ฝันร้ายฮ่องกง ยุคเงินหาง่ายจบแล้ว! ‘หนี้เสีย’ จ่อพุ่งสูงสุดรอบ 20 ปี
เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า เป็นเวลาหลายปีที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของฮ่องกง และตระกูลผู้ก่อตั้งบริษัทเหล่านั้น ได้รับวงเงินสินเชื่อจำนวนมากจากธนาคาร “โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน” ส่วนหนึ่งมาจากความสัมพันธ์อันยาวนาน ฐานะทางการเงินที่ไร้ที่ติ และความกระตือรือร้นของธนาคารที่จะคว้าข้อตกลงใหญ่มาให้ได้ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยยังคงต่ำ และราคาอสังหาริมทรัพย์ ก็พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ช่วงเวลาของเงินที่ได้มาโดยง่าย ได้ “สิ้นสุดลงแล้ว” ราคาบ้านในฮ่องกงร่วงลงไปแล้วกว่า 25% จากจุดสูงสุดในปี 2021 โดยบริษัทตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ CBRE คาดการณ์ว่า อัตราการว่างของพื้นที่สำนักงานในย่านธุรกิจสำคัญๆ อาจสูงขึ้นเกือบ 19% ภายในสิ้นปีนี้ และการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของฮ่องกง ชะลอตัวลงเหลือ 2.5% ในปี 2024 ลดลงจาก 3.2% ในปีก่อนหน้า
ความตึงเครียดในระบบการเงินของฮ่องกง กำลังแพร่จากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบปัญหาขาดแคลนเงินสด ไปยังธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีการให้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15% ของพอร์ตโฟลิโอสินเชื่อทั้งหมด อ้างอิงจากสถาบันอันดับเครดิต Fitch Ratings
ทั้งนี้ สินเชื่อที่มีการจัดชั้นลูกหนี้ของธนาคารในฮ่องกง แบบไม่สามารถเรียกเก็บคืนได้ทั้งหมดหรือบางส่วน ได้เพิ่มขึ้นเกือบ 2% ของยอดรวมทั้งหมดในไตรมาสแรกของปีนี้ ตามข้อมูลจากธนาคารกลางของฮ่องกง ซึ่งมาจากการตั้งสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น และการด้อยค่าของสินทรัพย์ อันเนื่องจากความอ่อนแอของตลาดอสังหาริมทรัพย์
Fitch Ratings คาดการณ์ว่า อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพาณิชย์ในฮ่องกงอาจสูงถึง 2.3% ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ S&P Global Ratings ระบุว่า อัตราส่วนดังกล่าวคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง (ระหว่าง 2% ถึง 2.5%) ตลอดสองปีข้างหน้า และข้อมูลจากธนาคารกลางฮ่องกงแสดงให้เห็นว่า ภาคธนาคารไม่เคยเห็นอัตราส่วนหนี้เสียเกิน 2% มาเกือบสองทศวรรษแล้ว
ทั้งนี้ ธนาคารในฮ่องกงตกอยู่ใต้การจับตาอยู่แล้ว เนื่องจากวิกฤติตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนแผ่นดินใหญ่ ผู้ให้กู้ เช่น HSBC และ Standard Chartered รายงานการด้อยค่าของสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับจีนหลายพันล้านดอลลาร์ฮ่องกง อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของอสังหาริมทรัพย์ในท้องถิ่นกลับเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่า
ด้าน S&P ได้เตือนในรายงานเดือนมิถุนายน ว่า "ธนาคารขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงกระจุกตัวอยู่กับผู้พัฒนาที่มีภาระหนี้สูงหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์ชั้นดี มีแนวโน้มที่จะเผชิญแรงกดดันมากขึ้น”
ในทางตรงกันข้าม S&P ระบุว่า “สถาบันขนาดใหญ่จะค่อนข้างทนทาน พอร์ตโฟลิโอสินเชื่อที่หลากหลาย หลักประกันที่เพียงพอ และมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อที่สมเหตุสมผล มีแนวโน้มปกป้องพวกเขาให้ผ่านพ้นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำนี้ไปได้”
เมื่อเดือนที่แล้ว Moody's ได้ปรับลดอันดับเครดิตของ Dah Sing Bank ซึ่งเป็นธนาคารท้องถิ่นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 1.32 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง โดยอ้างถึงความเสี่ยงด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงของธนาคารรวม 2.1 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง ณ สิ้นปี 2024 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าสี่เท่าจากปีก่อนหน้า อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพโดยรวมของธนาคารอยู่ที่ 3.2% ในช่วงเวลาดังกล่าว เพิ่มขึ้นจาก 1.9%
เมื่อต้นปีนี้ Hang Seng Bank ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ HSBC Holdings รายงานอัตราส่วนหนี้เสียที่น่าตกใจกว่า 6% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ในฮ่องกง
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธนาคารส่วนใหญ่ได้ควบคุมปัญหาหนี้เสียของตนได้โดยการขยายเวลาหรือเลื่อนการชำระหนี้ให้กับผู้กู้ที่ประสบปัญหา พวกเขาอดทนต่อการละเมิดข้อตกลงมากมายเกี่ยวกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ตราบใดที่ผู้กู้ยังคงชำระดอกเบี้ยได้ตรงเวลา
แมต ชอย นักวิเคราะห์จาก Fitch กล่าวว่า “การที่เงินกู้จะด้อยคุณภาพหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างธนาคารกับผู้กู้แต่ละราย” เขากล่าวเสริมว่า “การเจรจาที่ล้มเหลวอาจส่งผลให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญที่เรากำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิดในผลประกอบการระหว่างกาลที่จะมาถึง”
อ้างอิง: nikkei
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์