ครม.เคาะ “วิทัย รัตนากร” นั่งผู้ว่าธปท. ลำดับที่ 25
รายงานข่าวเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2568 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ แต่งตั้ง นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลำดับที่ 25 แทนนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบันที่จะครบวาระในวันที่ 30 ก.ย. 2568
โดยในขั้นตอนแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2568 นายวิทัยเสนอแนวคิด “Policy Coordination” ที่เน้นการประสานงานระหว่างธนาคารกลางกับกระทรวงการคลัง หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งเรื่องสังคมสูงวัย หนี้ภาคครัวเรือน ความเหลื่อมล้ำ และการเติบโตอย่างยั่งยืน เขาเน้นว่าธปท.ไม่ควรจำกัดบทบาทแค่รักษาเสถียรภาพการเงิน แต่ควรมีส่วนร่วมผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระยะยาว
แม้จะเป็นผู้บริหารจากรัฐวิสาหกิจซึ่งอาจถูกจับตาเรื่องความเป็นอิสระจากการเมือง แต่นายวิทัยยืนยันว่า ธปท.ต้องดำรงจุดยืนในฐานะธนาคารกลางที่เที่ยงตรง พร้อมเปิดรับข้อมูลรอบด้าน และตัดสินใจโดยไม่ยึดโยงกับแรงกดดันทางการเมือง
ประวัติ วิทัย รัตนากร
วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน อายุ 53 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระดับปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขากฎหมายธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ปริญญาโท การเงิน Drexel University, U.S.A.
วิทัย เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2563 โดยกำหนดยุทธศาสตร์ธนาคารออมสิน เป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” หรือ Social Bank ประกาศภารกิจแรกคือการรุกตลาดจำนำธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์และรถยนต์ โดยวางเป้าหมายกดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนในตลาดให้ลดลงจาก 28% ลงมาเหลือ 18–20% เพื่อสร้างการแข่งขันธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียน ช่วยเหลือคนตัวเล็กให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ขณะที่ยังได้ประกาศหลักการดำเนินธุรกิจของธนาคารออมสิน ในการนำกำไรส่วนหนึ่งจากการประกอบธุรกิจปกติ มาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจเชิงสังคม ปรับบทบาทธนาคารเป็นธนาคารที่ไม่มุ่งเน้นกำไรสูงสุดแต่นำปัจจัยการช่วยเหลือสังคมปรับเข้ามาสู่การทำธุรกิจ เพื่อสร้างกำไรและสร้างรายได้ สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
วิทัย ได้ต่อวาระนั่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินอีก 1 วาระ ถึง เดือน มิ.ย. 2571 โดยได้ปรับเป้าหมายการดำเนินงานของธนาคารที่เน้นสร้างผลลัพธ์เชิงบวกได้มากขึ้น ขณะที่ยังคงจุดยืนการเป็นธนาคารเพื่อสังคม โดยตั้งเป้าปรับลดกำไรลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม หรือปีละ 20-30% ตามสถานการณ์ในแต่ละปี เพื่อขยายผลการสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคม (Social Impact) ให้มากยิ่งขึ้น
ขณะที่ในภาวะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจการเงินมากมายโดยเฉพาะวิกฤตหนี้ครัวเรือน ธนาคารออมสินได้ดำเนินมาตรการแก้หนี้มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้ทำมาตรการแฮร์คัทหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยตามโครงการรัฐบาล เพื่อดึงลูกหนี้กลุ่มเปราะบางให้สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้อีกครั้ง โดยดำเนินการเพียงครั้งเดียวเพื่อไม่ให้ลูกหนี้ต้องเสียวินัยทางการเงิน รวมถึงการลดดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและแก้ปัญหาหนี้สิน
นอกจากการแก้ไขปัญหาหนี้สินแล้วเพื่อทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนรายย่อยตั้งตัวได้อีกครั้ง ธนาคารออมสินยังได้ทำมาตรการเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อของภาคธุรกิจและประชาชนรายย่อยผ่านการจัดทำโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) โครงการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมทางการเงินที่ช่วยสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินในระบบผ่านสินเชื่อสร้างเครดิตสร้างโอกาสสำหรับผู้ไม่มีประวัติเครดิตทางการเงิน ซึ่งนอกจากจะเป็นนวัตกรรมการเงินที่สร้างโอกาสให้ผู้ที่ไม่เคยเข้าถึงสินเชื่อในระบบแล้วยังเป็นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งเป็นอีกหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไขอีกด้วย
สำหรับประวัติการทำงานก่อนดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้แก่
- พ.ศ. 2564 - 2565 กรรมการ คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย
- พ.ศ. 2561 - 2563 เลขาธิการคณะกรรมการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
- พ.ศ. 2560 - 2561 กรรมการ และรักษาการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
- พ.ศ. 2560 - 2561 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเศรษฐกิจ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
- พ.ศ. 2560 - 2561 กรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด
- พ.ศ. 2559 - 2561 รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลงทุนและบริหารการเงิน (Chief Financial Officer)
- พ.ศ. 2558 - 2559 รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ
- พ.ศ. 2554 - 2557 ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงิน บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน)
- พ.ศ. 2553 - 2554 รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด
- พ.ศ. 2550 - 2553 กรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนนครหลวงไทย จำกัด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด)