โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สังคม

นับถอยหลังภาษีสหรัฐ 7 อุตฯเสี่ยง ตกงานนับล้าน “การ์เมนต์ อัญมณี อิเล็กฯ ยางล้อ แปรรูปอาหาร” ติดโผ

ฐานเศรษฐกิจ

อัพเดต 21 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 11 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ลุ้นระทึกก่อนเส้นตาย 1 สิงหาคม 2568 ไทยเตรียมรู้ผลชี้ชะตาอัตราภาษีจากสหรัฐ ว่าจะยังคงโดนเก็บสูงถึง 36% หรือได้ลดลงให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้เท่ากับชาติอาเซียน หากผลลัพธ์ไม่เป็นใจ ไทยจะเสียเปรียบอย่างหนักในการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ทั้งสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม อัญมณีฯ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ แปรรูปอาหาร และผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหรัฐเป็นตลาดส่งออกหลัก

ผลกระทบจะไม่หยุดแค่ภาคการผลิตและแรงงาน แต่จะลามถึงความสามารถในการแข่งขัน การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว หากไทยยังติดกับดักภาษีสูง ขณะที่หากเพื่อนบ้านได้อัตราภาษีต่ำกว่า ไทยอาจกลายเป็นจุดที่นักลงทุน “มองข้าม” ในสมรภูมิเศรษฐกิจโลก

ฉันทนากว่า 4 แสนคนเสี่ยงกระทบ

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ กรรมการที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และอดีตนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่ม (การ์เมนต์) ของไทย ในเดือนที่เหลือของปีนี้

หากภาษีที่สหรัฐจะประกาศออกมาไทยเสียเปรียบและมีอัตราที่สูงกว่าคู่แข่งขัน เช่น เวียดนาม (ได้ภาษี 20% ปิดดีลแล้ว) อินโดนีเซีย (ภาษี 19% ปิดดีลแล้ว) กัมพูชา (ภาษี 36% เจรจาเพิ่มเติม) จะส่งผลให้คู่ค้าหันไปลงคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) จากประเทศเหล่านี้มากขึ้น และลงออร์เดอร์ในไทยลดลง และจะส่งผลให้ผู้ประกอบการของไทย และผู้ประกอบการต่างชาติที่ไปลงทุนในประเทศเหล่านี้อยู่แล้ว จะมีการขยายการลงทุนที่เวียดนาม หรืออินโดนีเซียมากขึ้น และลดขนาดการสั่งซื้อในไทยลง

ทั้งนี้หากที่สุดแล้ว ไทยได้รับอัตราภาษีจากสหรัฐในอัตราสูง เช่นคงไว้ที่ 36% จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มของไทยไปสหรัฐมาก และตัวเลขการส่งออกจะติดลบแน่นอน เพราะการส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยไปสหรัฐมีสัดส่วนมากถึง 38% ของการส่งออกในภาพรวม ซึ่งคงยากที่จะหาออร์เดอร์ที่ไหนมาชดเชยภายในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ

“หากตัวเลขอัตราภาษีที่ไทยได้รับอยู่ที่ 36% จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก และแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงสิ่งทอที่มีแรงงานรวมกันอยู่ประมาณ 4 แสนคนอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดีโดยส่วนตัวมองว่าอัตราภาษีที่ไทยจะได้รับจากสหรัฐน่าจะอยู่ในช่วง 20-25%

หากเป็นเช่นนั้นอัตราภาษีสินค้าไทยไปสหรัฐก็ไม่เสียเปรียบมาก ลูกค้าก็น่าจะยังอยู่กับเรา ทั้งนี้คงต้องรอสหรัฐประกาศภาษีขั้นสุดท้ายออกมาว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าอยู่ที่ 36% ก็ตัวใครตัวมัน ดร็อปยาวแน่นอน แต่หากได้ที่อัตรา 20-25% เราก็ยังพอแข่งขันได้ ออร์เดอร์ก็จะยังมาที่ไทย คนงานก็ยังมีงานทำ ต้องรอลุ้นว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร”

8 แสนแรงงานอัญมณีระส่ำ

ด้าน นายสมชาย พรจินดารักษ์ ประธานสมาพันธ์สมาคมอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไปสหรัฐในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากลูกค้าเร่งนำเข้า โรงงานผลิตของไทยก็เร่งส่งออกก่อนไทยจะถูกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) จากสหรัฐ ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าสุดท้ายแล้วอัตราภาษีที่ไทยได้รับจะเป็นอัตราเท่าใด

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยถูกสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าในอัตราปกติทั่วไป (อัตรา MFN) เฉลี่ยที่ 6-7% ล่าสุดได้ปรับขึ้นเป็น 10% (ตามอัตราภาษีพื้นฐานที่สหรัฐเรียกเก็บจากประเทศคู่ค้าทั่วโลกเมื่อเดือนเมษายน)

สำหรับมุมมองอัตราภาษีตอบโต้ที่ไทยจะได้รับจากสหรัฐในอัตรา 20% เท่ากับเวียดนาม คงเป็นไปได้ยาก ถ้าได้อัตรานี้ถือว่าเป็นปาฏิหาริย์ เพราะเวียดนามเทหมดหน้าตักโดยยอมลดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐลงเป็น 0% ทุกรายการ พ่วงซื้อสินค้าจากสหรัฐมูลค่าอีกหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไทยไม่สามารถลดภาษีสินค้าทุกรายการเป็น 0% ให้กับสหรัฐได้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนของไทย เฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก

“ส่วนตัวมองว่าอย่างเก่งที่สุดอัตราภาษีที่ไทยจะได้รับจากสหรัฐจะอยู่ที่ระดับ 25% เพราะสหรัฐมีความกังวลกับไทยในหลายเรื่อง เช่น สินค้าสวมสิทธิ์จีน และจากต่างประเทศที่ส่งเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐ และเขาอยากมาตั้งฐานทัพอเมริกันในไทยซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องลึก ๆ ของเขา แม้เราจะปฏิเสธก็ตาม”

อย่างไรก็ตาม หากที่สุดแล้วอัตราภาษีที่ไทยได้รับจากสหรัฐเสียเปรียบคู่แข่งขัน ที่เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอัญมณี เช่น อินเดีย จีน รวมถึงเวียดนามที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับรายใหม่ที่มีนักลงทุนต่างชาติเข้าตั้งฐานการผลิตและส่งออกไปสหรัฐ และส่งออกไปประเทศต่าง ๆ ที่เคยเป็นตลาดของไทย จะส่งผลให้โรงงานผลิตในไทยมีการปิดตัวมากกว่าการตั้งใหม่ และจะกระทบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้ที่ปัจจุบันมีแรงงานอยู่ประมาณ 7-8 แสนคน (จากอดีตมีกว่าล้านคน)

หากแรงงานในส่วนนี้ต้องหมดอาชีพ โอกาสที่จะฝึกทักษะคนรุ่นใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากปัจจุบันคนรุ่นใหม่หันไปประกอบอาชีพอื่น ที่ได้เงินดีกว่า และเร็วกว่า

ลุ้นนักลงทุนมะกันช่วยได้ภาษีต่ำ

ขณะที่ ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากสหรัฐคงอัตราภาษีนำเข้าสูงสำหรับสินค้าไทย และทำให้เสียเปรียบคู่แข่งขัน เฉพาะอย่างยิ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เช่น มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ที่ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์คล้ายกัน อาจทำให้คู่ค้าโยกออร์เดอร์ไปผลิตในประเทศเพื่อนบ้านแทน เพราะทุกวันนี้สามารถทำได้ง่ายมาก

ทั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตในไทย โรงงานที่เป็นมือปืนรับจ้างผลิต รวมถึงซัพพลายเออร์ต้นน้ำที่เป็นผู้ผลิตของไทยที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้ที่มีอยู่ประมาณ 6 แสนคน (5-10 ปีก่อนหน้านี้มีกว่า 8-9 แสนคน แต่จากการพัฒนาเทคโนโลยีทำให้การใช้แรงงานคนลดลง และใช้เครื่องอัตโนมัติในการผลิตเพิ่มขึ้น) นอกจากนี้จะส่งผลกระทบต่อรายได้ประจำ รายได้จากค่าโอที และจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในภาพรวม

เมื่อถามว่า บริษัทด้านอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐที่มาลงทุนในไทยจำนวนมากได้ช่วยเจรจากับทางสหรัฐ เพื่อเว้นภาษีนำเข้าเป็น 0% ให้กับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศไทย หรือให้ได้รับภาษีในอัตราต่ำหรือไม่

ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า ในเชิงลึกผู้ประกอบการของสหรัฐในไทยได้ให้ข้อมูลและได้ช่วยเจรจากับทางการของสหรัฐในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ดีคงไม่สามารถเดาใจประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ว่าจะประกาศอัตราภาษีไทยที่เท่าไร ซึ่งต้องรอลุ้นอีกไม่กี่วันข้างหน้านับจากนี้ ทั้งนี้หากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากไทยถูกสหรัฐเก็บภาษีในอัตราที่เสียเปรียบคู่แข่งขัน อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการจากยุโรป เกาหลีใต้ และสหรัฐที่จะมาลงทุน หรือขยายการลงทุนในไทยในช่วงนับจากนี้ อาจจะย้ายการลงทุนไปประเทศอื่นแทน

ล้อยาง-ถุงมือยางสะเทือน

ขณะที่นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมยางพาราไทย เผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติมาตั้งฐานผลิตล้อยางรถยนต์และผลิตภัณฑ์ยางในไทยเพื่อส่งออก ทั้งจากค่ายยุโรป ญี่ปุ่น จีน โดยมีตลาดใหญ่ที่สหรัฐ หากไทยถูกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราสูงและเสียเปรียบคู่แข่งขัน นอกจากไทยจะส่งออกยางล้อรถยนต์ไปสหรัฐได้ลดลงแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อแรงงานในอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ รวมถึงถุงมือยางของไทยที่มีแรงงานในอุตสาหกรรมรวมกว่า 1 แสนคน

ด้าน นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ประเมินว่า กรณีไทยไม่สามารถลดภาษีเป็นศูนย์ให้กับสินค้าสหรัฐ โดยเฉพาะภาคเกษตร อย่างข้าวโพด มันสำปะหลัง หมู เนื้อวัว ฯลฯ จะส่งผลถึงกำแพงภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซ้ำร้ายกว่านั้นอัตราภาษีที่ได้รับ น่าจะสูงกว่าประเทศคู่แข่งทั้งอินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งจะกระทบต่อภาคผลิตอุตสาหกรรมของไทย นำมาซึ่งการเสี่ยงตกงานสำหรับผู้ใช้แรงงาน เพราะต้นทุนที่สูงกว่าและอาจมีผลต่อการย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม อินโดนีเซียที่ได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีตอบโต้สหรัฐฯ ต่ำกว่า

กระทบแรงงานหลายล้านชีวิต

ด้านผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ กล่าวว่า เบื้องต้นประเมินว่าการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐ ยังไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคค้าปลีกในประเทศแต่อย่างใด แต่คาดว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบในระยะยาวคือ ภาคอุตสาหกรรม ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงภาคการเกษตร ที่มุ่งเน้นการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยเอง ต้องปรับลดต้นทุนวัตถุดิบให้ต่ำที่สุด เพื่อให้เมื่อส่งออกไปแล้วสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นได้

“นอกจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาษีสหรัฐ ซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะในภาคแรงงาน ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าในภาคส่งออกมีแรงงานที่เกี่ยวข้องราว 1-2 ล้านคน ส่วนภาคเกษตรก็มีอีกหลายล้านคน ส่วนซัพพลายเชนมีแรงงานอีก 2-3 ล้านคน หากเกิดปัญหาก็จะกระทบแรงงานหลายล้านชีวิต ซึ่งภาครัฐจะต้องเตรียมแผนรับมือในอนาคตด้วย”

Midea พร้อมรับมือภาษีมะกัน

ขณะที่ นายแจ๊ปสัน ไจ๋ ผู้อำนวยการ Midea Building Technology ประเทศไทย กล่าวว่า หากที่สุดแล้วสหรัฐยังคงภาษีนำเข้าสินค้าไทยที่ 36% จะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อผลิตภัณฑ์ของไทย โดยเฉพาะการชะลอตัวของการส่งออก เนื่องจากภาระภาษีที่สูงจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐลดลง และอาจลดแรงจูงใจของนักลงทุนบางกลุ่ม

ทั้งนี้ ไมเดีย ประเทศไทย ได้ลงทุนก่อตั้งโรงงานใหม่มูลค่า 2,200 ล้านบาท ที่ระยองบนพื้นที่ 46 ไร่ ที่นิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี ระยอง กำลังผลิตเครื่องปรับอากาศ 6 แสนเครื่องต่อปี มีพนักงานราว 1,000 คน เพิ่งเปิดดำเนินการผลิตเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยโรงงานแห่งนี้เน้นผลิตเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ ส่งออกไปสหรัฐ ในสัดส่วนกว่า 90% ซึ่งขณะนี้บริษัทเตรียมแผนธุรกิจที่ยืดหยุ่นและแข็งแกร่งในการรับมือกับความท้าทายนี้ โดยยังไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ทั้งด้านการผลิตและแรงงาน

“เรามีความเชื่อมั่นในทีมเจรจาของรัฐบาลไทยที่เดินหน้าเจรจากับทางสหรัฐฯ นอกจากนี้ ไมเดียยังมีการขยายตลาดในประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อลดการพึ่งพิงตลาดส่งออกที่อาจได้รับ" นายแจ๊ปสัน กล่าว

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ฐานเศรษฐกิจ

กรมทะเล ตรวจสุขภาพ-ปล่อยเต่าทะเล พร้อมติดอุปกรณ์ดาวเทียม

12 นาทีที่แล้ว

ซัมซุง เปิด Galaxy Watch 8 ชูฟีเจอร์วัดสารต้านอนุมูลอิสระครั้งแรกในโลก

24 นาทีที่แล้ว

“ราช กรุ๊ป” ลุยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก ป้อนไฟฟ้าสะอาด ดึงนักลงทุนเข้านิคมฯ

24 นาทีที่แล้ว

อัปเดตศึก "ภาษีทรัมป์" ใครปิดดีลได้เท่าไหร่ แลกอะไรบ้าง ไทยถึงจุดไหน

37 นาทีที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความสังคมอื่นๆ

หมอพรทิพย์ ชี้คดี แตงโม-น้องเมย สะท้อนปัญหากระบวนการยุติธรรม

สยามนิวส์

คดี "น้องเมย" สู้คดีศาลทหาร ยุติธรรมหรือไม่?

Thai PBS

ประกาศ กปน.ด่วนมาก!! คืนวันนี้ 23 ก.ค. 68 น้ำไหลอ่อนไม่ไหล ถนนเจริญกรุงตัดถนนสาทรใต้ ปรับปรุงระบบท่อประธาน

สวพ.FM91

ปตท. - กองทัพเรือ เดินหน้าความปลอดภัยการขนส่งพลังงานทางทะเล เสริมแกร่งความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

สวพ.FM91

สุนัขต้องมีคนเฝ้าถึงจะยอมกิน แก้อย่างไรให้กินได้อย่างมั่นใจ

ThaiNews - ไทยนิวส์ออนไลน์

'หวยเกษียณ' ฉลุย มติสภาฯเห็นชอบวาระ3 ส่งวุฒิสภาพิจารณาตราเป็นกฎหมาย

ฐานเศรษฐกิจ

ลุยน้ำช่วยด่วน 4 ชีวิตติดบ้าน น้ำป่าหลากซัดพื้นที่ถนนเสียหาย

สยามนิวส์

บิ๊กต่าย อยากเจอครอบครัวน้องเมย ขอเคลียร์ใจ ปมคู่กรณีได้เป็นตำรวจใต้ผู้บังคับบัญชา หลังเกิดเหตุ

สยามนิวส์

ข่าวและบทความยอดนิยม

Loading...