ล้างความเชื่อเดิม AI ไม่ได้แย่งงาน แต่ยิ่งเพิ่มมูลค่าให้คนทำงาน
แม้จะมีความกลัวกันทั่วโลกว่า AI จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ ลดเงินเดือน หรือทำให้ทักษะดั้งเดิมของมนุษย์หมดความหมาย แต่งานวิจัยล่าสุดจาก PwC กลับชี้ชัดว่า AI กำลังทำให้วัยทำงานทั่วโลก "มีคุณค่ามากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง" โดยเฉพาะในสายอาชีพที่เปิดรับเทคโนโลยีนี้ และฝึกฝนใช้งานมันอย่างเต็มที่
งานในมือไม่หาย แถมรายได้กลับโตขึ้น
ในรายงาน “AI Jobs Barometer 2025” ของ PwC ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากใบประกาศรับสมัครงานกว่า 800 ล้านรายการบนเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงข้อมูลรายงานการเงินของบริษัททั่วโลกนับพัน จนค้นพบว่า ตำแหน่งงานและค่าจ้างในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ AI ยังคงเติบโตต่อเนื่อง แม้บางงานจะดูเหมือนถูกแทนที่ได้ง่าย เช่น customer service หรือสายงาน coding ในตำแหน่งงานวิศวกรซอฟแวร์
โจ แอทกินสัน (Joe Atkinson) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่าย AI ระดับโลกของ PwC อธิบายถึงประเด็นนี้ว่า “นวัตกรรมด้าน AI วิ่งเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และสิ่งที่เราเห็นคือ AI กำลังสร้างงานใหม่ ไม่ได้ลดงานเดิม”
ด้านแคโรล สตับบิงส์ (Carol Stubbings) ประธานฝ่ายพาณิชย์ของ PwC UK เสริมว่า “ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า ‘งานจะหายไปไหม’ แต่อยู่ที่ว่า ‘เราพร้อมสำหรับงานใหม่แค่ไหน’ ”
ไข 6 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ AI ในการทำงาน
รายงานฉบับนี้ยังได้หักล้าง “6 ความเชื่อผิด” เกี่ยวกับผลกระทบของ AI ที่หลายคนยังกังวล ได้แก่
ความเชื่อเดิม: AI ไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ
ความจริงจากงานวิจัย: อุตสาหกรรมที่ใช้ AI มีอัตราเติบโตของผลิตภาพสูงขึ้นเกือบ 4 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2022 โดยเฉพาะสาย software publishing ซึ่งมีรายได้ต่อหัวพนักงานสูงกว่าสามเท่า
ความเชื่อเดิม: AI ทำให้ค่าแรงลดลง
ความจริงจากงานวิจัย: แรงงานที่มีทักษะด้าน AI ได้ค่าจ้างสูงกว่าคนที่ไม่มีทักษะนี้เฉลี่ยถึง 56% เพิ่มจาก 25% เมื่อปีที่แล้ว
ความเชื่อเดิม: AI ทำให้คนตกงานมากขึ้น
ความจริงจากงานวิจัย: แม้บางงานจะได้รับผลกระทบ แต่ตำแหน่งงานในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ AI ยังเติบโตต่อเนื่อง (38%) ขณะที่งานในสายอื่นก็โตเช่นกัน (65%)
ความเชื่อเดิม: AI จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำ
ความจริงจากงานวิจัย: งานวิจัยชี้ว่า AI ช่วยสร้างโอกาสใหม่ เช่น การลดการพึ่งวุฒิการศึกษาลง เปิดทางให้คนที่มีทักษะตรงเข้าถึงงานได้ง่ายขึ้น
ความเชื่อเดิม: AI ทำให้คนหมดทักษะในการทำงาน
ความจริงจากงานวิจัย: งานที่เคยเป็นงานง่าย เช่น การป้อนข้อมูล กลับเปลี่ยนเป็นงานที่ซับซ้อนและมีมูลค่ามากขึ้น เช่น data analysis เพราะคนมีเวลาคิดเชิงวิเคราะห์มากกว่าเดิม
ความเชื่อเดิม: AI ทำให้งานของคุณไร้ค่า
ความจริงจากงานวิจัย: งานที่ดูเหมือนถูก “อัตโนมัติ” กลับถูกปรับให้ซับซ้อน สร้างสรรค์ และต้องใช้การตัดสินใจมากขึ้น ซึ่งเพิ่มมูลค่าให้กับแรงงาน
ทางรอดคือ "การฝึกทักษะให้อาชีพยิ่งเติบโต" ไม่ใช่ "การตัดทอนอาชีพ"
รายงานยังเสนอแนวคิดที่ทรงพลังว่า AI ควรถูกมองเป็น “กลยุทธ์การเติบโต” ไม่ใช่แค่ “แผนลดต้นทุน” บริษัทที่ปรับตัวทัน และเลือกใช้ AI เพื่อเสริมศักยภาพพนักงาน จะสามารถสร้างโอกาสใหม่ ทั้งตลาด รายได้ และนวัตกรรม
ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกเผชิญกับปัญหาจำนวนแรงงานลดลง PwC เชื่อว่า “การเติบโตที่นุ่มนวล” (gentler job growth) อาจเป็นคำตอบที่ช่วยเติมเต็มช่องว่างในตลาดแรงงาน โดยให้ AI เป็นตัวคูณของศักยภาพแรงงานแทนการตัดแรงงานออก
ท้ายที่สุด ทีมวิจัยยังได้สรุปผลการวิจัยฉบับนี้ด้วยประโยคที่น่าคิดไว้ว่า “อย่าติดกับดักของความทะเยอทะยานต่ำ อย่ามัวแต่พยายามทำให้งานในอดีตอัตโนมัติ แต่จงใช้ AI สร้างงานและอุตสาหกรรมแห่งอนาคตแทน” หากคุณคือคนทำงานในยุค AI ..สิ่งสำคัญไม่ใช่การกลัวว่าจะตกงาน แต่คือการเตรียมตัวให้พร้อมเสมอสำหรับโอกาสใหม่ที่เทคโนโลยีกำลังเปิดทางไว้ให้คุณ
อ้างอิง: CNBC Make it