“อียู-อินโดนีเซีย” บรรลุ “ข้อตกลงการเมือง” ปูทางปิดดีลเอฟทีเอ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ว่านางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ( อีซี ) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป ( อียู ) กล่าวหลังการพบหารือกับพล.ท.ปราโบโว ซูเบียนโต ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่กรุงบรัสเซลส์ ว่าทั้งสองฝ่ายบรรลุ "ข้อตกลงทางการเมือง" เพื่อปูทางสู่การสรุปเนื้อหาของข้อตกลงการค้าเสรี ( เอฟทีเอ ) โดยจะมีการสรุปภายในเดือนก.ย.นี้
ทั้งนี้ อียูซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 27 ประเทศ และอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจรจาเพื่อจัดทำเอฟทีเอร่วมกัน โดยใช้เวลายาวนานและต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559
ฟอน แดร์ เลเยน กล่าวว่า ความร่วมมือทางการค้าระหว่างอียูกับอินโดนีเซีย "มีศักยภาพที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกมาก" และมองว่า พัฒนาการดังกล่าวเกิดขึ้น "ในช่วงเวลาที่เหมาะสม" เพราะจะนำมาซึ่งการเปิดตลาดใหม่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหลัก ในกิจกรรมทางธุรกิจและการเกษตร ยานยนต์ และภาคบริการ
ขณะที่พล.ท.ปราโบโวกล่าวว่า ยุโรปยังคงเป็นตลาดที่สำคัญมากสำหรับอินโดนีเซีย แต่สหรัฐยังคงเป็น "ผู้เล่นซึ่งมีบทบาทสำคัญที่สุด" จากการที่อินโดนีเซียได้รับจดหมายแจ้งอัตราภาษี 32% และ 30% สำหรับอียู ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ส.ค. นี้ หากแต่ละฝ่ายไม่สามารถเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐได้
ตอนนี้ อียูเป็นคู่ค้าที่ใหญ่เป็นอันดับห้าของอินโดนีเซีย โดยการค้าระหว่างสองฝ่ายมีมูลค่าสูงถึง 30,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 975,074.06 ล้านบาท ) เมื่อปี 2567
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายทวีความตึงเครียดอย่างหนัก เมื่ออียูออกกฎหมายห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้กับอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก กระนั้น อียูเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไปจนถึงสิ้นปีนี้.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES