‘รักษาการนายกฯ’ไร้อำนาจกดปุ่ม? ชิงตัดหน้า‘ยุบสภา’ยิ่งยุ่งเหยิง
ตามประวัติศาสตร์นายกรัฐมนตรีใน ‘ระบอบทักษิณ’ ไม่เคยมีใครจบด้วยการ‘ลาออก’
นายกฯ ตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย มักจบลงด้วย ‘รัฐประหาร’ และ ‘นิติสงคราม'
‘ทักษิณ ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรียุคพรรคไทยรักไทย หลุดจากตำแหน่งด้วยการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
‘สมัคร สุนทรเวช’ นายกรัฐมนตรียุคพรรคพลังประชาชน ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ กรณีเป็นลูกจ้างจัดรายการชิมไปบ่นไป และยกโขยงหกโมงเช้า
‘สมชาย วงศ์สวัสดิ์’ นายกรัฐมนตรียุคพรรคพลังประชาชน ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งนายสมชายเป็นกรรมการบริหารพรรค
‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี ยุคพรรคเพื่อไทย ตัดสินใจยุบสภา จัดให้มีการเลือกตั้ง แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ จากนั้นไม่นาน น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง กรณีโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มิชอบ และสุดท้ายจบลงด้วยการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรียุคพรรคเพื่อไทย ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งกรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ขณะที่ปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องกรณีคลิปสนทนาระหว่าง ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี กับ สมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา พร้อมทั้งสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
มีเสียงเรียกร้อง ทั้งให้ ‘แพทองธาร’ ลาออกจากตำแหน่ง และให้ยุบสภา
หากดูประวัติศาสตร์ข้างต้น‘นายกฯ ในระบอบทักษิณ’ ไม่มีคนไหนยอมลาออกเอง และอาจเป็นอุปนิสัยของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่ไม่เคยยอมทำตามเสียงเรียกร้องของสังคม มาตั้งแต่ม็อบพันธมิตรฯ กปปส. หรือม็อบใดๆ มักจะยื้อไว้ จนสุดท้ายมี ‘นิติสงคราม’ หรือ ‘รัฐประหาร’ เสมอ
ส่วนการยุบสภา ปัจจุบัน ‘แพทองธาร’ ไร้อำนาจกดปุ่มแล้ว เพราะอยู่ระหว่างถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
ขณะที่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น แม้อาจมี แต่อาจยาก เพราะยังเป็นข้อถกเถียงกันว่า ‘รักษาราชการแทนนายกฯ’ ซึ่ง ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ รองนายกฯ รมว.มหาดไทย ทำหน้าที่อยู่ มีอำนาจกดปุ่มยุบสภาหรือไม่
แม้ก่อนหน้านี้ ‘เนติบริกร’- นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ จะออกมาระบุว่า ทำได้ แต่นั่นเป็นความเห็นทางกฎหมายของผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีผลผูกพันองค์กรใดๆ
ขณะเดียวกัน ศิษย์ก้นกุฏิอย่าง ‘ปกรณ์ นิลประพันธ์’ ที่ ‘วิษณุ’ ผลักดันจนได้มาเป็น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา จนถึงปัจจุบัน ออกมาให้ความเห็นทางกฎหมายสวนทางกับอาจารย์
“รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกฯ จึงไม่มีอำนาจเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี หรือเสนอให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง เพราะรองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯ นั้นเป็นเพียงรัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งได้รับความไว้วางใจจากนายกฯ เฉกเช่นเดียวกับรัฐมนตรีคนอื่น ไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาให้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร จึงจะแต่งตั้งหรือปลดรัฐมนตรีคนอื่นๆ มิได้
หรือยิ่งไปกว่านั้นคือ รองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯ จะเสนอให้ยุบสภา ถ้ายังมีผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ ยิ่งไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้ได้รับความไว้วางใจจากสภาให้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร หากเป็นเพียงผู้ซึ่ง นายกฯ ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ว่าเป็นผู้สมควรไว้วางใจให้แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเท่านั้น การยุบสภาจึงเป็นอำนาจเฉพาะของนายกฯ เท่านั้น”
นี่เป็นความเห็นของ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่นอกจากโพสต์ในเพจเฟซบุ๊กของตัวเอง ยังได้ให้ความเห็นกับรัฐมนตรีในห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ก.ค.
สำหรับ คณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นหน่วยงานที่คอยให้คำปรึกษาและให้ความเห็นทางกฎหมายรัฐบาล แต่ไม่ได้มีผลผูกพันกับองค์กรใดๆ เช่นกัน
ฉะนั้น รัฐบาลจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้
จะฟัง ‘วิษณุ’ หรือจะฟัง ‘ปกรณ์’ หรือจะไม่ฟังใครเลยก็ได้ ย่อมเป็นสิทธิ์ในการตัดสินใจ
แต่การหยิบเรื่องนี้มาสอบถามเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในที่ประชุม ครม. มันมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเรื่อง ‘ยุบสภา’ อาจจะเป็นหนึ่งในความคิดของใครสักคน ไว้ใช้สำหรับเป็นทางหนีทีไล่หรือไม่
หาก ‘แพทองธาร’ รอดในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ กลับมาทำหน้าที่นายกฯ ต่อ เรื่องยุบสภาในเร็วๆ นี้อาจไม่เกิดขึ้น แต่การมาพูดเรื่องยุบสภาในตอนนี้ มันน่าคิดว่า กำลังมีใครจะใช้การยุบสภาตัดหน้าก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาหรือไม่
มีการพูดกันว่า เป็นไปได้หากเห็นว่า ‘แพทองธาร’ รอดยากแล้ว
แต่กระนั้น วิธีนี้เป็นวิธีที่สุ่มเสี่ยง และอาจก่อให้เกิดปัญหายุ่งเหยิงตามมาหลปายประการ เพราะกรณีเรื่องรักษาราชการแทนนายกฯ มีอำนาจกดปุ่มยุบสภาหรือไม่ ยังไม่เคลียร์ ไม่ชัดเจน
หากตัดสินใจทำ นี่คือ การลุยไฟเช่นกัน
ส่วนเรื่องการ ‘ลาออก’ ไม่เคยมีนายกฯ ในระบอบทักษิณคนไหนเคยทำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า มันจะไม่มีครั้งแรก
เพียงแต่ ‘ลาออก’ แล้วคุ้มหรือไม่ เพราะไม่ได้หมายความว่า จะหลุดคดีในศาลรัฐธรรมนูญในทันที เนื่องจากศาลสามารถพิจารณาต่อได้
รวมถึงลาออกไป แผนต่อไปคืออะไร หากดัน ‘ชัยเกษม นิติสิริ’ แคนดิเดตนายกฯ คนสุดท้ายของพรรคเพื่อไทยขึ้นมารับไม้ต่อ มันอาจจะทำงานลำบาก เพราะพรรคร่วมรัฐบาลจะมีพลังอำนาจต่อรองมหาศาลยิ่งกว่าตอน ‘แพทองธาร’ เสียอีก
ไปทางไหนก็ไม่ดีต่อพรรคเพื่อไทย อยู่ที่ว่า จะใช้วิธีไหนที่เสียหายน้อยที่สุด!.