Need สตาร์ทอัป AI ด้านสุขภาพ โมเดลใหม่แห่งการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญกับจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การดูแลรักษามะเร็งส่วนใหญ่มักกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่ ส่งผลให้ผู้ป่วยในพื้นที่ชนบทต้องเดินทางไกลเพื่อเข้ารับการรักษา การเข้าถึงแพทย์เฉพาะทาง บางครั้งอาจจะรอนัดหมายรักษานาน
รัฐบาลไทยมีนโยบาย “มะเร็งรักษาได้ทุกที่” (Cancer Anywhere Program) และโครงการประกันสังคมดูแลผู้ป่วยมะเร็ง (SSO Cancer Care) แต่โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งยังมีผู้ป่วยล้นระบบ ขณะเดียวกันการรักษามะเร็งมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาต่างกันไปตามโรงพยาบาลที่เข้ารับบริการ และต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเองเพิ่มขึ้น หากสิทธิการรักษาหรือประกันสุขภาพไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษามะเร็งทั้งหมด
แม้ว่าเทคโนโลยีและการรักษาโรคมะเร็งก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทว่าแพทย์มักเข้ามามีบทบาทในการดูแลเมื่อมะเร็งอยู่ในระยะที่ 4 และอาจจะไม่มีข้อมูลภูมิหลังของผู้ป่วยอย่างครบถ้วน สตาร์ทอัป AI ด้านสุขภาพ Need จึงได้เกิดขึ้นเพื่อรับมือกับความท้าทายทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่นที่เกิดจากความซับซ้อนและความไม่เท่าเทียมในการดูแลรักษามะเร็ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทำไม? ต้องตรวจคัดกรองมะเร็งตับ เข้าถึงยานวัตกรรม
IMCRANIB 100 ยารักษามะเร็งมุ่งเป้าเม็ดแรกของไทย พระอัจฉริยภาพสมเด็จเจ้าฟ้าฯ
"Need" 3 โหมด ดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ
นพ.วิลเลียม โพลคิงฮอร์น (Dr. William Polkinghorn) ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา (Radiation Oncologist) จาก Harvard Medical School และเคยดำรงตำแหน่งอาจารย์แพทย์ที่ Memorial Sloan Kettering Cancer Center ได้ร่วมก่อตั้ง Need และเป็น CEO แพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขึ้นมาช่วยให้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็สามารถเข้าถึงการดูแลรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพ
โดยเรียกว่า “Cancer Protection System” ขึ้นในปี 2019 เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ให้ทุกคนเข้าถึงการดูแลที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด โดยทำงานร่วมกับบริษัทประกันชีวิตในการกระจายบริการ “Cancer Protection System” หรือระบบปกป้องมะเร็ง ให้กับผู้ถือกรมธรรม์ผ่านผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตต่าง ๆ
ครอบคลุมการดูแลตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังการรักษาโรคมะเร็งผ่าน 3 โหมด ได้แก่
- Healthy Mode: นำเอาข้อมูลสุขภาพเชิงลึกของผู้เอาประกันเพื่อให้คำแนะนำในการดูแลปรับปรุงความเป็นอยู่โดยรวม รวมถึงการป้องกัน เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็ง
- Treatment Mode: หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง แพทย์ของผู้ถือกรมธรรม์จะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี AI ของ Need เพื่อช่วยเสริมข้อมูลให้แพทย์ประกอบการวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคลที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- Recovery Mode: ให้ผู้ถือกรมธรรม์เข้าถึงแนวทางการฟื้นฟูหลังการรักษา เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางร่างกายและจิตใจ พร้อมแนวทางป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
อยู่ที่ไหนก็เข้าถึงการดูแลรักษา
CEO ของ Need ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าการทำงานของ Need จะมีแบบฟอร์มให้คนไข้ยินยอมให้ Need เข้าถึงข้อมูล และแบบฟอร์มที่ให้คนไข้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ Need ขอข้อมูลจากโรงพยาบาล เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเวชระเบียน ผลตรวจทางห้องแล็บ และภาพถ่ายรังสีจากโรงพยาบาลต่างๆของผู้ป่วย ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและข้อกำหนดด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลโดยได้ผ่านการตรวจสอบจากที่ปรึกษากฎหมายระดับโลก
โดยข้อมูลผู้ป่วยทั้งหมดจะถูกจัดเก็บผ่านระบบคลาวด์ เมื่อข้อมูลถูกอัปโหลดแล้ว ระบบ AI จะวิเคราะห์และตรวจสอบความถูกต้อง จากนั้นจะส่งต่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของ Need จากทั่วโลกตรวจทานอีกครั้ง ซึ่งแพทย์เจ้าของไข้สามารถใช้ข้อมูลเชิงลึกจาก Need ประกอบการตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาได้
ซึ่งกระบวนการดูแลมะเร็ง 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.การรวบรวมข้อมูลผู้ป่วย– ประวัติการตรวจสุขภาพ การคัดกรองโรค ประวัติครอบครัวการแปลผลข้อมูลทางการแพทย์–2.การวิเคราะห์ผลแลบ ภาพถ่ายรังสี รายงานทางพยาธิวิทยา ฯลฯ 3.การวางแผนการรักษา– การเลือกสูตรเคมีบำบัด ความถี่ และระยะเวลา 4.การลงมือรักษา– แพทย์เป็นผู้ดำเนินการรักษา
“โรงพยาบาลส่วนใหญ่ทั่วโลกประสบปัญหาการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อนและมีปริมาณมาก เช่น ผู้ป่วยโรคเดียวกัน อาจได้รับแผนการรักษาต่างกันในแต่ละโรงพยาบาล เพราะระบบประมวลผลข้อมูลแตกต่างกัน หรืออาจพลาดข้อมูลสำคัญไป การมีแพลตฟอร์ม Need จะช่วยเสริมศักยภาพแพทย์ได้และทำให้ผู้ป่วยสามารถได้รับการรักษาที่ดีอีกด้วย”
ทั้งนี้ Need เปิดตัวในเกาหลีใต้ในปี 2022 โดยร่วมมือกับ Hanwha Life Insurance บริษัทประกันชีวิตโดยมีผู้ใช้งานระดับหลายแสนรายและมากกว่า 80 % ของแพทย์และผู้ป่วยมีการใช้งานระบบดังกล่าวจริง พบผลลัพธ์เชิงคลินิกที่ชี้ว่า 60% ของข้อมูลทางสุขภาพที่ตรวจพบผ่านระบบ AI สามารถเสริมศักยภาพแพทย์ในท้องถิ่น ให้ผู้ป่วยสามารถได้รับการรักษามะเร็งที่ดี ลดความเครียดทางจิตใจ ข้อจำกัดด้านเวลา และภาระทางการเงินของผู้ถือกรมธรรม์ และได้รับการรักษาที่ทันท่วงที แม้ในพื้นที่ที่ไม่ใช่เขตเมืองใหญ่
“มะเร็ง”ความเสี่ยงที่บริหารจัดการได้
จากการที่ Need ทำงานร่วมกับ Hwanha หนึ่งในบริษัทประกันชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ ช่วยดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลกว่า 130 แห่งในเกาหลีใต้ ดูแลผู้เอาประกันมากกว่า 300,000 ราย โดยใช้แพลตฟอร์มการสื่อสารบนโซเชียล อย่าง Kakao เพื่อใช้ในการสื่อสาร การทำกิจกรรมส่งเสริมการตรวจคัดกรองเชิงรุกและติดตามผล เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อปลูกฝังแนวคิด “การลงมือป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ“ และสร้างความตระหนักรู้เปลี่ยนทัศนคติและความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับ มะเร็งว่าเป็น ความเสี่ยงที่สามารถประเมิน เข้าใจ และบริหารจัดการได้ ด้วยเครื่องมือที่เหมาะสม
ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ได้เปิดตัวโครงการ Need Kids โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยของรัฐ 3 แห่งทั่วประเทศ (PNUH: Pusan National University, KNUH: Kyungpook National University Hospital, JNUH: Jeju National University Hospital) เพื่อช่วยยกระดับผลลัพธ์การรักษามะเร็งในเด็กนอกกรุงโซล
เนื่องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยามี 69 คนทั่วประเทศ และกว่า 50 % มีอายุมากกว่า 50 ปี โดยประมาณ 60 % ของแพทย์กลุ่มนี้ประจำอยู่ในกรุงโซล ทำให้ภูมิภาคอื่นเข้าถึงแพทย์เฉพาะทางได้น้อยมาก ในอีก 12 เดือนข้างหน้า Need จะร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการของเกาหลีใต้ (MOHW)เพื่อวางแผนการบูรณาการและเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุข และขยายไปยังประเทศ ญี่ปุ่น ฮ่องกง
เตรียมจับมือบริษัทประกันชั้นนำของไทย
สำหรับแผนธุรกิจของ Need ในประเทศไทย อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทประกันชั้นนำของไทย รวมทั้งโรงพยาบาลและหน่วยงานรัฐ จากการนำร่องในโรงพยาบาลหลายแห่ง พบว่าแพทย์มีความต้องการนำแพลตฟอร์มของ Need ไปใช้กับผู้ป่วยที่ไม่มีประกันด้วย คาดว่าเร็ว ๆ นี้จะเปิดตัวบริษัทประกันที่ร่วมมือกับ Need ในประเทศไทยได้ อย่างไรก็ตามในแนวทางการรักษาโรคนั้น จะเป็นหน้าที่ของแพทย์เจ้าของไข้ โดย Need ให้การสนับสนุนข้อมูลเชิงลึกที่ชัดเจนจาก AI การตัดสินใจรักษายังคงอยู่ในความรับผิดชอบของแพทย์เสมอ
ทั้งนี้ในประเด็นการรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วย Need ปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และข้อกำหนดด้านความเป็นส่วนตัว โดยได้ผ่านการตรวจสอบจากที่ปรึกษากฎหมายระดับโลกอย่าง Baker McKenzie ข้อมูลผู้ป่วยทั้งหมดจะถูกจัดเก็บภายในประเทศผ่านระบบคลาวด์ของ AWS ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกและมีเซิร์ฟเวอร์ตั้งอยู่ในไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและปฏิบัติตามกฎหมายไทยอย่างเคร่งครัด
“แพลตฟอร์มนี้ถูกออกแบบโดยแพทย์ เพื่อให้แพทย์ทำงานได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพมากขึ้น พูดง่าย ๆ ก็คือ Need คือแพลตฟอร์มที่ช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้แพทย์มะเร็ง ทำงานได้เร็วและแม่นยำมากขึ้น ตามขั้นตอน: data input – data analysis – treatment planning – treatment delivery นั่นเอง โดยจะได้ร่วมมือกับบริษัทประกันเพื่อออกแบบกรมธรรม์ที่สามารถรองรับเทคโนโลยีการรักษาที่มีราคาสูง รวมถึงพัฒนาโปรแกรมเสริม (add-on) ให้ผู้เอาประกันสามารถเลือกซื้อเพิ่มเติมได้”
สำหรับแนวทางการรักษาในการป้องกันมะเร็งแพร่กระจาย คือการรักษาแบบผสมผสาน การตรวจพบแต่เนิ่นๆ และการผ่าตัดเพื่อรักษา ตามด้วยการบำบัดเสริมทั่วร่างกาย ซึ่งรวมถึงเคมีบำบัด การรักษาแบบมุ่งเป้า ภูมิคุ้มกันบำบัด หรือฮอร์โมนบำบัด ซึ่งจะถูกปรับให้เหมาะสมกับลักษณะโมเลกุลของเนื้องอก