สว.นพดล เตรียมเสนอญัตติ ร่วมแก้ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์-แก๊งคอลเซ็นเตอร์
สว.นพดล เตรียมเสนอญัตติ ร่วมแก้ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์-แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลังกลไกรัฐจัดการไม่ทันท่วงที เชื่อ หากเอาจริงเอาจังแก้ไม่ยาก เหตุรวบกระทรวงสำคัญไว้หมด ชี้ หากล้มเหลวโยนบาปให้คนอื่นไม่ได้
วันนี้ (12 ก.ค. 68) นายนพดล อินนา สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เตรียมเสนอญัตติตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน ซึ่งจะพิจารณาในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 15 ก.ค. โดยระบุว่า เรื่องนี้เป็นปัญหามานานมาหลายปี โดยเฉพาะปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งปัญหานี้รัฐบาลดำเนินการมาตลอด ถึงแม้จะมีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ไซเบอร์ฉบับใหม่ บังคับใช้มาหลายเดือน แต่ปัญหายังไม่ลดลงเท่าที่ควร หรือยังไม่ลดลงแบบมีนัยยะสำคัญ จึงคิดว่าวุฒิสภาควรเข้ามาศึกษาและเสนอแนะ
นายนพดล กล่าวว่า หากเราเอาจริงเอาจังบังคับใช้กฎหมายก็ไม่ยาก เพราะผู้ประกอบการตามแนวชายแดนก็เป็นคนไทยเป็นส่วนใหญ่ เพื่อนบ้านใช้สัญญาณต่าง ๆ ของประเทศไทยแล้วกลับมาทำร้ายประเทศไทยเอง ถ้ารัฐบาลสามารถแก้ไขได้ดี ก็จะเป็นผลงานของรัฐบาล ในทางกลับกัน ถ้าทำไม่ได้ ก็จะเป็นผลเสีย จะโทษใครก็ไม่ได้
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระบุว่า ความเสียหายของอาชญากรรมทางออนไลน์ วันที่ 1 ม.ค. - 18 มิ.ย. 68 มีมูลค่าถึง 12,779,626,726 บาท สามารถอายัดบัญชีได้ทันเพียงร้อยละ 2 หรือเพียง 295,764,203 บาท
จากปัญหาดังกล่าวซึ่งเป็นเรื่องภัยคุกคามที่เร่งด่วนและกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมไทยจนเกินกว่าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับมือป้องกันได้อย่างทันท่วงที จึงสมควรที่วุฒิสภาจะมีข้อเสนอแนะหรือให้คำแนะนำและร่วมเร่งหาทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
ก่อนหน้านี้ การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เมื่อวันที่ 9 ก.ค. มีการพิจารณาญัตติเสนอให้วุฒิสภาตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่มีความสำคัญ 4 ด้าน ในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 15 ก.ค. ประกอบด้วย
1.กมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
2. กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน
3. กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาและติดตามตรวจสอบการแก้ไขปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดนของประเทศไทยแบบบูรณาการ
4. กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ทั้งนี้ มีกำหนดเวลาการพิจารณาศึกษา 90 วัน