ญี่ปุ่นเจอปัญหาเสาไฟจราจรเยอะเกิน บางเสาอยู่บนเขาที่ไม่มีคนอยู่แล้ว สวนทางจำนวนประชากรที่ลดลง
ว่ากันด้วยเรื่องของ ‘ไฟแดง’ หากมีน้อยไปก็ไม่ดี หรือถ้ามีมากไปอย่างที่ญี่ปุ่นก็ไม่ดีเช่นกัน
ญี่ปุ่นมักจะถูกยกให้เป็นประเทศที่มีสัญญาณไฟจราจรมากที่สุดประเทศหนึ่ง และคนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเองก็เห็นเป็นเช่นนั้น แม้จะเข้าใจดีว่าเสาไฟจราจรพวกนี้จะช่วยควบคุมการสัญจร แต่ปัญหาที่ตามมาในเวลานี้กลับมีมากกว่าแค่ความรำคาญที่ต้องติดไฟแดงทุกๆ 500 เมตร
สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น (NPA) ระบุว่า อายุขัยของเสาไฟจราจรจะอยู่ที่ 19 ปี แต่จากการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว (2024) พบว่า มีเสาไฟถึง 51,302 ต้น ที่มีอายุ 19 ปี หรือมากกว่านั้น ซึ่งคิดเป็น 25% ของเสาไฟทั่วญี่ปุ่นทั้งหมดที่มีจำนวนราว 200,000 ต้น และถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา
และด้วยความเก่าแก่ของเสาไฟ ปัญหาที่ตามมาจึงมีตั้งแต่ ไฟหรี่ ไปจนถึงเสาพังล้มลง โดย NPA ยังระบุด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา มีเหตุการณ์เสาไฟล้มลงมา 11 ต้นแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าอายุก็เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลให้เสาไฟล้มก็คือ ‘หมาฉี่ใส่’ มากเกินไปนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนเสาไฟทั้งหมดนี้ก็ต้องใช้งบประมาณอย่างมาก ในขณะที่ NPA ก็มุ่งเป้าไปที่การถอดไฟจราจรที่ไม่จำเป็นออกแทน เพื่อลดภาระ โดยวางแผนจะถอดเสาไฟ 4,200 ต้น ภายในปี 2029 และปีที่แล้วก็ถอดสำเร็จไปแล้ว 679 ต้น
เรื่องเสาไฟแก่ในญี่ปุ่นทำให้เกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ ชาวญี่ปุ่นหลายคนดีใจที่ไฟจราจรจะน้อยลง แต่ก็อดโกรธไม่ได้ที่รัฐบาลไม่ยอมจัดการมันเหมาะสมสักที มีความเห็นหนึ่งบอกว่า ต้องติดไฟแดงอยู่บนเขา โดยที่ไม่มีใครอยู่บนถนนด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นทำให้เสียเวลาอย่างมาก
และบางคนบอกว่า อยากจะไปกราบไหว้ไฟจราจรมากที่ทำงานมาหลายปี ขณะที่บางคนก็บอกว่า ดีจริงๆ ที่ภาษีของเราไม่ได้ถูกเอาไปใช้ในทางที่ควร แม้เมื่อก่อนนักการเมืองท้องถิ่นจะภูมิใจที่ช่วยติดตั้งไฟใหม่ แต่ตอนนี้มันมากเกินไปแล้ว
นอกจากปัญหาประชากรสูงวัยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของประเทศแล้ว ญี่ปุ่นยังประสบกับปัญหาเสาไฟล้น (แถมอายุเยอะ) ด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก