 ผู้อำนวยการสำนักงานบำรุงทางธนบุรี (แขวงการทาง)
ปี 2549 - 2550 ผู้อำนวยการแขวงการทางกรุงเทพ
ปี 2550 - 2552 ผู้อำนวยการกลุ่มกำหนดกลยุทธ์และแผนงานบำรุงทาง สำนักบริหารบำรุงทาง
ปี 2552 - 2556 ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 8 (นครราชสีมา)
ปี 2556 - 2557 รองอธิบดีกรมทางหลวงฝ่ายวิชาการ
ปี 2557 - 2560 รองอธิบดีกรมทางหลวงฝ่ายบำรุงทาง
ปี 2560 - 2561 ผู้ตรวจราชการกระทรวง กระทรวงคมนาคม
ปี 2561 - 2562 ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร
ปี 2562 -2562 อธิบดีกรมการขนส่งทางราง
ปี 2562 - 2567 อธิบดีกรมทางหลวง
ในช่วงที่เขานั่งเก้าอี้ “อธิบดีกรมทางหลวง” ก่อนเกษียณอายุราชการนั้น ระหว่างปี 2562-2566 กรมทางหลวง ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม อยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” อดีตเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย น้องชาย “เนวิน ชิดชอบ” ครูใหญ่แห่งบ้านอีสานใต้
กระทั่ง “ศักดิ์สยาม” เผชิญวิบากกรรมกรณี “โอนหุ้น” หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ให้แก่ “นอมินี” ถือหุ้นแทน ในช่วงระหว่างที่เขาเป็น รมว.คมนาคม โดยตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 17 ม.ค. 2567 มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 เสียง ชี้ว่า จากข้อพิรุธหลายประการดังกล่าว ประกอบพฤติการณ์แวดล้อมทั้งปวงแห่งคดี จึงฟังได้ว่า นายศักดิ์สยาม และนายศุภวัฒน์ เกษมสุข (ผู้ถือหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ) ตกลงนำเงินของนายศักดิ์สยาม ทำธุรกรรมต่าง ๆ ในนามนายศุภวัฒน์ โดยขั้นตอนสุดท้ายนำเงินนั้นซื้อกองทุนต่าง ในชื่อนายศุภวัฒน์ แล้วขายกองทุนดังกล่าว ชำระค่าหุ้นแก่นายศักดิ์สยาม
เช่นนี้ เงิน 119.5 ล้านบาท ยังเป็นของนายศักดิ์สยาม จึงยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยมีนายศุภวัฒน์ ครอบครองหุ้นของ หจก.บุรีเจริญ และดูแล หจก.บุรีเจริญ แทนนายศักดิ์สยาม มาโดยตลอด อันเป็นการถือหุ้นของรัฐมนตรี อยู่ในความครอบครอง หรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางใด ๆ เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้าม มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ดังนั้นความเป็นรัฐมนตรีของศักดิ์สยามจึงสิ้นสุดลงเฉพาะตัว มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187
หรือสรุปข้อเท็จจริงได้ว่า หจก.บุรีเจริญฯ มี “ศักดิ์สยาม” เคยถือครองหุ้นผ่าน “นอมินี” นั่นเอง ปัจจุบัน “ศักดิ์สยาม” ยังอยู่ระหว่างถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนปมให้ “นอมินี” เข้าไปถือครองหุ้นใน หจก.บุรีเจริญฯ อีกด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ระหว่างปี 2540 เป็นต้นมา ปรากฏชื่อ หจก.บุรีเจริญฯ เป็นคู่สัญญารับเหมาก่อสร้างกับภาครัฐหลายร้อยสัญญา รวมวงเงินหลายพันล้านบาท นับเฉพาะงานในกระทรวงคมนาคม ระหว่างปี 2558 เป็นต้นมา รวมวงเงินเฉียด 2 พันล้านบาท
แต่หากโฟกัสเฉพาะ “กรมทางหลวง” ระหว่างปี 2562-2567 มีจำนวน 52 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) รวมวงเงินไม่ต่ำกว่า 1,160.42 ล้านบาท ได้แก่
ปีงบประมาณ 2562 จำนวน 9 โครงการ รวมวงเงิน 196.39 ล้านบาท โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานจ้างเหมาทำการก่อสร้างงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทางหลวงหมายเลข 2074 ตอนควบคุม 0102 ตอน ลำน้ำมูล - พุทไธสง ระหว่าง กม.55+700 - กม.58+425 ปริมาณงาน 1 แห่ง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงินงบประมาณ 59,891,833 บาท
ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 10 โครงการ รวมวงเงิน 191.94 ล้านบาท โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานจ้างเหมาก่อสร้างแผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค พัฒนาทางหลวงหมายเลข 2073 ตอน บัวตารุ่ง - ลำปลายมาศ ระหว่าง กม.16+925 - กม.18+050 ปริมาณงาน 1 แห่ง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงินงบประมาณ 47,273,974 บาท
ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 8 โครงการ รวมวงเงิน 274.44 ล้านบาท โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานจ้างเหมาก่อสร้างกิจกรรมยกระดับมาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง ทางหลวงหมายเลข 2166 ตอน โนนศรีคูณ - หนองผะองค์ ระหว่าง กม.59+289 - กม.62+700 ปริมาณงาน 1 แห่ง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงินงบประมาณ 79,916,161 บาท
ปีงบประมาณ 2565 จำนวน 9 โครงการ รวมวงเงิน 217.59 ล้านบาท โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการบูรณะโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างภาค ทางหลวงหมายเลข 226 ตอนควบคุม 0203 ตอน หนองม้า - กระสัง ตอน 1 ระหว่าง กม.109+645 - กม.111+526 ปริมาณงาน 1 แห่ง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงินงบประมาณ 29,671,800 บาท
ปีงบประมาณ 2566 จำนวน 14 โครงการ รวมวงเงิน 230.39 ล้านบาท โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง ทางหลวงหมายเลข 2208 ตอน ห้วยละเวี้ย - ระกา ระหว่าง กม.27+390 - กม.28+000 ปริมาณงาน 1 แห่ง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงินงบประมาณ 31,416,000 บาท
ปีงบประมาณ 2567 จำนวน 2 โครงการ รวมวงเงิน 49.67 ล้านบาท โดยโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือ ประกวดราคาจ้างก่อสร้างกิจกรรมบูรณะโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างภาค ทางหลวงหมายเลข 2445 ตอน บุรีรัมย์ - แสลงโทน ระหว่าง กม.6+050 - กม.6+675 และ กม.9+487 - กม.10+750 ผลผลิต 1 แห่ง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงินงบประมาณ 29,719,070 บาท
อย่างไรก็ดีที่ผ่านมายังไม่มีการร้องเรียนถึงปัญหาในการจัดซื้อจัดจ้างของ หจก.บุรีเจริญฯ ในการประมูลงานรัฐแต่อย่างใด