เปิดมติ สส. เรียงคน ใครโหวตรับ/ไม่รับร่าง #นิรโทษกรรมประชาชน รวมคดี 112
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 สภาผู้แทนราษฎร มีมติ “ไม่รับหลักการ” ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน ที่ภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอ ให้นิรโทษกรรมคดีทางการเมืองโดยรวมคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง (ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ) ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกลเสนอก่อนถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค
อย่างไรก็ดี สภามีมติ “รับหลักการ” ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุขรวมสามฉบับ ที่เสนอโดย สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ สส.พรรคครูไทยเพื่อประชาชนที่ต่อมาย้ายมาสังกัดพรรคกล้าธรรม และ สส.พรรคภูมิใจไทย ทั้งสามฉบับกำหนดตรงกันว่าไม่ให้นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 แต่คดีที่มีอัตราโทษสูงกว่าอย่างคดีกบฏ ตามมาตรา 113 เข้าข่ายนิรโทษกรรมตามกฎหมายนี้
สำหรับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ที่ประชาชนร่วมกันลงชื่อเสนอเข้าสู่สภา มี สส. ที่ลงมติเห็นด้วย 149 เสียง ไม่เห็นด้วย 306 เสียง และงดออกเสียง 20 เสียง
พรรคร่วมรัฐบาล-ภูมิใจไทยเสียงแทบไม่แตก เลือกโหวต “ไม่เห็นด้วย” ร่างภาคประชาชน
กลุ่มที่เห็นด้วย ส่วนใหญ่มาจากเสียงสส. พรรคประชาชน 141 เสียง ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทย 6 เสียง ได้แก่ 1) ก่อแก้ว พิกุลทอง 2) จาตุรนต์ ฉายแสง 3) เชิดชัย ตันติศิรินทร์ 4) ทศพร เสรีรักษ์ 5) สุธรรม แสงประทุม และ 6) อดิศร เพียงเกษ
โดยสุธรรม แสงประทุม เป็นหนึ่งในผู้ที่เคยได้ “นิรโทษกรรม” หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จากคดีดำที่ 253ก./2520 ซึ่งมีข้อหาตามมาตรา 112 รวมอยู่ด้วย ขณะที่อดิศร เพียงเกษ จาตุรนต์ ฉายแสง ก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์จาก คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 ที่กำหนดนโยบายในการผ่อนปรนให้ผู้ที่เข้าป่าไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สามารถมอบตัวและพ้นผิดจากข้อหาต่างๆ ได้
เสียงเห็นด้วยอีกสองเสียง มาจาก กัณวีร์ สืบแสง สส. พรรคเป็นธรรม และวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สส. ภูมิใจไทย ซึ่งลงมติสวนแนวทางกับ สส. คนอื่นในพรรคที่ลงมติ “ไม่เห็นด้วย” อย่างไรก็ดี ภายหลังเขาชี้แจงว่า “เข้าใจผิด” คิดว่าเป็นร่างฉบับที่พรรคภูมิใจไทยเสนอ
ขณะที่เสียงไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่ มาจากพรรคเพื่อไทย 128 เสียง ตามมาด้วยพรรคภูมิใจไทย 66 เสียง รวมไทยสร้างชาติ 33 เสียง กล้าธรรม 23 เสียง ประชาธิปัตย์ 23 เสียง ประชาชาติ 8 เสียง ไทยสร้างไทย 5 เสียง ชาติพัฒนา 3 เสียง ไทยรวมพลัง 2 เสียง และพรรคไทยก้าวหน้า 1 เสียง และพรรคประชาชน 1 เสียง คือ กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ แม้จะมีแนวทางโหวต “ไม่เห็นด้วย” ให้กับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่พรรคก้าวไกลเสนอ แต่สำหรับร่างภาคประชาชน เสียงส่วนใหญ่ 14 เสียงเลือกโหวตงดออกเสียง อีก 4 เสียงโหวตไม่เห็นด้วย
นอกจากพรรคพลังประชารัฐที่โหวตงดออกเสียง ยังมีเพื่อไทยอีก 3 เสียง คือ 1) ขจิตร ชัยนิคม 2) วันนิวัติ สมบูรณ์ และ 3) พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาซึ่งนั่งเป็นประธานในที่ประชุม พรรครวมไทยสร้างชาติ 1 เสียง คือ จุติ ไกรฤกษ์ พรรคประชาชาติ 1 เสียง วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา และไทยสร้างไทย 1 เสียง ชัชวาล แพทยาไทย