'คิงเพาเวอร์' ลดไขมันหวังวิ่งต่อ เดินหน้าปิด 3 ดิวตี้ฟรีดาวน์ทาวน์
“คิงเพาเวอร์” ผู้รับสัมปทานร้านสะดวกซื้อ (ดิวตี้ฟรี) ในสนามบิน 5 แห่ง ของบริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ประกอบด้วย สนามบินสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ภูเก็ต, เชียงใหม่และหาดใหญ่ มีปัญหาสภาพคล่องนับตั้งแต่เดือน ส.ค.2567 เริ่มค้างจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนรัฐและยื่นขอเลื่อนชำระ 5 สนามบิน ซึ่งทำให้มีหนี้ค้างจ่าย ทอท.ข้อมูล เดือน ก.พ.2568 วงเงิน 4,000 ล้านบาท
สถานการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การทำหนังสือถึง ทอท.ในช่วงปลายเดือน พ.ค.2568 ขอหารือเพื่อปรับสัญญาสัมปทานสัญญาดิวตี้ฟรี และล่าสุด “คิงเพาเวอร์” ได้ปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานกาณณ์ปัจจุบัน
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิง เพาเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยกับ“กรุงเทพธุรกิจ” โดยระบุว่า ปัจจุบันปริมาณนักท่องเที่ยวในรูปแบบกรุ๊ปทัวร์ลดลง สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้คิงเพาเวอร์พิจารณาปิดกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมือง (Downtown duty free) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องบริหารจัดการกับทัวร์
ทั้งนี้ จะดำเนินการปิดกิจการ 3 สาขา ประกอบด้วย สาขาศรีวารี พัทยา และมหานคร ภายในเดือน ก.ย.2568 โดยการปิดกิจการ ดังกล่าวไม่เกี่ยวเนื่องกับการยื่นหนังสือขอยกเลิกสัญญาดิวตี้ฟรีกับ ทอท.และปัจจุบันยังรอการพิจารณาจาก ทอท.
นอกจากนี้ คิงเพาเวอร์เห็นว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป โดยการปิด Downtown duty free บางที่เป็นไปตามสภาพธุรกิจที่เปลี่ยนไป โดยธุรกิจถึงเวลาต้องปรับตัวอยู่แล้วเลยถือโอกาสปรับตัวไปพร้อมกับการปิดสาขาพร้อมเลย
“คิงเพาเวอร์” ลดน้ำหนักเพื่อวิ่งต่อ
รวมทั้งคิงเพาเวอร์ประกาศโครงการ “สมัครใจลาออก” เพื่อลดต้นทุนบริหารงาน โดยจะประกาศรับสมัครใน 1-2 วันหลังจากนี้ ซึ่งยังไม่กำหนดปิดรับสมัครและไม่จำกัดจำนวนพนักงาน โดยพนักงานที่เข้าร่วมจะได้รับการชดเชยรายได้ตามอายุงาน ส่วนพนักงานใน 3 สาขา Downtown duty free หากไม่ยื่นเข้าร่วมโครงการสมัครใจลาออกก็ยื่นสมัครย้ายไปทำงานส่วนอื่นได้
“พนักงานที่สมัครใจลาออก คิงเพาเวอร์จะจ่ายผลตอบแทนชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และให้เงิน On top เพิ่มตามอายุงาน ซึ่งคิงเพาเวอร์เปิดให้พนักงานเข้าร่วมได้ทุกสาขา เมื่อมีคนลาออก แต่ยังมีพนักงานจากสาขาที่ปิดยังต้องการทำงานต่อก็จะย้ายจากสาขาที่ปิดตัวมาเติมสาขาที่ยังเปิดให้บริการ”
นายนิตินัย กล่าวว่า ถึงเวลาที่คิงเพาเวอร์ต้องลดน้ำหนักถึงจะวิ่งไปต่อได้ โดยธุรกิจสมัยนี้ต้องปรับตัวหมด แล้วแต่จะต้องปรับตอนไหน ซึ่งตอนนี้คิงเพาเวอร์ถือโอกาสปรับตัวเลยระหว่างรอการพิจารณาจาก ทอท.เรื่องสัญญาดิวตี้ฟรีสนามบิน โดยปัจจุบันคิงเพาเวอร์ยังไม่ได้หารือ ทอท.เพิ่ม และทราบว่า ทอท.อยู่ระหว่างจ้างมหาวิทยาลัยรัฐ 2 แห่งมาศึกษาแนวทาง
ขณะที่ตนในฐานะผู้บริหารคิงเพาเวอร์ ก็คาดหวังแค่บทสรุปที่ “เป็นมาตรฐาน ตามที่ ทอท. ใช้กับผู้ประกอบการรายอื่น” เป็นพอ และเนื่องด้วยตนเคยเป็นผู้บริหาร ทอท.มาก่อนนั้น พอทราบอยู่ว่า ทอท.ใช้มาตรฐานอะไรกับผู้ประกอบการรายอื่น ดังนั้นการปฎิบัติกับคิงเพาเวอร์เท่ากับปฎิบัติในมาตรฐานเดียวกับรายอื่นเป็นพอ
รายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบันคิงเพาเวอร์มีพนักงานรวม 7,000 คน โดยมีธุรกิจ Downtown duty free รวม 6 แห่ง ประกอบด้วย
1.คิง เพาเวอร์ รางน้ำ 2.คิง เพาเวอร์ ซิตี บูทีค (ONE BANGKOK) 3.คิง เพาเวอร์ มหานคร 4.คิง เพาเวอร์ ศรีวารี 5.คิง เพาเวอร์ พัทยา และ 6.คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ภูเก็ต
ทั้งนี้ ภายหลังปิดกิจการ 3 แห่ง จะเหลือ Downtown duty free ให้บริการ 3 แห่ง ประกอบด้วย คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี รางน้ำ, คิง เพาเวอร์ ซิตี บูทีค (ONE BANGKOK) และคิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ภูเก็ต
เดินหน้าแก้สัมปทานดิวตี้ฟรีสนามบิน
รายงานข่าวจาก ทอท.ระบุว่า ข้อเสนอของคิงเพาเวอร์ ต้องการให้ ทอท.พิจารณาสัญญาภายใต้บริบทปัจจุบันและเป็นธรรม เพราะหลังจากโควิด-19 ทอท.ได้ปรับสัญญาจากการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแบบ minimum guarantee เป็นการคำนวณส่วนแบ่งรายได้ต่อหัวผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง โดยคิงเพาเวอร์ยังคงการันตีผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำโดยรวมแล้วไม่ต่ำกว่าที่เสนอในการประมูล
ทั้งนี้ ทำให้เมื่อเฉลี่ยส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนเป็นรายได้ต่อหัวผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริงแล้ว พบว่าคิงเพาเวอร์ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ ทอท.ในปัจจุบันสูงเฉลี่ย 30-40% ของยอดขาย
ขณะที่หากเทียบกับรูปแบบการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ที่ ทอท.กำหนดในสัญญาการประมูลดิวตี้ฟรี 2 รูปแบบ คือ กำหนดให้เอกชนจ่ายตามผลตอบแทนขั้นต่ำรายปีตามที่เอกชนเสนอ และจ่ายเป็นส่วนแบ่งรายได้อย่างน้อย 20% ของยอดขาย เอกชนต้องจ่ายผลตอบแทนให้ตามเกณฑ์ที่สูงกว่าระหว่าง Minimum Guarantee หรือ Revenue Sharing 20%
และเมื่อเทียบจะพบว่าปัจจุบันคิงเพาเวอร์จ่ายส่วนแบ่งรายได้ในอัตราที่สูงมากกว่า Revenue Sharing กำหนด จึงเป็นภาวะที่ทำให้ขาดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง
จีนเที่ยวไทยวูบทุบธุรกิจทรุด
แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยววิเคราะห์ธุรกิจดิวตี้ฟรีของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ว่า ได้รับผลกระทบหนักตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ฟื้นตัวตามคาดการณ์ จากภาวะเศรษฐกิจโลก จีน และไทย ชะลอตัวต่อเนื่อง
อีกทั้งประเด็นปัญหาภาพลักษณ์ความปลอดภัยของไทยทำให้ “นักท่องเที่ยวจีน” ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของคิง เพาเวอร์ ไม่มั่นใจเดินทางมาไทย ภาพรวมหดตัวลงถึง 40-50% ช่วงครึ่งปีแรก ประเมินว่าปี 2568 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเยือนไทยเพียง 5 ล้านคน หายไปมากกว่าครึ่ง เทียบจำนวน 11 ล้านคนที่ทำสถิติสูงสุดเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด
“วิกฤติโควิด-19 เป็นตัวแปรและปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายมิติ เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ลดการเดินทางต่างประเทศ ระวังการใช้จ่าย นักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาส่วนใหญ่ 80% เป็นกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) ไม่ได้ชอปปิงมากเหมือนก่อน”
ดังนั้น คิง เพาเวอร์ จึงไม่สามารถเลี่ยงผลกระทบโดยตรงได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หดตัว ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยแม้จะมีการเดินทางต่างประเทศ แต่ส่วนหนึ่ง หรือ บรรดานักช้อปนิยมใช้จ่ายในต่างประเทศมากกว่า ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายในดิวตี้ฟรีทั้งในพื้นที่สนามบิน และดาวน์ทาวน์ซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับธุรกิจ ดิวตี้ ฟรี นับเป็น Core Business ของคิง เพาเวอร์ โดยเปิดบริการ ดิวตี้ ฟรีดาวน์ทาวน์ ได้แก่ ศรีวารีพัทยาภูเก็ต มหานครรางน้ำ ซึ่งเป็นแฟลกชิปสโตร์ และล่าสุดคิง เพาเวอร์ ซิตี้ บูทีก ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือน ต.ค.2567 ตั้งอยู่ชั้น 1-2 โซน Parade ในโครงการวัน แบงค็อก ปักหมุดเป็นจุดหมายปลายทางประสบการณ์ชอปปิงแบบใหม่ใจกลางเมือง ซึ่งเป็นที่จับตาถึงบรรยากาศการใช้จ่ายจากปริมาณลูกค้าโดยภาพรวมที่เข้าใช้บริการยังค่อนข้างน้อย