ทำความรู้จักมะเร็งรังไข่: ภัยเงียบที่คร่าชีวิตสตรีทั่วโลก
ในส่วนในประเทศไทยเอง อัตราการเกิดมะเร็งรังไข่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสตรีไทยมากถึง 7,000 คนต่อปีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้
สาเหตุที่มะเร็งรังไข่ถูกขนานนามว่าเป็นภัยเงียบ เนื่องจากในระยะเริ่มต้นของโรคมักไม่แสดงอาการ หรืออาจมีอาการที่คลุมเครือ เช่น ท้องอืด แน่นท้อง กินได้น้อยลง อิ่มเร็วขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดบริเวณท้องน้อย คลำได้ก้อนผิดปกติ เป็นต้น เมื่ออาการชัดเจนขึ้น ส่วนใหญ่มะเร็งมักลุกลามไปแล้ว ทำให้โอกาสในการรักษาให้หายขาดลดลง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการตระหนักรู้ถึงโรคนี้จึงมีความสำคัญมาก
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่นอกจากอายุที่มากขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่เพิ่มความเสี่ยง ได้แก่ การมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่หรือมะเร็งเต้านม ผู้ที่มีการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 ผู้ที่มีประวัติการมีบุตรช้า หรือไม่มีบุตรเลย การมีรอบเดือนตั้งแต่อายุน้อย และหมดประจำเดือนช้า เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'มะเร็งรังไข่' เรื่องที่ผู้หญิงต้องรู้ เข้าใจอาการ ความเสี่ยง
3 ข้อที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม 'มะเร็งรังไข่' รู้ทัน ก่อนสาย
การตรวจคัดกรอง: ความจริงที่ต้องรู้
หลายคนอาจเคยได้ยินว่าการตรวจค่า “CA125” สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ ซึ่งพบเห็นในโปรแกรมตรวจสุขภาพตามสถานพยาบาลหลายแห่งทั้งรัฐบาลและเอกชน แม้ว่า CA125 จะเป็นโปรตีนที่สามารถพบระดับสูงในเลือดของสตรีที่เป็นมะเร็งรังไข่ แต่น่าเสียดายที่ความจริงแล้ว การตรวจ CA125 ไม่สามารถใช้เป็นการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจาก
1.CA125 ไม่มีความจำเพาะต่อโรคมะเร็งรังไข่ โรคอื่นๆสามารถพบ CA125 สูงขึ้นได้ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ การติดเชื้อในช่องท้อง น้ำท่วมปอด เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ช็อคโกแลตซิสต์ และอื่นๆอีกมากมาย
2.ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ระยะแรกบางรายหรือมะเร็งรังไข่บางชนิดอาจมีค่า CA125 ปกติ
3.ในสภาวะร่างกายปกติก็สามารถพบ CA125 สูงขึ้นได้ โดยที่ไม่ได้เป็นมะเร็งรังไข่ เช่น สตรีวัยเจริญพันธุ์จะมีค่า CA125 ขึ้น-ลงได้ในแต่ละรอบเดือน หรือระหว่างตั้งครรภ์
การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรือชื่อที่ทุกคนคุ้นเคยคือการทำ “อัลตราซาวด์” อาจช่วยให้แพทย์สามารถเห็นความผิดปกติของรังไข่ได้ มีการศึกษาขนาดใหญ่เกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ในสตรีสูงอายุประเทศสหราชอาณาจักร จำนวนประมาณ 200,000 คน โดยแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับการตรวจ CA125 ร่วมกับอัลตราซาวด์ กลุ่มที่ได้รับการตรวจอัลตราซาวด์เพียงอย่างเดียว และกลุ่มที่ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองเลย ผลการศึกษาพบว่า แม้การตรวจคัดกรองจะช่วยให้พบมะเร็งในระยะเริ่มต้นมากขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งรังไข่อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหมายความว่าการตรวจคัดกรองยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะใช้เป็นมาตรการป้องกันมะเร็งรังไข่ในประชากรทั่วไป
แล้วเราควรทำอย่างไร?
แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ที่มีประสิทธิภาพ 100% แต่การตระหนักรู้ถึงอาการผิดปกติและรีบพบแพทย์หากสงสัย ยังคงเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก อาการที่น่ากังวล เช่น ท้องโตขึ้นผิดปกติ แน่นท้อง อิ่มเร็ว หรือเบื่ออาหาร น้ำหนักเปลี่ยนแปลงเร็ว ปวดท้องน้อยเรื้อรัง คลำได้ก้อนที่บริเวณเชิงกราน เป็นต้น นอกจากนี้การตรวจภายในประจำปีโดยสูตินรีแพทย์ เป็นสิ่งที่สามารถช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้เร็วขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจเพิ่มเติมที่จำเป็นและเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคร้ายนี้ได้
ทางเลือกในการป้องกันสำหรับผู้มีความเสี่ยงสูง
ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่มียีนกลายพันธุ์ BRCA หรือมีประวัติมะเร็งในครอบครัว แพทย์อาจพิจารณาการให้คำปรึกษาทางพันธุกรรม (genetic counseling) และในบางกรณีอาจแนะนำให้พิจารณาการผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่เพื่อป้องกัน (prophylactic salpingo-oophorectomy)การวางแผนป้องกันที่เหมาะสม ควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยคำนึงถึงอายุ ความต้องการมีบุตร และความเสี่ยงเฉพาะราย
งานวิจัยและความหวังในอนาคต
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความพยายามจากนักวิจัยทั่วโลกในการค้นหาวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ที่มีความไวและความจำเพาะสูงมากขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาด้าน molecular profiling, proteomics และ genomics ที่ช่วยเปิดประตูสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการวินิจฉัยโรคตั้งแต่ยังไม่มีอาการ
งานวิจัยใหม่กำลังมุ่งเน้นไปที่การหาสารชีวภาพ (biomarker) ที่มีความไวและจำเพาะสูงกว่า CA125 เช่น HE4 หรือการวิเคราะห์โปรตีนหลายชนิดร่วมกัน รวมถึงเทคโนโลยีทางพันธุกรรมที่อาจช่วยให้สามารถตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะก่อนลุกลาม
อีกหนึ่งความก้าวหน้าคือเทคโนโลยี liquid biopsy ที่สามารถตรวจหาชิ้นส่วนของ DNA จากเซลล์มะเร็งที่ลอยอยู่ในกระแสเลือด (circulating tumor DNA) ซึ่งช่วยให้สามารถตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ได้แม้ในระยะเริ่มต้นและโดยไม่ต้องพึ่งพาการผ่าตัดหรือการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อ
ขณะเดียวกัน การพัฒนาแนวทางการรักษาแบบใหม่ เช่น immunotherapy ที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง และ targeted therapy ที่มุ่งเป้าทำลายเซลล์มะเร็งเฉพาะกลุ่มโดยไม่กระทบเซลล์ปกติ ก็กำลังเป็นความหวังสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ในอนาคต
แม้แนวทางเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา แต่ทั้งหมดล้วนเป็นก้าวสำคัญสู่อนาคตที่การตรวจพบมะเร็งรังไข่ตั้งแต่ระยะแรกอาจกลายเป็นเรื่องปกติ และทำให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน การใส่ใจสัญญาณเตือนของร่างกายและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างประชาชนกับบุคลากรทางการแพทย์ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการเอาชนะภัยเงียบนี้
ติดตามคอลัมภ์"มะเร็งสตรี มีคำตอบ" จากสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ได้ที่ www.tgcs.or.th ,Facebook :สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย - TGCSthai