สัมพันธ์จีน-ไทย 50 ปี : นศ.ไทยสัมผัสประสบการณ์ ‘พากย์เสียง’ ละครดังในกว่างซี
× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป
หนานหนิง, 5 ก.ค. (ซินหัว) — ณ สตูดิโอพากย์เสียงแห่งหนึ่งในเมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน สองนักศึกษาชาวไทยกำลังตั้งใจพากย์เสียงภาษาไทยประกอบคลิปวิดีโอจากละครโทรทัศน์เรื่อง “ไซอิ๋ว” ตอนซุนหงอคงต่อสู้กับราชาปีศาจเขาทองและเขาเงิน ซึ่งถือเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่ได้เปลี่ยนบทบาทจากคนดูเป็นคนพากย์
ศุภาพิชญ์ ดวงอัน หรือหลัวเจียหมิงจากมหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี และปราณปรียา มั่งทอง หรือโจวชงเจี๋ยจากมหาวิทยาลัยกว่างซี เป็นหนึ่งในนักศึกษาชาวต่างชาติหลายพันคนจากกลุ่มประเทศอาเซียนที่มาเล่าเรียนในกว่างซี และมีโอกาสสัมผัสมิตรภาพจีน-ไทยที่แฝงอยู่ในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมผ่านละครโทรทัศน์และภาพยนตร์
ละครโทรทัศน์และภาพยนตร์เป็นสื่อกลางสำคัญของการสื่อสารทางวัฒนธรรม เปรียบดังสะพานสร้างความเข้าใจและเชื่อมอารมณ์ความรู้สึกระหว่างจีนกับไทยมาเนิ่นนาน โดยปี 2025 ตรงกับวาระครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย จีงมีการจัดงานสัปดาห์สื่อจีน-อาเซียน ครั้งที่ 7 ในกรุงเทพฯ เมื่อไม่นานนี้
จีนและไทยแต่ละฝ่ายได้คัดเลือกภาพยนตร์ 5 เรื่อง เพื่อจัดฉายร่วมกันที่งานสัปดาห์สื่อจีน-อาเซียนครั้งนี้ด้วยเป้าหมายขยับขยายขอบเขตปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมผ่านละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ “กว่างซี” ภูมิภาคแนวหน้าของความร่วมมือจีน-อาเซียน ได้พยายามส่งเสริมพัฒนาอย่างจริงจังเสมอมา
ศูนย์พากย์เสียงจีน-อาเซียนที่ปราณปรียาและศุภาพิชญ์ได้เยี่ยมเยือนนั้นรับหน้าที่พากย์เสียงประกอบละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ของจีนสำหรับฉายในกลุ่มประเทศอาเซียนหลายต่อหลายเรื่อง เช่น “มหาบุรุษพลิกแผ่นดิน” พากย์ภาษาลาว “หกสาวสกุลเหอ” พากย์ภาษาไทย รวมถึง “สามก๊ก” และ “ความฝันในหอแดง” พากย์ภาษาของกลุ่มประเทศอาเซียน
หวงย่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงาน (ภาษาไทย) ประจำศูนย์ฯ กล่าวว่าช่วงไม่กี่ปีผ่านมา ศูนย์ฯ ใช้ระบบแปลอัจฉริยะที่ผสานการทำงานของมนุษย์และเทคโนโลยี ซึ่งยกระดับประสิทธิภาพการแปลบทพูดและกระบวนการหลังการถ่ายทำอย่างมีนัยสำคัญ เกื้อหนุนละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ที่มีคุณภาพสูงก้าวสู่ตลาดโลกอย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
สำหรับปราณปรียาและศุภาพิชญ์ การพากย์เสียงครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการขัดเกลาทักษะภาษา แต่ยังเป็นการเดินทางสู่ความเข้าใจข้ามวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง ซึ่งศุภาพิชญ์กล่าวว่าละครโทรทัศน์ที่เคยดูในไทยนั้นมีคนทำงานหนักอยู่เบื้องหลังมากมาย และนี่เป็นโอกาสดีที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเหล่านั้น
การแลกเปลี่ยนด้านละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ระหว่างจีนกับไทยเป็นการแลกเปลี่ยนแบบสองทาง โดยละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ของไทย เช่น “บุพเพสันนิวาส” และ “หลานม่า” ได้รับความนิยมและสร้างความประทับใจแก่ผู้ชมชาวจีนจำนวนมาก ขณะเมืองหนานหนิงเป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำสำคัญของการผลิตผลงานร่วมกันระหว่างสองประเทศ
จริยา อุ่นทอง หรือจินหย่าลี่ คุณครูชาวไทยที่อาศัยอยู่กว่างซีมาหลายปี กล่าวว่าละครโทรทัศน์และภาพยนตร์มีอิทธิพลต่อมุมมองทางสุนทรียศาสตร์และวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาและความเข้าใจวัฒนธรรม หลายคนพูดภาษาต่างชาติได้เป็นธรรมชาติมากขึ้นและอยากเรียนรู้ภูมิหลังทางสังคมและวัฒนธรรมของประเทศอื่นๆ ด้วย
นอกจากนั้นจริยาเสริมว่าการเผยแพร่ละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ของจีนและไทยผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ยังช่วยสร้างกระแสนิยมชมชอบวิถีชีวิต เสื้อผ้า และอาหารที่แตกต่างจากความคุ้นเคย เช่น นักเรียนชาวจีนหลายคนสนใจชุดไทย ขณะเด็กไทยสนใจเรียนภาษาจีนตามความชอบซีรีสของจีน
ปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมผ่านละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ยังขยับขยายสู่การมีปฏิสัมพันธ์ในชีวิตจริง โดยปราณปรียาและศุภาพิชญ์ได้เห็นผลไม้ไทยอย่างทุเรียน มังคุด และส้มโอ รวมถึงพูดคุยภาษาไทยกับพ่อค้าแม่ขายที่ตลาดผลไม้นานาชาติเจียงหนานในเมืองหนานหนิง
ปราณปรียากล่าวว่าความร่วมมือจีน-ไทยลึกซึ้งยิ่งขึ้น และกว่างซีกำลังกลายเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียน หลังจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้ โดยตัวอย่างที่ชัดเจนคือผลไม้และสินค้าเกษตรจากไทยหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดจีนมากขึ้นผ่านกว่างซี
ห้วงยามสำคัญอย่างวาระครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย ศุภาพิชญ์กล่าวว่าการได้มาเล่าเรียนและใช้ชีวิตที่จีนช่วยให้เข้าใจวลีทองอย่าง “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ยิ่งขึ้น พร้อมหวังว่าจะมีเด็กไทยได้โอกาสรู้จักและเข้าใจจีนอย่างลึกซึ้งผ่านภาษา ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ การค้า และการท่องเที่ยวมากขึ้นในอนาคต