โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

สภาโหวตคว่ำร่างนิรโทษกรรมฉบับรวมคดีม.112 แต่เห็นชอบสามฉบับที่รวมคดีกบฏ

iLaw

อัพเดต 1 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 20 ชั่วโมงที่ผ่านมา • iLaw

วันที่ 16 กรกฎาคม 2568 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและสร้างเสริมสังคมสันติสุข รวมทั้งสิ้นห้าฉบับ ซึ่งมีผู้เสนอจากหลากหลายฝ่าย ได้แก่ ภาคประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล (ก่อนการยุบพรรค) พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยเป็นการพิจารณาต่อเนื่องจากการประชุมเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ก่อนจะมีการลงมติแยกร่างกฎหมายในแต่ละฉบับ

ในภาพรวมของการอภิปราย มีการแสดงจุดยืนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นการนิรโทษกรรมที่ครอบคลุมถึงคดีความตามมาตรา 112

เสียงจากภาคประชาชนและพรรคประชาชน ยืนยันต้องนิรโทษกรรมให้คดีม.112

ภาคประชาชนวอนอย่าปิดประตูนิรโทษกรรมคดีม.112

ยิ่งชีพกล่าวว่าตนขอบคุณสำหรับบรรยากาศที่ดีหลังจากการฟังอภิปรายของสส.ในที่ประชุม เนื่องด้วยการอภิปรายเต็มไปด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง พร้อมขอบคุณสส.ที่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับภาคประชาชน สำหรับสส.ที่ไม่เห็นด้วย ยิ่งชีพกล่าวว่าตนก็ยังได้ยินคำว่า “เห็นใจ” และ “เข้าใจ” ต่อคนที่อยู่ในเรือนจำและอาจจะต้องเดินเข้าเรือนจำในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ยิ่งชีพกล่าวต่อว่า ตลอดการอภิปรายในสภาแห่งนี้ ไม่มีสส. คนใดที่ไม่อยาก “ให้อภัย” ประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง และไม่มีแล้วเสียงที่จะตั้งข้อรังเกียจแบ่งแยกว่าคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่ร้ายแรงเกินกว่าที่จะอภัยได้ “เรายอมรับกันได้ในสภาแห่งนี้ว่า คดีความตามมาตรา 112 เป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจมาจากการปัญหาทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้วก็ควรที่จะได้รับการนิรโทษกรรมไม่ต่างกับคดีอื่นๆ” ยิ่งชีพกล่าว

อย่างไรก็ตามยังมีความ “เห็นต่าง” อยู่บ้าง ซึ่งเขาขอเคารพและแสดงเหตุของประชาชนที่จะตอบว่า “ทำไมเราจึงมาวันนี้เพื่อเสนอว่าเราไม่ควรจะนิรโทษกรรมให้กับคนแค่บางกลุ่ม และไม่อภัยให้คนบางกลุ่ม และไม่ควรทอดทิ้งคดีมาตรา 112 หรือคดีใดๆเลย จากความขัดแแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา" โดยยิ่งชีพจะขอนำเสนอผ่านเรื่องราวของผู้ถูกดำเนินคดีสามคนที่ถูกบังคับใช้มาตรา 112 ในสามยุคสมัย

บัสบาสอาจติดคุกอีก 50 ปี ขณะที่คนทำร้ายเขาหน้าศาลได้นิรโทษกรรม

ยิ่งชีพกล่าวถึงคนแรกคือมงคล หรือที่รู้จักกันในชื่อ "บัสบาส" เขาอายุราว 20 ปี ในช่วงที่ร่วมการชุมนุมช่วงปี 2563-2564 ยิ่งชีพระบุว่ามงคลไม่ใช่แกนนำ ไม่ใช่นักปราศัย ไม่ได้มีชื่อเสียงและไม่ได้เป็นที่รู้จัก แต่ในวันหนึ่งมงคลไปนั่งอดอาหารประท้วงหน้าศาลเพียงคนเดียวเพื่อเรียกสิทธิประกันตัวให้คนอื่นที่ถูกคุมขังอยู่ ต่อมาตำรวจเข้ามาจับมงคลไปจากหน้าศาลอาญา มงคลถูกตั้งข้อหาว่าโพสต์เฟสบุ๊ก 29 ข้อความทั้งหมดสามคดีตามมาตรา 112 ศาลพิพากษาให้จำคุกรวม 75 ปี ลดเหลือ 54 ปี วันนี้มลคลอยู่ในเรือนจำเชียงราย มงคลเป็นถือเป็นคนที่ได้รับโทษจำคุกสูงสุดในคดีมาตรา 112 เท่าที่มีมา

“ผมเชื่อครับว่าประชาชนคนไทย 99.99% รวมถึงผมและท่าน ไม่รู้จักว่าคุณมงคลหรือบัสบาสเขาใช้เฟสบุ๊กชื่ออะไร เขาโพสต์ว่าอะไร แล้วข้อความนั้นมันกระทบกระเทือนอะไรกับใครอย่างไร เขาเหมือนเป็นคนที่อินอะไรมากๆ แล้วเขาก็โพสต์อยู่คนเดียวแทบไม่มีใครเห็น แทบไม่มีใครไลค์ ไม่มีใครมีส่วนร่วมอะไรกับเขา แล้วการกระทำแบบนี้ที่ไม่มีใครรับรู้เลยว่ามันคืออะไร มันจะเป็นความผิดต่อความมั่นคง มันจะกระทบกระเทือนจิตใจประชาชนขนาดที่อภัยไม่ได้ขนาดไหนครับ"

เขาเล่าเรื่องของมงคลต่อว่า ระหว่างที่มงคลไปนั่งอดอาหารประท้วงอย่างสันติอยู่บริเวณหน้าศาลอาญา วันหนึ่งมีกลุ่มที่เข้าใจผิดไปว่ามงคลไปทำอะไรต่อพระบรมฉายาลักษณ์ จึงรวมตัวกันใส่เสื้อสีฟ้าซึ่งมาในนามของ "ความจงรักภักดี" บุกไปทำร้ายด้วยท่อนเหล็กและทำลายทรัพย์สินจนมงคลต้องวิ่งหนี และคดีทำร้ายดังกล่าวก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่มงคลได้รับโทษจำคุกไปแล้ว

ยิ่งชีพทิ้งท้ายในส่วนมงคลว่า หากว่าที่ประชุมไม่เห็นชอบร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับประชาชน จะเป็นการนิรโทษกรรมให้กับคนที่ทำร้ายร่างกายมงคล แต่จะไม่ได้นิรโทษกรรมให้มงคลที่อาจจะต้องอยู่ในเรือนจำไปจนถึงอายุ 80 ปี หรืออาจไม่ได้อออกมาจากเรือนจำอีกเลย ยิ่งชีพสะท้อนกรณีบัสบาสกับการนิรโทษกรรมว่า

"อันนี้เรียกว่าความเป็นธรรมหรือครับ อันนี้เรียกว่าสังคมสันติสุขหรือครับ?"

ณัฏฐธิดาติดคุกฟรี ถูกล่วงละเมิด แต่รัฐกลับจะเปิดช่องนิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ล่วงละเมิดเธอ

ยิ่งชีพกล่าวถึงกรณที่สองคือณัฏฐธิดา หรือแหวน เธอเป็นหน่วยพยาบาลอาสา ณัฏฐธิดาอยู่ร่วมในเหตุการณ์การสลายชุมนุมที่มีคนถูกยิงตายในเขตอภัยทาน ณัฏฐธิดาเป็นพยานปากสำคัญที่ระบุได้ว่ากระสุนมาจากฝั่งทหาร ให้การอยู่ฝ่ายตรงข้ามทหารมาโดยตลอด วันหนึ่งที่ทหารมีอำนาจมากล้นจากการทำรัฐประหาร และใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน มีคนมาจับตัวณัฏฐธิดา ไปขังไว้ในค่ายทหาร สอบสวนและหาข้อหาให้เธอ ระหว่างการควบคุมตัว เธอถูกมัดข้อมือ ยึดทรัพย์สิน ถูกปิดตาโดยใช้ผ้าตลอดหลายชั่วโมงข้ามคืนทำให้ตาเธอช้ำ ซ้ำยังถูกคนที่สอบสวนเปิดเสื้อ ดูหน้าอก ล่วงละเมิดทางเพศเธอระหว่างถูกปิดตา เธอถูกตั้งข้อหามาตรา 112 หาว่าเธอส่งข้อความเข้าในไลน์ แต่ไม่มีหลักฐาน สุดท้ายศาลยกฟ้อง เธอถูกตั้งข้อหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด แต่ก็ไม่มีหลักฐาน สุดท้ายศาลยกฟ้อง

ยิ่งชีพกล่าวว่า “คุณณัฏฐธิดาติดคุกภายใต้คำสั่งศาลทหารอยู่สามปีกว่าอยู่ในเรือนจำ เป็นการติดคุกฟรีที่ไม่มีความผิดหาข้อหาให้ไม่ได้ แต่เธอถูกล่วงละเมิดไปแล้ว หลังจากที่เธอออกจากเรือนจำเมื่อปี 2561 เธอเดินสาย เธอทำทุกอย่างเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม เธอไปร้องเรียนทุกที่ เธอไปฟ้องทุกศาล กระทั่งกรรมาธิการหลายชุดของสภาแห่งนี้เธอก็มา

แต่เธอทวงถามความเป็นธรรมยังไม่ได้ เพราะตอนนั้นเธอถูกปิดตาอยู่ และเธอไม่รู้แม้แต่หน้าหรือชื่อของคนที่กำลังทำร้ายเธอในขณะนั้น”

“ถ้าหากวันนี้ท่านลงมติรับร่างนิรโทษกรรมเพียงเฉพาะร่างที่เสนอโดยฝ่ายรัฐบาล เท่ากับว่าท่านกำลังจะไม่ช่วยยืนยันว่า สองข้อหาที่คุณณัฏฐธิดาโดนนั้นเป็นเรื่องการเมืองและควรจะได้รับการอภัย และควรได้รับการยกเว้นความผิด ท่านไม่ช่วยยืนยันว่าเธอติดคุกฟรี แต่ท่านกำลังจะเปิดช่องให้มีการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ที่ทำร้ายเธอ ที่ล่วงละเมิดทางเพศเธอ และร่างยังเปิดช่องให้มีโอกาสจะนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร คนอื่นๆ ที่หันอาวุธใส่ประชาชน จับกุม ใช้กำลังทำร้ายประชาชน อีกหลายต่อหลายกรณี”

กรณีของณัฏฐธิดายิ่งชีพย้ำคำถามเป็นครั้งที่สองว่า “นี่นี้เรียกความเป็นธรรมเหรอครับนี่ นี่เรียกว่าเป็นการสังคมสันติสุขได้ไหมครับ?”

ธเนศผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกเคยจองจำและยังมีมลทินติดตัว

กรณีสุดท้ายที่ยิ่งชีพยกขึ้นมานำเสนอคือกรณีของธเนศ ธเนศถูกจับจากการส่งอีเมลหนึ่งฉบับในปี 2553 หลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง เนื้อหาในอีเมลเขียนถึงชาวต่างชาติคนหนึ่งขอให้ช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่กำลังถูกสังหาร ยิ่งชีพกล่าวถึงรายละเอียดต่อคดีนี้ต่อว่า การส่งอีเมลเป็นเรื่องของคนสองคน ข้อความควรจะถูกเห็นกันสองคนระหว่างผู้ส่งกับผู้รับ โดยปกติแล้วประชาชนคนอื่นจะไม่รู้เนื้อหาของอีเมล แต่อีเมลของผู้รับถูกดีเอสไอ “แฮค” จึงทำให้ไปตามจับธเนศได้

ระหว่างถูกคุมขัง ธเนศถูกส่งตัวไปตรวจที่สถาบันกัลยาราชนครินทร์ จิตแพทย์ไม่ตั้งใจรับฟังปัญหาของเขา แต่ได้ข้อสรุปแล้วว่า ธเนศเป็นโรคจิตหวาดระแวง (paranoid schizophrenic) สารเคมีในสมองทำให้เข้าใจข้อเท็จจริงบางอย่างผิดไปจากความเป็นจริง แต่ศาลยังพิพากษาธเนศให้จำคุกห้าปี ลดโทษเหลือสามปีแปดเดือน ทุกวันนี้เขาติดคุกจนได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่ยังกลับไปใช้ชีวิตปกติสุขไม่ได้

เมื่อสัปดาห์ก่อนธเนศเพิ่งโทรมาบอกแก่ยิ่งชีพว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ บ้านที่อยู่ ยังรังเกียจธเนศในฐานะคน “หมิ่นเจ้า" ไม่คบหาสมาคมด้วย ไม่ซื้อของที่เขาขาย ทำให้ไม่มีอาชีพและไม่มีรายได้มาหลายปี

“วันนี้หากสภาไม่ช่วยนิรโทษกรรมให้กับคดีเหล่านี้ เท่ากับว่าเราจะไม่ช่วยให้คุณธเนศพ้นจากมลทิน และจะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต ไม่มีทางออกได้ แต่ตามร่างที่มีการเสนอมาจากสส. ฝ่ายรัฐบาลกลับพบว่า ท่านจะนิรโทษกรรมให้กับข้อหากบฏ ให้กับคดีข้อหาก่อการร้าย ให้กับคนที่ตั้งใจปิดสนามบิน ตั้งใจทำให้ผู้โดยสารเป็นพันๆ หมื่นๆ คนได้รับความเดือดร้อน ทำให้ประเทศเสียหาย ท่านกำลังจะนิรโทษกรรมให้กับคนที่ตั้งใจชุมนุมโดยยึดสี่แยกสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ ปิดศูนย์ราชการ ยึดทำเนียบรัฐบาลเพื่อตั้งใจทำให้คนในเมืองหลวงใช้ชีวิตโดยปกติสุขไม่ได้ เพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องทางการเมืองของตนเอง ถ้าท่านไม่นิรโทษกรรมให้คุณธเนศแต่นิรโทษกรรมให้กลุ่มคนเหล่านี้"

ยิ่งชีพย้ำคำถามเป็นครั้งสุดท้ายว่า .แบบนี้เรียกความเป็นธรรมหรือครับ แบบนี้เรียกว่าสังคมสันติสุขได้หรือครับ?”

ยิ่งชีพได้ฟังสส. หลายท่านพยายามอธิบายในทำนองว่าว่า “วันนี้เราต้องช่วยคนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองจำนวนหนึ่งก่อน อย่าเพิ่งเอาคดีมาตรา 112 มาเป็นอุปสรรคให้การนิรโทษกรรมคดีอื่นไม่ประสบความสำเร็จ” ยิ่งชีพกล่าวตั้งคำถามว่าตนไม่แน่ใจว่าคดีเหล่านั้นหมายถึงคดีใด เขากล่าวว่า

“ผมถูกดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการไปชุมนุมสิบคดี และถูกคดีฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานอีกสามคดี ถ้าหากว่าวันนี้มีการนิรโทษกรรมทุกคน ทุกข้อหาไปพร้อมกัน ท่านจะสร้างสังคมสันติสุขสร้างความปรองดองสมัคคีสมานฉันท์ ผมก็เพียงได้อานิสงส์ไปด้วย ผมไม่ได้มาร้องขอท่านนะครับ"

"แต่ถ้าวันนี้ท่านจะลงมติเพื่อให้ผมเดินกลับบ้านได้คนเดียวในคดีบางคดี

แล้วท่านจะให้เบนจา ท่านจะให้ธนพัฒน์ เดินเข้าเรือนจำ ถ้าจะ ให้คนอีกหลายคนที่อยู่ในเรือนจำไม่มีวันได้ออกมา ผมขอยืนยันว่าผมไม่เอานะครับ นิรโทษกรรมแบบที่ท่านว่า แบบที่ได้บางคนไม่ได้บางคน และขอร้องว่าท่านไม่ต้องอ้างอิงเพราะเราตัดสินแทนทุกคนที่ถูกดำเนินคดีไม่ได้ บางท่านอาจจะรับครับแต่ก็มีอีกหลายท่านที่ไม่รับ ดังนั้นผมพร้อมจะเดินไปศาล ผมพร้อมจะไปต่อสู้คดี ผมพร้อมจะเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่จะรับโทษทัณฑ์จากศาล จากคำพิพากษา เพราะผมรับผิดชอบสิ่งที่เราไปชุมนุมจริงๆ”

ยิ่งชีพยังกล่าวถึงร่างฉบับที่ไม่รวมคดีมาตรา 112 อีกว่า

“แต่ถ้าวันนี้ท่านสมาชิกสภาที่ทรงเกียรติ มีเพื่อนฝูงข้างหลังท่าน ที่วิงวอนให้ท่านช่วยออกกฎหมายช่วยพวกเขา แล้วบอกท่านว่าให้ช่วยทิ้งคนบางกลุ่มไปก่อน และให้ช่วยเฉพาะคนบางกลุ่มก่อน คนกลุ่มนั้นแหละครับ คือคนที่ฝ่าฝืนกฎหมายแล้วไม่กล้ายอมรับจริงๆ คือตัวจริงเสียงจริงของคนที่ตอนชุมนุมก็ทำไป แล้วไม่กล้าเผชิญหน้ากับผลที่ตามมา แล้วยังใช้อภิสิทธิ์ ด้วยความที่รู้จักและสนิทกับท่านสส. จึงมาขอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้พวกตัวเอง”

“วันนี้ถ้าท่านบอกว่า ต้องการเห็นประเทศชาติสามัคคีปรองดองในประเทศชาติ โดยจะออกกฎหมายเพื่อให้คนบางกลุ่มพ้นผิดทุกข้อหา ไม่ว่าจะร้ายแรงและมีโทษเท่าไร ขณะที่ท่านจะคุมขังตีตราคนอีกกลุ่มหนึ่งไปตลอด ผมเห็นว่าเป็นการเดินไปผิดทางครับไม่ใช่การสร้างสังคมสันติสุข และเป็นการออกกฎหมายโดยเลือกปฏิบัติ ต่อคนบางกลุ่มอย่างชัดเจน ข้อเสนอแบบนี้ผมคิดว่ามันเป็นการนิรโทษกรรมที่แย่กว่าข้อเสนอที่หลายๆ ท่านเคยคัดค้านอย่างเป็นแทบตายในปี 2556 อีกนะครับ”

ยิ่งชีพกล่าวว่า มีสส. หลายท่านอธิบายว่า มีประชาชนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่รับฟังได้ เขาทราบดีว่าเรื่องนี้มีความเห็นที่แตกต่างซึ่งต้องถูกรับฟัง แต่ยิ่งชีพยืนยันว่าการนิรโทษกรรมทุกครั้งในอดีต 23 ครั้งของไทย ทุกครั้งมีความเห็นที่แตกต่าง ไม่ได้มีความเห็นพ้องกันทุกครั้งก่อนออกกฎหมาย แต่เขายืยนัย่นว่าเมื่อผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศมีเจตจำนงมากพอที่จะออกกฎหมาย ก็เป็นอำนาจของสภาที่จะออกกฎหมายฉบับนี้

“ถ้าท่านเชื่อว่าท่านมีอำนาจสูงสุดในประเทศจริง ถ้าท่านเชื่อว่าอำนาจในการออกกฎหมายอยู่ในมือของท่านจริงๆ เพียงท่านโหวตไป มันก็จะเดินไปได้ครับ และถ้ามีความเห็นต่าง มีคนที่ยังไม่เข้าใจอยู่บ้าง มีคนที่ไม่เห็นด้วยอยู่บ้าง เราก็มีชุดคำอธิบาย มีข้อมูล มีข้อเท็จจริง ถ้าหากได้รับการสื่อสาร ผมเชื่อว่าพวกเขาก็สามารถที่จะรู้สึกเห็นใจคนที่อยู่ในเรือนจำ และรู้สึกเข้าใจกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ไปเช่นเดียวกับสมาชิกหลายๆ ท่านในที่นี้ได้” ยิ่งชีพกล่าว

ยิ่งชีพทิ้งท้ายว่า “หากวันนี้ยังคงมีใครก็ตามที่ตัดสินไปก่อนแล้วว่า คดีมาตรา 112 เป็นคดีที่น่ารังเกียจอันไม่อาจแตะต้อง ไม่อาจจะไปทำอะไรได้ วันนี้พวกเราทั้งหมดจึงมายืนกันอยู่ตรงนี้ครับ เรามาเพื่อจะบอกท่าน เพื่อยืนยันว่าคดีมาตรา 112 มีมิติ มีชีวิตจริง มีข้อเท็จจริง มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นมากกว่าที่ท่านเคยทราบมา มีชีวิตและมีเลือดเนื้อของผู้คนที่อยู่ในนั้น

เรามาขอวิงวอนท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า ในการพิจารณาการนิรโทษกรรมคดีจากมูลเหตุจูงใจจากความขัดแย้งทางการเมือง ขอให้ท่านอย่าได้ปิดประตูตาย อย่าได้ทอดทิ้งเหยียบย่ำคนอีกหลายร้อยชีวิต เสมือนกับว่า พวกเขาไม่เคยมีตัวตนอยู่เลย หรือไม่ได้เจ็บช้ำและรู้สึกสูญเสียเลยกับช่วงเหตุการณ์ในเวลาที่ผ่านมา”

“เรามาขอให้ท่านลงมติรับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน เพื่อเป็นการเคารพต่อประวัติศาสตร์และเป็นการแสดงความเคารพต่อสามัญสำนึกในใจของท่านเองครับ”

"เรื่องมาตรา 112 วันนี้ไม่พูด วันหน้าก็ต้องพูด" ศศินันท์ สส.พรรคประชาชนวอนสส.เห็นชอบนิรโทษกรรมทุกฉบับ

ศศินันท์เริ่มอภิปรายด้วยการอ่านจดหมายจากเรือนจำของอานนท์ นำภา ผู้ต้องคดีมาตรา 112 จำนวน 14 คดี รวมโทษจำคุกในทุกคดีความทางการเมืองทั้งสิ้นราว 29 ปี

“ขอบคุณที่จดหมายฉบับนี้ได้ถูกอ่านในสถานที่อันทรงเกียรติแห่งนี้ สถานที่ที่ผ่านการต่อสู้ของบรรพชนฝ่ายประชาธิปไตยมาหลายสิบปี หลายท่านในที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้นั้นและหลายท่านคือมิตรสหายที่ร่วมต่อสู้กับกระผมมา

กระผมรู้สึกประหลาดใจและกระอักกระอ่วนใจที่ทราบว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้กำลังรวมกันเพื่อถกเถียงกันว่า จะนิรโทษกรรมให้กลุ่มตัวเองอย่างไรและจะกักขังคนรุ่นใหม่อย่างไร สำหรับคดีการเมืองที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งในห้วง 20 ปีมานี้ และแน่นอนความขัดแย้งที่คนรุ่นใหม่ยกขึ้นถกเถียงเป็นความขัดแย้งที่ยาวนานกว่านั้น

ในวันนี้มีคนที่ต้องเสียชีวิตระหว่างต่อสู้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์แล้วหลายคน มีคนที่ต้องลี้ภัยการเมืองหลายคน และมีคนที่ถูกดำเนินคดีถูกขังอยู่ในสถานที่ที่เรียกว่า “คุก” หลายคน รวมทั้งกระผมด้วย

กระผมขอเรียนตามตรงที่ต้องเขียนจดหมายฉบับนี้อย่างกระอักกระอ่วนใจ เพราะเรื่อง “นิรโทษกรรม” ไม่ใช่สิ่งที่พวกเราเรียกร้อง หากแต่เป็นปรากฏการณ์ซึ่งต้องเกิดขึ้นระหว่างทางก่อนที่บ้านเมืองนี้จะหันหน้าเข้าพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

“ย่างไรก็ตามในภาวะที่บ้านเมืองกำลังป่วยไข้นี้ กระผมไม่ได้หวังว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ทุกคนจะเข้าใจและเห็นพ้องด้วยกับความปรารถนาดีของพวกเราเยาวชนคนรุ่นใหม่ กระทั่งด้วยความป่วยไข้นี้หลายท่านอาจสบายใจที่ได้เห็นคนที่เห็นต่างทางการเมืองต้องสูญเสียทั้งชีวิตและเสรีภาพ แต่กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจำนวนหนึ่งลุกขึ้นเป็นเสาหลักและกล้ายอมรับความจริง เปิดเวทีให้เกิดการพูดคุยอย่างมีวุฒิภาวะ ระหว่างนี้ก็แสวงหาหนทางในการปลดปล่อยพวกเราจากพันธะทางกฎหมายซึ่งไม่เป็นธรรมนี้

ไม่ว่ากฎหมายนิรโทษกรรมจะผ่านหรือไม่ กระผมต้องขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้ผู้แทนราษฎรฝ่ายประชาธิปไตย ทำหน้าที่อย่างทนงองอาจ เปลี่ยนผ่านสังคมโดยสันติโดยรัฐสภา

กระผมขอทำหน้าที่เป็นหมุดหมายเล็กๆ เพื่อให้สังคมเห็นความไม่เป็นธรรมโดยระหว่างนี้ยังถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เฝ้ารอด้วยความหวังและให้ทุกๆ วันในนี้เพื่อการต่อสู้จนกว่าบ้านเมืองจะกลับสู่ภาวะปกติ เป็นประชาธิปไตย ผู้คนมีสิทธิเสรีภาพอย่างสมบูรณ์

อานนท์ นำภา 9 เมษายน 2568"

ศศินันท์อภิปรายต่อไปด้วยคำถามว่า เราจะเสริมสร้างสังคมสันติสุข สลายขั้ว และออกจากความขัดแย้งโดยทิ้งคนอีกกลุ่มไว้อย่างไร เธอระบุว่าเป็นผู้ติดต่อกับ สส. จากพรรคอื่นๆ ให้โหวตรับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจากทั้งพรรคก้าวไกล และจากภาคประชาชน เพื่อเข้าไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการร่วมกับร่างอื่นๆ ต่อไป

“ดิฉันและพรรคประชาชนเราใช้พลังมหาศาลในการแบกความหวัง ความเชื่อ และความจริงใจไปเพื่อพูดคุย แม้จะมีความเป็นไปได้เพียงหนึ่งเปอร์เซนต์ ดิฉันก็จะทำ

"ดิฉันได้รับข้อความจากสส.หลายท่านในที่ประชุมแห่งนี้ ที่บอกว่า ‘เห็นใจ เข้าใจ แต่ทำไม่ได้หรอก เรื่องมาตรา 112’ กลัวจะถูกยุบพรรคบ้าง บางคนบอกว่า ขนาดแค่แก้กฎหมายยังปัญหาเลย บางคนก็บอกกับดิฉันอย่างตรงไปตรงมาว่า ให้ไปคุยกับ ‘ข้างบน’ ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ทราบว่า ข้างบนที่ท่านพูดถึงนั้นคือใคร”

ศศินันท์กล่าวต่อไปว่า บางคนพูดกับเธอด้วยความขี้ขลาดว่า “คนของพวกพี่ไม่มีใครอยู่ในคุกแล้ว ผ่านไม่ผ่านพวกพี่ก็ไม่เดือดร้อนอะไรหรอก” ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้ว ตลอดสองปีที่ผ่านมา ยังมีผู้ต้องขังคดีการเมือง บางคนต้องลี้ภัย และในห้วงเวลา 20 ปีแห่งความขัดแย้งได้พรากเอาความหวังความฝันออกไปจากคนหลายคน ไม่เพียงเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

“เรากำลังถกเถียงอยู่ในห้องแอร์ว่า เราจะนิรโทษกรรมให้กับคนกลุ่มนั้นก่อน กลุ่มนี้ก่อน คดีนั้นยังไม่พร้อม คดีนี้ยังไม่ดี โดยเราไม่ได้คำนึงเลยว่า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน สีไหน คดีอะไร ทุกคนต่างก็เป็นประชาชนของทุกคนในที่แห่งนี้เหมือนกัน” ศศินันท์กล่าว

ศศินันท์กล่าวต่อไปว่า เราควรนิรโทษกรรมให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารประเทศ แต่ผู้ต้องคดีมาตรา 112 ไม่ใช่คนเหล่านั้นหรือ หลายคนได้ทุนการศึกษาในต่างประเทศก็ไม่สามารถออกไปศึกษาต่อได้ คนเหล่านี้ไม่สมควรได้รับโอกาสหรือ สมาชิกบางคนกล่าวว่า ประชาชนกลุ่มหนึ่งจงใจละเมิดกฎหมาย ถ้าหากใช้ตรรกะเดียวกัน คนอีกกลุ่มหนึ่งที่จะได้รับนิรโทษกรรมมิได้ละเมิดกฎหมายเช่นเดียวกันหรือ

ศศินันท์ได้ตอบโต้ กรวีร์ ปริศนานันทกุล ที่กล่าวว่า รอให้สังคมเห็นตรงกันก่อนก็ได้ค่อยมาผ่านกฎหมาย โดยยืนยันว่า กฎหมายหลายฉบับที่ผ่านสภาแห่งนี้ ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนเห็นตรงกัน แต่อยู่ที่ว่าเรามีความกล้าหาญเพียงพอหรือเปล่า ยิ่งการขอพระราชทานอภัยโทษ เธอเห็นว่ายิ่งแล้วใหญ่ เพราะยิ่งชี้ชัดว่าคดีตามมาตรา 112 เป็นคดีที่ถูกแบ่งแยกที่เรียกว่า "คดีการเมือง"

“ยิ่งมีความไม่เป็นธรรมมากมายเท่าไร ในสภาถกเถียงกันมากขึ้นขนาดไหน ในศาลมีความไม่เป็นธรรมที่กระบวนการพิจารณาคดีมากมายเท่าไร นั่นยิ่งแสดงให้เห็นว่านี่เป็นคดีการเมือง คดี 112 เป็นคดีอาญา และคดีที่ท่านอภัยโทษแต่ละครั้ง ท่านนิรโทษให้แต่ละคดี ในบัญชีแนบท้ายของแต่ละท่าน มันไม่ใช่คดีอาญาตรงไหน” ศศินันท์กล่าวย้ำ

อย่างไรก็ตาม ศศินันท์กล่าวอีกว่า แม้จะมีความหวังอยู่น้อยนิดในการเจรจากับ สส. พรรคอื่นเธอก็รู้ดีว่าในใจว่าทุกพรรคมีธงอยู่แล้ว แต่ก็เธอก็ยังหวังว่าาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับพรรคก้าวไกลจะผ่านการพิจารณาอยู่ ลำพัง แค่เสียงของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยซึ่งร่วมสู้ด้วยกันมาก่อน ก็สามารถเห็นชอบทั้งร่างทั้งสองฉบับได้

“บางคนบอกว่า ดิฉันโง่ ซื่อ บ้าหรือเปล่า ไปเจรจา เป็นไปไม่ได้ ทนายแจมแม่งโลกสวย แต่ดิฉันก็ยังมีความเชื่ออยู่ดีว่า พวกท่าน ลึกๆ ในใจก็รู้ว่าปัญหามันคือเรื่องอะไร เรื่อง (มาตรา) 112 วันนี้ไม่พูด วันหน้าก็ต้องพูดอยู่ดี เราหนีความจริงเรื่องนี้ไม่ได้” ศศินันท์กล่าว

ศศินันท์ยังย้ำอีกว่า ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกลไม่มีคำว่า “มาตรา 112” ในร่างเลย หลายพรรคก็เห็นตรงกันว่า เป็นร่างที่ประนีประนอมที่สุด เป็นไปได้ที่สุด และหลายพรรคชื่นชมว่าดีที่สุด และไม่มีจุดใดที่ขัดกับหลักการของพรรคอื่นๆ โดยยังเสริมอีกว่า หากมีความกังวลเรื่องฝ่ายความมั่นคงว่าการเห็นชอบร่างฉบับภาคประชาชน หรือฉบับพรรคก้าวไกลมันตะขิดตะขวงใจ ขอให้งดออกเสียงก็เพียงพอจะให้ทุกร่างได้เข้าไปสู่ชั้นกรรมาธิการ

ศศินันท์ระบุว่าการพิจารณาในวันนี้เป็นเพียงวาระหนึ่งเท่านั้น เธอหวังว่า สส. ในที่ประชุมจะไม่ใจร้ายปิดประตูการพิจารณาตั้งแต่วาระแรก

สุดท้าย ศศินันท์ขอร้องต่อที่ประชุมว่า ขอเรียกร้องความกล้าหาญทางการเมือง หรืออย่างน้อย หากเข้าใจและเห็นใจประชาชน ก็ขอให้เปลี่ยนความเห็นใจเป็นการงดออกเสียงต่อร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกลและร่างนิรโทษกรรมประชาชนแทน

รทสช.-ภจท.ย้ำไม่นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112

ขณะเดียวกันก็มีการย้ำจุดยืนจากสส. พรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคภูมิใจไทยต่อการนิรโทษกรรมที่ไม่รวมคดีมาตรา 112 ซึ่งนอกจากที่อภิปรายวันนี้แล้วยังมีร่างฉบับพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ทั้งสามฉบับนี้มีจุดยืนอย่างชัดเจนว่าจะไม่นิรโทษกรรมให้คดีมาตรา 112 อย่างชัดเจน โดยวิชัย สุดสวาสดิ์ สส. จังหวัดชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายสรุปถึงจุดยืนการนิรโทษกรรรมโดยไม่รวมคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “สิ่งหนึ่งที่พรรครวมไทยสร้างชาติตระหนักมาตลอดเวลาคือ คดีอาญามาตรา 112 พวกเราไม่สามารถรับได้” วิชัยกล่าว

กรวีร์ย้ำพรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยนิรโทษกรรม ม. 112 ชี้ให้ขอพระราชทานอภัยโทษแทน

กรวีร์ ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดอ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ได้รับมอบหมายจากผู้เสนอร่าง คือ อนุทิน ชาญวีรกูล สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรค อภิปรายสรุปร่างนิรโทษกรรมฉบับพรรคภูมิใจไทยว่า เป็นเวลาสิบกว่าปีนับแต่ปี 2556 ที่ได้ใช้พื้นที่สภาพูดคุยเรื่องนิรโทษกรรม เขาขอบคุณที่มีการใช้พื้นที่แห่งนี้ในการแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวแทนภาคประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน โดยกล่าวว่าสิ่งที่ภาคประชาชนเสนอไม่ได้สูญเปล่า

กรวีร์เชื่อว่า ทุกพรรคการเมืองและทุกภาคส่วนของสังคมเห็นภาพตรงกันว่า ประเทศของเราจะเดินหน้าและก้าวไปสู่สังคมแห่งความปรองดอง เป็นสังคมแห่งสันติสุขอย่างแท้จริง

“เราไม่ได้ถกเถียงกันเรื่องว่าวันนี้เราจะมานิรโทษกรรมหรือไม่ ถ้าหากว่าเป็นหลายปีก่อน ผมคิดว่า ประเด็นหลักที่เราจะถกเถียงคือ เราสมควรจะนิรโทษกรรมหรือไม่ วันนี้ จะเห็นว่าสังคม จะเห็นว่าสภาแห่งนี้ เราก็ก้าวหน้าขึ้นมา วันนี้เราพูดคุยว่า ถ้าหากว่าเราจะนิรโทษกรรม เราจะนิรโทษกรรมกันแบบไหน ที่จะทำให้สังคม ที่จะทำให้ประเทศไทยของพวกเราเดินต่อไปข้างหน้าได้”

กรวีร์ย้ำว่า พรรคภูมิใจไทยก็เห็นอย่างที่ภาคประชาชนอยากเห็น แต่แตกต่างกันที่ "วิธีการ" โดยยกเหตุการณ์การเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อปี 2556 ที่เขาเองก็เคยลงมติรับร่างในวาระหนึ่ง แต่เมื่อลงมติแล้ว ก็ไม่สามารถออกจากสภาได้จากความเคลื่อนไหวของมวลชนที่คัดค้าน และนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ในที่สุด ซึ่งกรวีร์มองว่า หากเราจะได้มองย้อนกลับไปนสิ่งที่เราทำผิดพลาดไป มันจะเป็นประโยชน์

โดยครั้งนี้ พรรคภูมิใจไทยไม่อยากเห็นกงล้อประวัติศาสตร์กลับไปสู่จุดเดิม จึงพยายามหาทางออกสู่สังคมสันติสุขที่ทำให้พอจะขยับไปข้างหน้าได้บ้าง โดยไม่กระทบคนส่วนใหญ่ของสังคมจนทำให้รู้สึกว่า เราไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับคนกลุ่มดังกล่าว

กรวีร์ยังกล่าวถึงจุดยืนของพรรคภูมิใจไทยต่อกรณีการนิรโทษกรรมอีกครั้ง ว่า ไม่นิรโทษกรรมให้คดีทุจริต ความผิดต่อชีวิต และคดีตามมาตรา 112 โดยเชื่อว่า หากแยกออกไปก่อน จะลดความขัดแย้งและเหตุที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าได้

“ถ้าหากว่าเราจะก้าวเดินไปข้างหน้าสักครึ่งก้าว หรือจะเดินไปสักก้าวหนึ่ง ก็ยังดีกว่ายืนอยู่ที่เดิม แต่การที่จะเดินหน้าไปสู่ตรงนั้นได้ เราต้องมั่นใจว่า ก้าวที่จะเดินออกไป กุญแจหรือกฎหมายที่เราจะอนุมัติผ่านสภาแห่งนี้ไปนั้น มันจะเป็นกุญแจที่เปิดประตูบานที่นำไปสู่สังคมสันติสุข สังคมแห่งความปรองดองของประเทศชาติ ไม่ใช่กุญแจที่เปิดประตูบานที่นำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ในอนาคตอันใกล้ที่จะตามมา” กรวีร์กล่าว

กรวีร์กล่าวถึงคดีตามมาตรา 112 ที่ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้ชี้แจงร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับภาคประชาชนยกขึ้นมาอภิปรายสรุปในลำดับก่อนหน้าว่า ตน "เห็นใจ" และเห็นว่าถ้าหากเราเลือกได้ในบางกรณี ก็ไม่ควรจะเกิดขึ้น และเราก็ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า มีผู้ต้องคดีจำนวนไม่น้อย ที่ “จงใจละเมิดกฎหมาย” และมีจำนวนไม่น้อยที่ “ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก” แล้วถูกลงโทษตามกฎหมาย โดยหากในสภายังมีความเห็นที่แตกต่างกัน แล้วหากเป็นความขัดแย้งในสังคมไทย จะนำไปสู่ความขัดแย้งและนำไปสู่การเผชิญหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่สันติสุขต่อไปในอนาคตหรือไม่ กรวีร์นำเสนออีกทางเลือกว่า “มีช่องทางอื่นครับ เช่น ถ้าสำนึกผิด ก็ไปขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งที่ผ่านมานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ครับ ผมเห็นมีหลายกรณี มีหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ผู้ที่ออกมาร่วมชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นนักคิด นักวิชาการที่เขาถูกลงโทษไปแล้วขอพระราชทานอภัยโทษ ผมก็เห็นทางสถาบันพระมหากษัตริย์ก็พระราชทานอภัยโทษลงมานะครับ การกระทำแบบนี้ต่างหากครับ ที่จะทำให้คนอีกส่วนหนึ่งของสังคมเขาเห็นว่า ถ้ามีคนที่กระทำผิดตามกฎหมายแล้วรับโทษตามกฎหมายแล้ว ได้รับความยุติธรรมแล้ว ออกมาสู่สังคม เราจึงจะอยู่กันได้บนความยุติธรรม บนสังคมที่มันเป็นสุขอย่างแท้จริง”

กรวีร์ย้ำจุดยืนอีกครั้งว่า ไม่ได้เห็นรังเกียจต่อผู้กระทำผิดตามมาตรา 112 แต่หากนิรโทษกรรมแบบเหมารวมไปเลย สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความไม่สงบสุขรอบใหม่ และจะต้องขอนิรโทษกรรมไม่จบไม่สิ้น

กรวีร์ขอให้สส. ทั้งหลายรับร่างของพรรคภูมิใจไทย โดยทิ้งท้ายว่า สิ่งใดที่ไม่ขัดต่อหลักการของพรรค พรรคภูมิใจไทยยินดีสนับสนุน และขออภัยที่ไม่อาจสนับสนุนร่างกฎหมายที่ขัดต่อจุดยืนของพรรคได้ และทำให้เจตนาดีของสภานี้เป็นอันสูญเปล่า ส่ิงที่อยากเห็น คือการนิรโทษกรรมที่ก้าวไปสู่ก้าวแรกของการสลายความขัดแย้ง ไม่ใช่การสร้างบาดแผลแห่งความขัดแย้งครั้งใหม่

ร่างฉบับภาคประชาชนและพรรคก้าวไกลไม่ผ่านวาระแรก

ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม-สร้างเสริมสังคมสันติสุขในวาระหนึ่งรวมห้าฉบับ มีร่างกฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบในวาระแรกเพียงสามฉบับ ได้แก่ร่างสร้างเสริมสังคมสันติสุข เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ สส. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน สส. พรรคภูมิใจไทย และมีร่างกฎหมายที่ไม่ได้รับความเห็นชอบสองฉบับ ได้แก่ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับพรรคก้าวไกล (เดิมก่อนยุบพรรค) และร่างกฎหมานนิรโทษกรรมฉบับภาคประชาชนที่เข้าชื่อโดยประชาชน 36,723 คน ผลการลงมติมี ดังนี้

รับหลักการสามฉบับ

  • ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับพรรครวมไทยสร้างชาติ มีจำนวนเห็นชอบ 299 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 172 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง

  • ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับพรรคครูไทยเพื่อประชาชน มีจำนวนเห็นชอบ 311 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 158 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง

  • ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับพรรคพรรคภูมิใจไทย มีจำนวนเห็นชอบ 311 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 147 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 0 เสียง

ไม่ผ่านด่านแรกสองฉบับ

  • ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับพรรคก้าวไกล มีจำนวนเห็นชอบ 147 เสียง ไม่เห็นด้วย 319 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง

  • ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับประชาชน มีจำนวนเห็นชอบ 149 เสียง ไม่เห็นด้วย 306 เสียง งดออกเสียง 20 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 0 เสียง

ขณะเดียวกัน ที่ลานประชาชน รัฐสภา เครือข่ายนิรโทษกรรมระชาชนนัดทำกิจกรรมร่วมติดตามและส่งเสียงสนับสนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน และได้มีแถลงการณ์เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เพื่อแสดงจุดยืนต่อการนิรโทษกรรม 3 ข้อ ดังนี้

1. หากจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ต้องกระทำอย่างจริงใจและครอบคลุม “ทุกคน ทุกคดีทางการเมือง” ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติตามสีเสื้อหรือความเชื่อทางการเมือง และปล่อยให้ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีมาตรา 112 หลายร้อยคน ยังคงต้องเผชิญกับคดีความต่อไป

2. หลังจากนี้หากสภาผู้แทนราษฎรมีความจริงใจในการแก้ไขความขัดแย้ง ก็ยังมีโอกาสในการคืนความเป็นธรรมให้จำเลยคดีทางการเมืองทุกคนในการพิจารณาวาระที่สอง และสาม แต่หากการพิจารณาในวาระถัดไป เดินไปแบบ “เลือกปฏิบัติ” ที่จะกีดกันคนบางกลุ่มไม่ให้ได้รับนิรโทษกรรม กระบวนการนี้จะเดินไปเพียงเพื่อช่วยเหลือคนบางกลุ่ม ไม่ใช่การคืนความสามัคคีปรองดอง และเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างสังคมสันติสุขตามหลักการที่สส. ฝ่ายรัฐบาลกล่าวอ้าง

3. ความหวังสำหรับนักโทษการเมืองในคดีมาตรา 112 ที่จะได้ออกจากเรือนจำและพ้นความผิดยังไม่หมดลง เพียงแต่อาจใช้เวลาเพิ่มขึ้น ในระหว่างนี้จึงต้องขอให้ประชาชนที่ยังพร้อมสนับสนุนช่วยกัน “ประคับประคอง” แรงใจและแรงกายของผู้ที่อยู่ในเรือนจำและครอบครัวไปด้วยกันก่อน และเมื่อถึงวันที่มีการเลือกตั้งสส. ครั้งถัดไป เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเห็นว่า ต้องขอให้ประชาชนทุกคนลงคะแนนเลือกเฉพาะพรรคการเมืองที่ลงมติให้นิรโทษกรรมแก่คดีการเมือง “ทุกคดี” เท่านั้น

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก iLaw

เปิดมติ สส. เรียงคน ใครโหวตรับ/ไม่รับร่าง #นิรโทษกรรมประชาชน รวมคดี 112

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

คดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ที่ สส. ส่วนใหญ่ไม่ให้ปลดบ่วงพันธนาการ

19 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความการเมืองอื่น ๆ

‘โรม’เย้ย ‘เพื่อไทย’ ไร้กระดูกสันหลัง วอนเลิกชูตัวเองเป็น ‘นักสู้ประชาธิปไตย’

THE POINT

แม่ทัพภาคที่ 2 เยี่ยมทหารรับบาดเจ็บ เหยียบกับระเบิดที่ช่องบก

NewsXtra

กกพ.เคาะ3ทางเลือกค่าไฟงวดก.ย.-ธ.ค.68 ที่3.98–5.10บ./หน่วย

INN News

กมธ.ใช้กฎหมายใหม่เรียก "แพทองธาร" แจงปมคุย "ฮุน เซน"

Thai PBS

มทภ.2 เร่งพิสูจย์วัตถุระเบิดชายแดนไทย-กัมพูชา ของเก่าหรือใหม่ 3 วันรู้ผล

กรุงเทพธุรกิจ

"ศาลรัฐธรรมนูญ" มีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้อง ฟัน "กกต." จัดเลือก "สว. ไม่สุจริต" ปล่อย "ภูมิใจไทย" ครอบงำ

สยามรัฐ

ข่าวและบทความยอดนิยม