คลื่นความร้อนรุนแรง เสี่ยงฉุดการผลิตน้ำนมทั่วโลกลดลง
ผลการศึกษาที่จัดทำในอิสราเอลพบว่า ภายในปี 2050 ปริมาณน้ำนมเฉลี่ยต่อวันอาจลดลง 4% เนื่องจากความเครียดจากความร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น งานวิจัยพบว่า คลื่นความร้อนที่เกิดบ่อยและรุนแรงขึ้นจะคุกคามการผลิตน้ำนม จากการวิเคราะห์ข้อมูลวัวมากกว่า 130,000 ตัวในช่วงระยะเวลา 12 ปี นักวิจัยรายงานว่า ความร้อนที่รุนแรงส่งผลให้วัวนมผลิตน้ำนมได้น้อยลงถึง 10%
เพียงแค่หนึ่งชั่วโมงที่อุณหภูมิแบบเปียก (wet-bulb temperature) ซึ่งเป็นค่าที่รวมอุณหภูมิอากาศและความชื้น สูงกว่า 26 องศาเซลเซียส ก็สามารถทำให้ปริมาณน้ำนมของวัวในแต่ละวันลดลง 0.5% นอกจากนี้ การสัมผัสกับอุณหภูมิสูงยังมีผลต่อเนื่อง
โดยการผลิตน้ำนมยังคงต่ำกว่าระดับปกติเป็นเวลา 10 วันหลังจากวันร้อนจัดวันแรก เมื่อใช้การคาดการณ์อุณหภูมิในปี 2050 รายงานระบุว่า ภายในกลางศตวรรษนี้ ปริมาณน้ำนมเฉลี่ยต่อวันอาจลดลง 4% เนื่องจากความเครียดจากความร้อนที่รุนแรงขึ้น
กระทบต่อครัวเรือนราว 150 ล้านครัวเรือนทั่วโลก
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยรูซาเล็ม มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ และมหาวิทยาลัยชิคาโก ระบุว่า การลดลงนี้จะส่งผลกระทบต่อครัวเรือนราว 150 ล้านครัวเรือนทั่วโลกที่พึ่งพาการผลิตน้ำนมเป็นหลัก ผลกระทบจากความเครียดจากความร้อนต่อฟาร์มโคนมจะรุนแรงเป็นพิเศษในภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนเกินกว่าครึ่งของการเติบโตของการผลิตน้ำนมทั่วโลกในทศวรรษข้างหน้า
ขณะที่การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงเพิ่มขึ้น ภูมิภาคนี้จะมีความเปราะบางมากขึ้นต่อคลื่นความร้อนที่รุนแรง ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำนมที่ผลิตได้
โคเป็นแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนที่เกิดจากมนุษย์ประมาณหนึ่งในสาม ซึ่งเช่นเดียวกับคาร์บอนไดออกไซด์ มีบทบาทเร่งภาวะโลกร้อน
เกษตรกรได้เริ่มนำกลยุทธ์ปรับตัวมาใช้แล้ว โดยเฉพาะในอิสราเอลซึ่งเป็นสถานที่ศึกษาครั้งนี้ ซึ่งแทบทุกฟาร์มใช้เทคโนโลยีบางรูปแบบเพื่อลดความเครียดจากความร้อน
วิธีการปรับตัวรวมถึงการจัดให้วัวมีที่ร่ม รวมถึงการทำให้วัวเย็นลงโดยตรง เช่น ใช้พัดลมระบายอากาศหรือหัวฉีดน้ำ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบว่า ในวันที่อุณหภูมิเกิน 24 องศาเซลเซียส วิธีทำความเย็นเหล่านี้สามารถลดผลกระทบจากคลื่นความร้อนได้เพียง 40% เท่านั้น
แคลร์ ปาล็องดรี ผู้เขียนหลักของการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ได้เรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบาย พิจารณากลยุทธ์เพิ่มเติม ไม่เพียงเพื่อทำให้วัวเย็นลงเท่านั้น แต่ยังต้องลดตัวกระตุ้นความเครียด เช่น การกักขังและการแยกลูกวัว ซึ่งล้วนทำให้วัวไวต่อความร้อนมากขึ้นและมีความทนทานน้อยลง
อ้างอิงข้อมูล
- theguardian