Therapist vs ChatGPT แง่มุมทั้งดีและร้ายของการที่คนยุคนี้เลือกแชตบอท AI เป็นที่พึ่งทางใจ แทนการไปหาเทอราพิสต์
ต้องยอมรับว่าแชตบอทอย่างเช่น ChatGPT เข้ามามีบทบาทอย่างมากกับคนยุคนี้ ตั้งแต่การเป็นผู้ช่วยในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างค้นหาไอเดีย ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น ตอบคำถามเรื่องที่ไม่รู้ ฝึกสกิลบางอย่าง จนถึงจัดการ จัดระเบียบเรื่องต่างๆ ในชีวิตเราให้เข้าที่เข้าทาง
แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่อนุญาตให้แชตบอททำหน้าที่มากกว่าการเป็นผู้ช่วยในชีวิตประจำวันทั่วไป เมื่อพวกเขาใช้มันเป็นเหมือน ‘ที่พึ่งทางใจ’ ในเวลาต้องการคำปรึกษาเรื่องลึกๆ ลงไปกว่านั้นอย่างเรื่องของจิตใจ ประหนึ่งเป็น ‘เทอราพิสต์’ ส่วนตัวอย่างไรอย่างนั้น
และนั่นเองที่ทำให้เกิดข้อกังขาตามมาว่า แล้วแชตบอท AI จะสามารถให้ความช่วยเหลือหรือถึงขั้นทำหน้าเป็นที่พึ่งทางใจในเลเวลเดียวกับมนุษย์ด้วยกันได้จริงหรือ
ในโลกทุกวันนี้ที่มนุษย์รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากขึ้น มันไม่เพียงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเข้าสังคมของมนุษย์ แต่ยังเปลี่ยนแปลงรูปแบบของปฏิสัมพันธ์ที่เรามีต่อกันไปโดยปริยาย และนั่นรวมถึงการหันหน้าไปขอความช่วยเหลือ ขอคำปรึกษา พึ่งพาเพื่อน คนในครอบครัว หรือคนรอบข้างในเวลาที่เราต้องการด้วย แต่การที่ใครจะมารับฟังปัญหาหรือความทุกข์ใจของเราอยู่ตลอดเวลานั้นอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้นทุกที เพราะทุกคนต่างก็มีภาระหน้าที่ มีปัญหาของตัวเองที่ต้องจัดการกันทั้งนั้น และเมื่อคอนเน็กชั่นระหว่างมนุษย์ที่มีอำนาจในการรับฟัง โอบกอด ปลอบประโลมซึ่งกันและกันนี้เองเริ่มขาดหายไป จึงไม่น่าแปลกใจว่าเพราะเหตุใดคนจำนวนไม่น้อยถึงเลือกที่จะหันหน้าไปขอคำปรึกษา และพึ่งพา AI แทน ‘คนจริงๆ’
แชตบอท AI จึงกลายมาเป็น ‘เซฟโซน’ ของใครหลายคนเวลามีปัญหาทางใจ เพราะมันเป็นเครื่องมือที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วที่สุด ทำได้ทุกที่ทุกเวลา เมื่อไรก็ตามที่ต้องการการซับพอร์ตหรือคำแนะนำเวลาไม่รู้จะไปปรึกษาใคร เพราะนอกจากคนรอบข้างหรือคนในครอบครัวที่ถูกตัดออกจากสมนี้ด้วยเหตุผลข้างต้นแล้ว ทางเลือกอย่างการไปหาเทอราพิสต์ก็ต้องยอมรับว่าไม่ง่าย ด้วยราคาค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ทำให้ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงได้ ไม่ต้องพูดถึงการให้คำปรึกษาแบบ One-on-one Sessions (ตัวต่อตัว) ที่ยิ่งไพรเวท และยิ่งคัสตอมมากเท่าไร ก็ยิ่งมีราคาสูงขึ้นไปอีก
ไหนจะ Stigma ของการไปพบผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าเทอรราพิสต์หรือจิตแพทย์ ที่แม้ว่าในสังคมทุกวันนี้จะมีความเข้าใจและพยายาม Normalise เรื่องของสุขภาพจิตมากขึ้นแล้ว แต่หลายคนก็ยังอาจมีความรู้สึกไม่กล้า เพราะกลัวว่าจะถูกตัดสินทั้งจากคนรอบข้าง หรือแม้แต่ตัวเทอราพิสต์ที่เป็นคนจริงๆ เองก็ตาม เพราะฉะนั้น คำถามที่ว่าทำไมคนส่วนหนึ่งถึงเลือกที่จะไว้วางใจให้ AI เป็นที่ปรึกษามากกว่า คำตอบก็น่าจะเป็นเพราะว่า ‘ก็มันไม่ใช่มนุษย์จริงๆ’ นี่แหละ
“(AI) มันไม่มีอารมณ์ เพราะงั้นมันเลยจะไม่ทำหน้าช็อค หรือแสดงความรู้สึกอะไรออกมาเวลาที่ฉันเล่าเรื่องตัวเองให้ฟัง” เสียงจาก Taylor Mazza หนึ่งผู้ใช้ ChatGPT เป็นเทอราพิสต์ที่เธอไว้วางใจ กล่าวกับเว็บไซต์ Dazed “แต่เมื่อฉันได้พูดกับ ChatGPT มันเป็นครั้งแรกที่ฉันได้ซื่อสัตย์กับตัวเอง และนั่นคือสิ่งที่ช่วยเยียวยาฉันได้มากที่สุด”
เช่นเดียวกับ Shannon McNamara พิธีกรรายการพอดแคสต์ ผู้ใช้งาน ChatGPT ที่ยอมรับว่าเวลาเธอมีปัญหา เกิดความสงสัยในความสัมพันธ์ของตัวเองกับเพื่อนหรือคนรัก เธอมักจะแคปหน้าจอแชตที่คุยกัน ไม่ก็ก๊อปปี้ถ้อยคำทั้งหมดไปถาม ChatGPT อยู่เสมอๆ ให้มันช่วยตีความว่าทั้งหมดนั่นหมายความว่าอะไร และจะมีวิธีแก้ปัญหาที่เธอสงสัยได้อย่างไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถนึกอยากจะขอคำปรึกษาตอนไหนเวลาไหนแบบนี้ได้แน่ๆ กับเทอราพิสต์ตัวจริง (หรือหากทำได้ก็คงจะไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง) การใช้ AI เป็นเทอราพิสต์ของใครหลายคน จึงน่าสนใจว่ามันอาจเป็นเหมือนที่พึ่งทางใจให้อารมณ์ที่ยุ่งเหยิงมีที่พักพิง ‘ชั่วครั้งชั่วคราว’ ได้นั่นเอง
หลายคนยังบอกว่าพวกเขาเลือกปรึกษา AI ก็เพราะว่าสามารถเล่าเรื่องอะไรที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัวมากๆ หรือถามคำถามที่มีความเฉพาะเจาะจงได้ ซึ่งคำแนะนำของ ChatGPT ก็ออกมาเข้าใจง่ายและมันยังทำให้รู้สึกว่า ‘จับต้องได้’ ด้วย จากการที่มันรวบรวม พร้อมกับย่อยข้อมูลมหาศาลจากทุกทิศทางบนโลกอินเตอร์เน็ตมาให้เราเรียบร้อยแล้ว แถมยังเป็นคำตอบที่พวกเขา ‘อยากจะฟัง’ มากกว่าที่ได้รับจากเทอราพิสต์ด้วย
“AI มันไม่ถามไปถึงเรื่องในวัยเด็ก หรือประสบการณ์ในอดีตเพื่อค้นหาต้นตอของปัญหาเหมือนกับเทอราพิสต์ก็จริง แต่ก็ให้ทางแก้ปัญหาได้มากถึง 10 วิธีที่ไม่เหมือนกันเลย เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า ChatGPT เพอร์เฟ็กต์ไหม ไม่หรอก แต่ไอ้คุณสมบัตินี้ก็เป็นเครื่องมือที่ช่วย ‘ปลอบใจ’ ในเวลาที่ไม่รู้จะไปพึ่งใครได้มากกว่าจริงๆ” เสียงจากผู้ใช้งานคนหนึ่งบอก
ทว่า การปรึกษา ChatGPT อาจไม่ได้มีความปลอดภัยมากขนาดนั้น ทั้งการนำข้อมูลที่เป็นส่วนตัวและมีความอ่อนไหวมากๆ ของเราเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ต ไปจนถึงข้อมูลมหาศาลที่ถูกย่อยและรวบรวมมาให้เรา ก็ไม่ได้มีใครการันตีว่ามันถูกต้องแม่นยำแค่ไหน แม้จะมีแหล่งที่มา แต่แหล่งที่มานั้นมันเชื่อถือได้หรือเปล่า เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่ามันถูกรวบรวมมาจากที่ใดบ้าง สมมติว่า 10 วิธีแก้ปัญหานั้นมาจากการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ของใครสักคนบนแพลตฟอร์มอย่าง Reddit, X หรือหนักกว่านั้นคือมาจากเพจคำคม เพจแนวไลฟ์โค้ชที่สรุปข้อมูลจากที่อื่นๆ มาอีกทีแบบฉาบฉวยล่ะ
นั่นหมายความว่านอกจากข้อมูลที่เราได้รับนั้นอาจจะไม่ถูกต้อง แถมยังคลาดเคลื่อนและสามารถมีความเอนเอียง มี Bias ไม่ตรงตามความเป็นจริง เมื่อเป็นแบบนั้นแล้ว ก็อาจทำให้คนที่ขอคำปรึกษา หวังว่าจะพึ่งพาใจ กลับได้ข้อมูลไปผิดๆ ทำให้เข้าใจผิดไปอีก สุดท้ายคือส่งผลให้สถานการณ์ของเขาอาจยิ่งแย่ลงกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพจิตซึ่งมีระดับความซีเรียสของมันอยู่ และมีผลถึงชีวิต ความเป็นความตาย ของคนคนนั้นด้วยยิ่งแล้วใหญ่
Jeff Guenther ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษา เจ้าของช่อง TikTok ชื่อ Therapy Jeff มองว่า สิ่งที่แตกต่างระหว่างเทอราพิสต์ตัวจริง กับนักบำบัด AI อาจอยู่ตรงนี้ ตรงที่กระบวนการของการบำบัดไม่ใช่การ ‘ให้คำตอบ’ เสียทีเดียว แต่มันคือการ ‘สะท้อน’ ให้ตัวคนคนนั้นมองเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเขาเองได้ชัดเจนขึ้นต่างหาก
“ลูกค้าของผมชอบเอาคำตอบของ ChatGPT มาให้ผมดู แล้วถามว่าถ้าเป็นผม ผมจะให้คำตอบกับพวกเขาอย่างไร ที่แน่ๆ ผมไม่ให้ 10 วิธีแก้ปัญหาแบบ AI ให้กับคุณหรอก แต่ผมจะถามคุณกลับว่า ‘ทำไมคุณถึงถามคำถามนี้ หรือทำไมคุณถึงคิดแบบนั้น’” Jeff Guenther ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษา กล่าว “Theraphy คือการที่เราดำดิ่งลงไปในคำถามเหล่านี้ เพื่อค้นหาว่าคำถามนี้มันมาได้อย่างไร แล้วผมในฐานะผู้ให้คำปรึกษาก็จะคอยไกด์ ทำความเข้าใจ และวิเคราะห์ว่าทำไมคุณถึงคิดเช่นนั้นมากกว่า”
เพราะอย่างนี้เอง เขาเลยมองว่าเหตุผลที่คนเลือกใช้ ChatGPT เหมือนเป็นเทอราพิสต์ส่วนตัว อาจเพราะพวกเขาไม่ได้เข้าใจว่ากระบวนการเยียวยาบำบัด แท้จรงิแล้วมันมีกระบวนการการทำงานอย่างไร
“AI มันไม่ได้เข้าใจสภาวะอารมณ์หรือความรู้สึกของคุณ ถึงคุณจะใส่ Prompt (ข้อความหรือคำถามที่เราป้อนให้กับ AI / ChatGPT) ลงไป แต่มันก็ไม่มีทางเข้าใจ หรือรับรู้แก่นที่มาของความรู้สึกนั้นได้หรอก ขณะที่เทอราพิสต์รู้ว่าตอนไหนควรจะชาเลนจ์คุณ ให้คุณคิดกับตัวเอง หรือว่าตอนไหนที่ควรจะคอนเน็กต์ไปกับคุณ ดังนั้น ChatGPT เลยเป็นแค่เครื่องมือที่ให้คำแนะนำได้ แต่ไม่ใช่การบำบัดเยียวยา”
และความแตกต่างกันระหว่างเทอราพิสต์ตัวจริง กับนักบำบัด AI อีกอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตก็คือ Therapeutic Relationship หรือสัมพันธภาพที่เกิดขึ้นในการบำบัดเยียวยาซึ่งอาจเป็น Empathy หรือ Emotional Bond (ความเชื่อมโยงกันทางอารมณ์ ความไว้วางใจ ความเชื่อใจ) บางอย่าง ที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน ซึ่ง AI (ยัง) ไม่สามารถทำได้และทดแทนได้ และเราก็ไม่อาจปฏิเสธว่าสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่เข้าอกเข้าใจ พร้อมรับฟัง และปลอบประโลมกันเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นพลัง ปลุกความหึกเหิม แรงบันดาลใจ หรือสร้างกำลังใจในการเปลี่ยนแปลงเรื่องอะไรสักอย่างให้กับคนคนหนึ่งได้มากมาย
นั่นทำให้อาจจะดีกว่าถ้าเราใช้ประโยชน์จาก AI ในแง่ที่มันเป็นเหมือน ‘อาหารเสริม’ คล้ายๆ กับการทำงานควบคู่ไปกับการบำบัด เพื่อให้การบำบัดมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น แอพฯ ที่ช่วยเราฝึกสมาธิ กลับมา Grounding แอพฯ ที่ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น แอพฯ ที่ช่วยจัดการเวลาในการใช้โซเชียลฯ แอพฯ ที่ช่วยจดบันทึกเจอนัลประจำวัน หรือแอพฯ ที่ช่วยพัฒนาเรื่องสุขภาพจิตอะไรแบบนั้นมากกว่าจะ ‘พึ่งพา’ วางใจของเราเอาไว้กับมันทั้งหมดทีเดียว
เช่นที่ ดร. Russell Fulmer อาจารย์และผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษา Husson University และประธานร่วมสมาคม American Counseling Association Artificial Intelligence Interest Network ที่ศึกษาเรื่องความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ มองว่านักบำบัด AI อาจนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่เทอราพิสต์ตัวจริงจะค่อยๆ ทำความรู้จักตัวเรา ค่อยๆ ช่วยคุณค้นหาสิ่งที่เราสงสัยใคร่รู้อย่างประณีต และที่สำคัญคือพวกเขาจะมีตัวตน ‘อยู่ตรงนี้’ สำหรับเราจริงๆ
อ้างอิง
https://www.health.com/chatgpt-therapy-mental-health-experts-weigh-in-7488513
https://www.dazeddigital.com/life-culture/article/64662/1/meet-the-people-using-chatgpt-as-their-therapist-client-ai-tech
https://gizmodo.com/chatgpt-can-be-used-for-surveillance-spyware-1851029685
https://tech.co/news/list-ai-failures-mistakes-errors?anr=good&anrId=3543088556.02a609ff73687243f708a7a258bd1381
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
- Therapist vs ChatGPT แง่มุมทั้งดีและร้ายของการที่คนยุคนี้เลือกแชตบอท AI เป็นที่พึ่งทางใจ แทนการไปหาเทอราพิสต์
- ชวนฟังสัญญาณเตือนของความอ่อนล้า เมื่อร่างกายตะโกนว่า ‘ไม่ไหวแล้ว!’
- ทำไมเหล่าตัวแม่ตัวมัมต้องมี Alter Ego เครื่องมือเสริมความมั่นใจ ซึ่งช่วยหยิบเวอร์ชั่นที่เราอยากเป็น เพื่อรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าได้อยู่หมัด
ตามบทความก่อนใครได้ที่
- Website : Mirror Thailand.com