ทบ.ยก อนุสัญญาออตตาวา ขู่กัมพูชา หากพบกับระเบิดวางใหม่
เมื่อวันที่ 17 ก.ค.68 กองทัพภาคที่ 2 ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงกรณี ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์กำลังพลประสบเหตุจากการเหยียบกับระเบิด ในพื้นที่ช่องบก อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีข้อสันนิษฐานว่าเป็นการวางทุ่นระเบิดใหม่ นั้น
กองทัพภาคที่ 2 ขอชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา กำลังพลจากหน่วยร้อย ร.6021 ได้ปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนรักษาความสงบในพื้นที่ช่องบก และประสบเหตุเหยียบกับระเบิด ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย
หน่วยจึงได้ดำเนินการถอนกำลังออกจากพื้นที่เกิดเหตุทันที เพื่อเร่งนำผู้ได้รับบาดเจ็บส่งรักษาที่โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ โดยในขณะนั้นยังไม่ได้ทำการพิสูจน์ทราบพื้นที่ เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดอันตรายเพิ่มเติม
ต่อมาในช่วงบ่ายของวันที่ 17 ก.ค.68 พลโทบุญสิน พาดกลางแม่ทัพภาคที่ 2 ได้สั่งการให้หน่วยเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิด เข้าดำเนินการตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุอย่างละเอียด พร้อมเก็บรวบรวมหลักฐาน เพื่อส่งให้หน่วยผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดทำการวิเคราะห์ว่า ทุ่นระเบิดดังกล่าวเป็นชนิดใด และมีแหล่งที่มาอย่างไร รวมถึงพิจารณาว่าเป็นการวางไว้นานแล้ว หรือเป็นการกระทำล่าสุด
ทั้งนี้ กองทัพภาคที่ 2 ขอให้รอผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจน ก่อนจะรายงานความคืบหน้าต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพื่อความถูกต้องและป้องกันการสับสน ขอความร่วมมือประชาชนในการติดตามข้อมูลจากหน่วยงานด้านความมั่นคง หรือช่องทางราชการเป็นหลัก
กองทัพภาคที่ 2 ขอขอบคุณในความห่วงใย และขอยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการดูแลความปลอดภัยของพื้นที่ชายแดน และความสงบเรียบร้อยของพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ
วันเดียวกัน ที่กองบัญชาการกองทัพบก พลตรี วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก เปิดเผยภายหลังได้รับทราบรายงานจากกองทัพภาคที่ 2 กรณีเมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (16 ก.ค.68) เกิดเหตุกำลังพลกองร้อยทหารราบที่ 6021 เหยียบกับระเบิดระหว่างการลาดตระเวนในพื้นที่ช่องบก จ.อุบลราชธานี ทำให้กำลังพลได้รับบาดเจ็บ 3 นาย ปัจจุบัน ทุกนายอาการปลอดภัยอยู่ในระหว่างการพักสังเกตอาการที่โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์
จ.อุบลราชธานี อย่างใกล้ชิด
สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับทุ่นระเบิดดังกล่าวนั้น ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเข้าพื้นที่เกิดเหตุและเก็บหลักฐาน มาดำเนินการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดอย่างละเอียด ซึ่งขั้นตอนนี้
คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 วัน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจน ในเรื่องของชนิดและ ห้วงเวลาที่มีการนำทุ่นระเบิดมาติดตั้ง ตามที่สังคมได้ให้ข้อสังเกตว่าอาจเป็นทุ่นระเบิดที่ถูกวางขึ้นใหม่ ไม่ใช่ทุ่นระเบิดที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่การสู้รบเดิม
ทั้งนี้ โฆษกกองทัพบก ยังได้กล่าวว่า หลังจากนี้หน่วยในพื้นที่ชายแดน จะได้มีการตรวจสอบพิสูจน์ทราบเพิ่มเติมว่า ทางกัมพูชาได้มีการนำทุ่นระเบิดมาใช้ในพื้นที่หรือไม่ เพราะในปัจจุบันทั้งไทย และกัมพูชา ได้ให้สัตยาบัน ในการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีในอนุสัญญาออตตาวา ว่าด้วยการห้ามใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2542