โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ถอดรหัส 5 บทเพลงเยียวยาแผลใจ ในวันที่โลกใจร้ายกับคุณ

Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส

อัพเดต 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ภาพไฮไลต์

ว่ากันว่าดนตรีเป็นภาษาสากล ไม่ว่าใครในโลกก็สามารถสัมผัสได้ถึงสุนทรียศาสตร์ที่เสียงดนตรีมอบให้ได้อย่างเท่าเทียมกัน แต่จะแตกต่างกันเล็กน้อยสำหรับเนื้อหาของบทเพลง เนื้อเพลงไม่ใช่ภาษาสากลเสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยภาษาที่ใช้ก็ย่อมแตกต่างกันออกไป ถึงแม้ว่าเราจะมีความสามารถทางภาษาและแปลมันออกมาได้แบบคำต่อคำ ประโยคต่อประโยค แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเนื้อเพลงเหล่านั้นจะมีความหมายตายตัว

การทำความเข้าใจกับสารอันเป็นปัจเจกที่ศิลปินต้องการจะสื่อออกมาผ่านบทเพลง ทำให้ผู้ฟังต้องอ่านความหมายระหว่างบรรทัดและตีความไปตามความคิดและประสบการณ์ส่วนตัว ถึงจะอย่างนั้นหลายต่อหลายเพลงก็มีสาระสำคัญเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความเกรี้ยวโกรธ ความเศร้า ความเหงา และอื่นๆ

ในสถานการณ์ที่การเมือง เศรษฐกิจ สงคราม ภัยธรรมชาติ และอีกหลายเรื่องส่งผ่านความตึงเครียดมาสู่ผู้คนทั้งในสังคมไทยและทั่วโลก คงจะเป็นการดีที่เราจะแบ่งปันบทเพลงที่ไพเราะน่าฟัง กระทั่งเพลงที่ถึงแม้จะฟังแล้วให้ความรู้สึกเหงา แต่พร้อมกันก็นำความรู้สึกที่ดีอย่างน่าประหลาดใจมาให้ เพลงสั้นๆ อาจเป็นช่วงเวลาที่เราได้สัมผัสถึงความงดงามทางวรรณศิลป์ รวมถึงความเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกอันหลากหลายซึ่งซุกซ่อนอยู่

มีเพลงดีๆ เหลือคณานับในโลกใบนี้ที่มอบความหวังและความปรารถนาดีให้กับผู้ฟัง เช่นเดียวกับห้าเพลงที่ไทยรัฐพลัสนำมากล่าวถึงในบทความนี้ มันเป็นเพลงที่มีคุณค่าในหลายด้านและผู้เขียนเองชื่นชอบเป็นการส่วนตัวมาอย่างยาวนาน หลายเพลงอาจจะไม่ใช่เพลงที่ได้รับความนิยมในกระแสหลัก แต่เชื่อเถอะว่ามันล้ำค่าเกินกว่าจะถูกชี้วัดด้วยความสำเร็จทางด้านยอดขาย

หวังว่าหากได้อ่านและทำความเข้าใจกับบทเพลงทั้งห้านี้แล้ว ผู้อ่านจะมีความรู้สึกอยากฟังเพลงเหล่านี้ด้วยตัวเอง มีความรู้สึกลึกๆ กับทุกเพลง ส่วนผู้ที่เคยฟังเพลงเหล่านี้มาแล้ว ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามันจะช่วยให้เข้าใจหัวใจสำคัญที่ศิลปินต้องการสื่อมากขึ้นกว่าเดิม

งานเพลงที่ดีอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้ แต่มันก็ทรงพลังมากพอที่จะเปลี่ยนทัศนคติและสร้างความสุขให้กับเราในวันแย่ๆ หรือวันที่ ‘โลกใจร้าย’ เหลือเกินได้เหมือนกัน

Into My Arms ความรักของคุณคือพระเจ้าของฉัน

ในระหว่างที่เป็นวิทยากรในหัวข้อ “The Secret of the Love Song” ที่สถาบัน Academy of Fine Arts ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย นิค เคฟ เคยบอกกับนักศึกษาศิลปะผู้เข้าร่วมสัมมนาว่าเพลง Into My Arms ที่เขาแต่งเป็นเพลงที่เขาภาคภูมิใจที่สุดในอาชีพศิลปิน

นิค เคฟ เป็นศิลปินชาวออสเตรเลีย งานเพลงของเขามักจะเกี่ยวข้องกับความรัก ความตาย ศาสนา และความเจ็บปวด เขาเคยกล่าวไว้ว่า Into My Arms เป็นเพลงที่เขาแต่งในระหว่างเข้ารับการบำบัดอาการติดยาเสพติด (เขาเคยติดเฮโรอีนอยู่นานถึง 20 ปี)

“หลังจากที่เข้าโบสถ์เสร็จและกำลังเดินอยู่บนสนามหญ้า ผมจำได้ว่าอยู่ๆทำนองของเพลงเพลงนี้ก็ดังขึ้นมาในห้วงความคิด และพอผมเดินถึงสถานบำบัด ผมนั่งลงหน้าเปียโนเก่าๆหลังหนึ่งในห้อง ก่อนที่จะลงมือเขียนคอร์ดและเมโลดีอย่างรวดเร็ว พอกลับถึงห้องนอนผมก็นั่งลงบนเตียงและลงมือเขียนเนื้อเพลง”

เขากล่าวว่า Into My Arms เป็นเพลงที่เขาแทบจะไม่ได้ใช้สมองแต่ง แต่มันมาจากความรู้สึกข้างใน มีคนตีความว่ามันเป็นเพลงที่ นิค เคฟ แต่งให้กับ วิเวียน คาร์เนโร อดีตภรรยาคนแรก แต่หากพิจารณาให้ลึกกว่านั้นแล้วล่ะก็ เพลงเพลงนี้เป็นมากกว่าเพลงที่แต่งให้กับความรักที่แหลกสลายลงจนไม่อาจจะประกอบให้กลับมาดีดังเดิมได้อีกต่อไป แต่มันเป็นเพลงที่พูดถึงความตายรวมถึงความเชื่อทางศาสนาที่ทั้งขัดแย้งและกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างน่าอัศจรรย์

เครื่องดนตรีที่ใช้ในการบันทึกเสียงเพลง Into My Arms มีเพียงเปียโนและเบสไฟฟ้าเท่านั้น แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะส่งผ่านความเศร้าและความหวังให้ผู้ฟังตกอยู่ในภวังค์ดั่งมีมนต์สะกด ส่วนท่วงทำนองของเพลงให้ความรู้สึกราวๆ กับเรากำลังวิงวอนข้อร้องความเป็นธรรมจากพระเจ้าอยู่ภายในโบสถ์ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าตัวเพลงได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเข้าโบสถ์เมื่อครั้งที่เขายังอยู่ในสถานบำบัด

ทางเดินบนเส้นทางชีวิตของ นิค เคฟ เต็มไปด้วยขวาหนามและโศกนาฏกรรม พ่อของเขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชนในขณะที่เขาอายุ 21 ปี ซึ่งความสูญเสียนี้มีส่วนสำคัญต่อทิศทางเพลงโดยรวมที่เขาสร้างขึ้นในฐานะฟรอนต์แมนวง Nick Cave and the Bad Seeds ส่วนการสูญเสีย อาร์เธอร์ ลูกชายวัย 15 ปีจากอุบัติเหตุตกเขาเมื่อปี 2015 ก็ทำให้เขาถึงกับย้ายบ้านจากเมือง ไบรท์ตัน ในประเทศอังกฤษไปอยู่ที่แอลเอ สหรัฐอเมริกาแทน เพราะไม่อาจทนอยู่ในบ้านหลังเก่าที่เคยอาศัยอยู่กับลูกชายได้

ในปี 2022 เจโทร ลูกชายอีกคนของเขาก็จากไปในวัย 31 ปี ถึงแม้ว่าการเสียลูกชายไปอย่างไม่มีวันกลับถึงสองคนจะเกิดขึ้นหลังจากที่เขาแต่งเพลง Into My Arms นานหลายสิบปีก็ตาม แต่มันก็แสดงให้เห็นถึงสภาวะภายในจิตใจของ นิค เคฟ ได้อย่างชัดเจนว่าความสูญเสียนั้นสั่นคลอนความเชื่อได้อย่างรุนแรงไม่แพ้กับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ซึ่งสร้างคลื่นสึนามิแห่งความเศร้าโศกที่พัดถล่มสภาพจิตใจของเขาให้พังทลายลงอย่างราบคาบได้อย่างไร

หัวใจของเพลง Into My Arms คล้ายคลึงกับเพลงของตำนานเพลง ลีโอนาร์ด โคเฮน หากมองในภาพรวม กล่าวคือบทเพลงเหล่านี้ได้รับอิทธิพลอย่างสูงมาจากพระคัมภีร์ไบเบิ้ลหรือพระวัจนะของพระเจ้าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

นิค เคฟ แต่งเนื้อเปิดเพลงเพลงนี้ด้วยคำว่าเขาไม่เชื่อใน ‘บทบาทของพระเจ้า’ (Interventionist God) นั่นหมายความว่าเขาไม่เชื่อว่าคำอธิษฐาน ปาฏิหาริย์ เข็มทิศนำทาง หรือว่าความรักที่ไร้เงื่อนไขของพระองค์นั้นมีอยู่จริง แต่ในท่อนต่อมาเนื้อเพลงบ่งบอกว่าเขารู้ดีว่าคนที่เขารักเชื่อในพระเจ้าอย่างสุดใจ ซึ่งถ้าหากว่าเขาเชื่อในพระองค์ สิ่งที่เขาจะทำคือการคุกเข่าขอให้พระเจ้าปล่อยให้เธอเป็นตัวของตัวเอง และถ้าหากพระองค์เป็นเข็มทิศให้กับเธอได้ ก็จงเป็นเข็มทิศที่นำทางเธอมาสู่อ้อมกอดของเขา

ท่อนที่สองก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน เขาไม่เชื่อนางฟ้าและเทพยดา แต่เมื่อมองไปยังเธอที่เชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านี้อย่างสุดใจแล้ว เขาก็รู้สึกสงสัยว่ามันอาจจะมีอยู่จริง ซึ่งถ้านางฟ้ามีจริง ก็ขอให้มาปกปักษ์รักษาเธอด้วย ช่วยจุดเทียนเป็นแสงไฟส่องนำทางเธอในโมงยามที่มืดมิดเหมือนเข็มทิศของพระเจ้า เพื่อให้เธอเดินทางมาสู่อ้อมกอดของเขา

ท่อนสุดท้ายเป็นท่อนที่สรุปใจความทั้งหมด เขาบอกว่าเขาเชื่อในความรัก และเขาก็รู้ว่าเธอก็เชื่อในความรักเช่นกัน ความรักเป็นเหมือนทางเดินเส้นใดเส้นหนึ่งที่เราทั้งสองเดินเคียงกันไป ซึ่งก็หวังว่าแสงเทียนที่ส่องทางเดินทางนั้นจะสว่างและบริสุทธิ์มากพอที่จะทำให้เธอหันหลังกลับมาสู่อ้อมกอดของเขาตลอดมาและตลอดไป

เมื่อสมัยยังหนุ่ม นิค เคฟ เป็นคนไม่มีศาสนา (atheist) แต่เขามีความสนอกสนใจในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลเพราะหลงใหลในการใช้ภาษา สัญลักษณ์ และเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในนั้นเป็นพิเศษ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นคริสเตียนตามหลักปฏิบัติและไม่แน่ใจว่าพระเจ้ามีอยู่จริงหรือไม่ (agnostic) แต่ด้วยความจริงที่น่าสรรเสริญหลายๆ บทของพระคัมภีร์ก็ทำให้เขาเข้าโบสถ์บ้างเป็นบางครั้ง และยิ่งเข้าหาพระเจ้ามากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ได้สูญเสียลูกชายทั้งสองคนไป โดยเว็บไซต์ Church Times เคยลงบทความในปี 2022 ว่า นิค เคฟ เข้าโบสถ์ทั้งๆ ที่ไม่เชื่อในพระเจ้าแบบเต็มร้อยก็เพราะโบสถ์เป็นที่พักทางใจ เป็นที่ที่รับฟัง เงียบสงบ และมีแต่การให้อภัย

ที่ต้องกล่าวถึงความเชื่อทางด้านศาสนาส่วนตัวของ นิค เคฟ ก็เพราะมันมีอิทธิพลโดยตรงต่อเพลง In My Arms เพลงนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเขาไม่แน่ใจว่าพระเจ้ามีจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่เขารู้ว่าตัวเองมีอยู่แน่ๆ ก็คือความรักที่ตัวเองศรัทธา ดังนั้นเขาจึงศรัทธาในพระเจ้าตามคนที่เขารักด้วย คำว่า Intervene ที่แปลได้ว่า ‘เข้ามาแทรกแซงเปลี่ยนแปลง’ ที่ในความหมายทางศาสนาเชื่อว่าชีวิตของมนุษย์ดำรงอยู่ได้ด้วยพระประสงค์ของพระเจ้า และท่อนนี้ยังเป็นการเล่นคำที่ละลายความขัดแย้งทางด้านความเชื่อด้วยความรักที่ไร้เงื่อนไขอย่างงดงาม

นิค เคฟ เชื่อว่าพระเจ้ามีอยู่จริงเพราะความรัก เขาเชื่อว่าชีวิตมนุษย์เป็นไปตามพระประสงค์ (Intervene) ของพระองค์ แต่ถ้าเขาคุกเข่าขอพรได้ก็ขออย่าให้พระองค์เข้ามาเปลี่ยนแปลง (Intervene ในอีกความหมายหนึ่ง) เธอเลย เพราะเธอสวยงามและสมบูรณ์แบบอย่างที่เธอเป็นอยู่แล้ว และถ้าหากพระองค์ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในตัวเธอแล้วล่ะก็ ขอให้เป็นดาวนำทางในการเปลี่ยนแปลงเส้นทางที่เธอกำลังหลงอยู่ ให้เดินมาสู่อ้อมกอดของเขา

พระเจ้าจะมีจริงหรือไม่ สำหรับ นิค เคฟ แล้ว ไม่สำคัญเลย เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเขาคือความรัก และเขาก็รักเธอหรือใครคนนั้นอย่างสุดหัวใจ ถ้าหากเธอรักพระเจ้าและเขารักเธอแล้วล่ะก็ นั่นแหมายความว่า เธอเองนั่นแหละคือพระเจ้าสำหรับเขา

Northern Sky ในค่ำคืนอันมืดมิด ความรักจะทอแสงท่ามกลางแสงจันทร์

นิค เดรก เป็นศิลปินชาวอังกฤษที่ค่อนข้างจะอาภัพ เพราะในช่วงที่เขาสร้างสรรค์ผลงานเพลงออกมาในระหว่างปี 1969 -1972 นิค เดรก มีอัลบั้มวางจำหน่ายเพลง 3 ชุดเท่านั้นคือ Five Leaves Left, Bryter Layter และ Pink Moon ทุกชุดมียอดขายรวมกันไม่ถึง 15,000 แผ่น เหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาเป็นศิลปินที่ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังอะไรในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ มาจากการที่นิคแทบจะไม่เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อเลย เขาไม่โปรโมตอัลบั้มและแสดงคอนเสิร์ตน้อยมาก

ถ้าหากเปรียบเทียบกันแล้วล่ะก็ นิค เดรก ก็คล้าย วินเซนต์ แวน โก๊ะ แห่งวงการจิตรกรรม และ วิเวียน ไมเออร์ แห่งวงการภาพถ่าย เพราะกว่าที่ผู้คนจะค้นพบคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในผลงานเพลงของเขาก็ต้องรอให้เขาหมดลมหายใจไปก่อนอย่างน่าเสียดาย มีอยู่หลายเพลงของ นิค เดรก ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูว่าเป็นเพลงที่ใช้ภาษาได้อย่างมีวรรณศิลป์และถือเป็นกวีนิพนธ์ที่อยู่ในรูปของเพลง ป็อป โฟล์ก ได้อย่างวิจิตรบรรจง ไม่ว่าจะเป็น River Man, I Was Made to Love Magic, Fruit Tree, Day is Done, Which Will และอีกมากมาย ส่วน Pink Moon อัลบั้มชุดสุดท้ายในชีวิตของเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นงานเพลงต้นแบบของวงการเพลง อินดี้ โฟล์ก ไล่ตั้งแต่ยุค 70 มาจนถึงปัจจุบัน

มีศิลปินมากมายที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอัลบั้ม Pink Moon โรเบิร์ต สมิธ ชอบท่อนหนึ่งของเพลง Time Has Told Me ที่เขียนว่า “a troubled cure for a troubled mind” มากจนถึงขั้นนำมาตั้งชื่อวงของตัวเองว่า The Cure งานเพลงเดี่ยวในช่วงกลางยุค 80 ของ เดวิด ซิลเวียน แห่งวง Japan ได้รับอิทธิพลมาจาก Pink Moon โดยตรง กระทั่งวง Belle and Sebastian ก็เคยกล่าวว่า Pink Moon เป็นงานเพลงที่ทำให้ นิค เดรก เป็นอมตะ ส่วน เอลเลียต สมิธ และ เคิร์ต โคเบน แห่งวง Nirvana ต่างก็นำท่วงทำนองที่เศร้าสร้อยของ นิค เดรก มาเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเมโลดี้ให้กับงานเพลงของพวกเขา

บทเพลงของ นิค เดรก จับใจผู้ฟังด้วยเสียงกีตาร์ที่เล่นโน้ตแต่น้อยแต่กลับสร้างความรู้สึกที่ท่วมท้น ซึ่งเข้ากันได้ดีกับเสียงร้องที่เศร้าบาดลึกของตัวเขาเอง โดยเพลงที่ถือได้ว่าเป็นที่รักของแฟนเพลงมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของ นิค เดรก ก็คือเพลง Northern Sky

นิค เดรก แต่งเพลงเพลงนี้ในช่วงที่เขาอาศัยอยู่ที่บ้านของเพื่อนนักแต่งเพลง จอห์น มาร์ติน เป็นช่วงเวลาสั้นๆ โดย เบเวอร์ลีย์ ภรรยาของ จอห์น เผยว่า “นิค แต่งเพลง Northern Sky โดยที่มีเราอยู่ใกล้ๆ ตอนนั้นบ้านของเราที่สวนฝั่งตรงข้ามถนนมีต้นไม้อยู่ต้นหนึ่ง ต้นไม้ต้นนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ นิค แต่งเพลงด้วย เพราะห้องของเขาอยู่ติดกับยอดของต้นไม้พอดี มันเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาแต่งท่อนหนึ่งที่เขียนว่า ‘กลิ่นลมหวนอันอ่อนหวานจากยอดไม้’ ส่วนหน้าต่างห้องของ นิค ก็สามารถมองเห็นพระจันทร์เต็มดวงเหนือท้องทะเลในเวลากลางคืนได้ด้วย”

ทั้งต้นไม้ กลิ่นสัมผัสจากธรรมชาติ แสงจันทร์ที่สวยงาม ต่างเป็นแรงบันดาลใจหลัก แต่ก็มีการคาดเดากันว่า นิค เดรก แต่งเพลงนี้ให้ใครเป็นพิเศษหรือเปล่า ชื่อของศิลปินโฟล์กหญิง ลินดา ทอมป์สัน มักถูกอ้างอิงถึงอยู่เสมอ แต่ก็ไม่หลักฐานที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจน มีการตีความเช่นกันว่า นิค อาจจะนำความหลงใหลในกลิ่นกัญชามาแต่งเป็นเพลง ซึ่งในช่วงนั้นเขาสูบกัญชาจริง แต่ก็เพื่อหลีกหนีความจริงที่โหดร้ายของโลกใบนี้ มีการตั้งข้องสังเกตว่าบุคคลที่ทำให้ นิค ใช้ยาเพื่อสร้างสรรค์งานเพลงก็คือ จอห์น เคล อดีตสมาชิกวง The Velvet Underground ที่รับหน้าที่เล่นเปียโนและออร์แกนในเพลง Northern Sky ด้วย

เพลง Northern Sky อยู่ในอัลบั้ม Bryer Layter ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จทางด้านยอดขาย หลังจากที่งานเพลงชุดนี้วางจำหน่าย เขาแทบจะไม่ออกจากแฟลตเลย คอนเสิร์ตที่เขาเล่นก็มีจำนวนผู้ชมที่น้อยนิด นอกจากออกไปเล่นคอนเสิร์ตแล้ว นิค จะออกจากบ้านก็เพื่อไปซื้อยาเท่านั้น

Northern Sky เป็นเพลงที่เยียวยาสภาวะจิตใจที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวลและหนักอึ้งของ นิค เดรก ให้เบาบางลงด้วยการใช้ความสงบของธรรมชาติมาเป็นภาพแทนใจ ไม่ว่าจะเป็นดวงจันทร์, ท้องทะเล, ลม, ต้นไม้, ฤดูหนาว ไปจนถึงท้องฟ้าต่างก็เล่นบทบาทสำคัญเสมอกัน นั่นก็คือการเปรียบเปรยให้เห็นถึงความรู้สึกของผู้ชายคนหนึ่งที่โดดเดี่ยวและต้องการความรักจากใครสักคน แต่ความปรารถนาที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ภายในใจนั้นอาจจะไม่ได้รับการตอบรับจากใครเลยก็ได้ จะมีก็แต่ธรรมชาติที่เขาสัมผัสมันได้ด้วยสายตาและรู้สึกได้ด้วยใจเท่านั้นที่เป็นสักขีพยานในความเหงาเศร้าของตัวเขาเอง

ท่อนที่โดดเด่นเป็นพิเศษก็คือ “I never saw moons knew the meaning of the sea” ที่แปลความหมายได้ว่า “ฉันไม่เคยรู้เลยว่าดวงจันทร์ล่วงรู้ความลับของท้องทะเลด้วย” การอุปมาให้ธรรมชาติมีความรู้สึกเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์นี้เป็นการประพันธ์เพลงในแบบ ‘สัจนิยมมหัศจรรย์’ (Magical Realism) เป็นความเหนือจริงที่สมจริงในเวลาเดียวกันและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นี่คือความเก่งกาจของ นิค เดรก ที่สามารถเสกให้ธรรมชาติมีความรู้สึกเฉกเช่นเดียวกันกับมนุษย์ได้

นิค เดรก แต่งเพลงนี้เหมือนว่าเขาได้ตื่นรู้เป็นครั้งแรกว่าชีวิตจะมีความหมายได้ก็ต่อเมื่อได้พบกับความรัก ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้ชีวิตคู่อยู่กับใครคนนั้นก็ตาม นอกจากนี้หลายท่อนในเพลงนี้ก็ยังพูดถึงความไม่แน่ใจในตัวเอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความภูมิใจในตัวเองที่ค่อนข้างต่ำของเขา วิธีที่ นิค ใช้ก็คือการตั้งคำถามที่ว่า “เธอจะยังรักฉันอยู่ไหม? หากว่า…” ฉันไม่ได้ร่ำรวย ฉันไม่ได้เป็นอย่างที่เธอคิด ไปจนถึงวันเวลาที่ผันเปลี่ยนไป เธอจะยังรักฉันอยู่ไหมหากฤดูหนาวมาถึงและในวันที่ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้ว ถ้าข้อแม้เหล่านี้ไม่มีความหมายที่มาพันผูกความรักในใจเธอแล้วล่ะก็ จงป่าวประกาศให้สวรรค์ได้รับรู้เถิด

นิค เดรก ใช้คำว่า “blow your horn on high” เพื่อสื่อถึงการประกาศความรักให้เบื้องบนรู้ด้วยเสียงแตร แต่แตรไม่ได้หมายถึงความหมายของมันจริงๆ แต่มันหมายถึงศรัทธาหรืออีกนัยหนึ่งคือความกล้าที่เขาปรารถนาที่จะมีมาตลอดเพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับด้วยความรัก

Northern Sky เป็นเพลงที่แปรเปลี่ยนความเหงาให้เป็นความหวัง เปลี่ยนความหวังให้เป็นความเชื่อมั่นในตัวเอง และเปลี่ยนความเชื่อมั่นในตัวเองให้กลายเป็นคนที่รู้จักจุดประสงค์ที่แท้จริงของความรัก นั่นก็คือการเข้าใจในธรรมชาติของสรรพสิ่ง เพราะในมุมมองของ นิค แล้ว คนเราจะเข้าถึงความรักที่แท้จริงได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจความงามของธรรมชาติที่รายล้อมรอบตัวเราให้ได้เสียก่อน

หลังจากที่ นิค เดรก เสียชีวิตลงในปี 1974 ด้วยการเสพยาต้านซึมเศร้าเกินขนาด ชื่อเสียงของเขาได้รับการกล่าวถึงมากขึ้นเรื่อยๆ จาก บ็อกซ์ เซ็ต Fruit Tree งานรวมเพลงของ นิค ที่ค่าย Island Records ปล่อยออกมาในปี 1979

ในยุค 80, 90 มาจนถึงยุค 2000 ศิลปินอย่าง เคท บุช, โรเบิร์ต สมิธ, นอราห์ โจนส์, ซุฟเฟียน สตีเวนส์ (Sufjan Stevens), ปีเตอร์ บัค แห่งวง R.E.M. หรือแม้กระทั่งวงอินดี้ร็อกยุคใหม่อย่างวง Bon Iver และ Fontaines D.C. ต่างก็ยกย่อง นิค เดรก ทั้งในฐานะนักแต่งเพลงที่ดีที่สุดคนหนึ่งในวงการดนตรีโลก

Northern Sky ถือเป็นเพลงรักที่เรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่มากในความรู้สึก ในเวลาที่จิตใจข้างในกำลังพังทลายจากความสูญเสียหรือจากสิ่งใดก็ตาม นี่คือเพลงที่คุณต้องลองฟังสักครั้งเพื่อที่จะได้สัมผัสถึงความรักที่ยังคงโอบกอดคุณเสมอ ถ้าคุณยังคงมองเห็นความงามของสิ่งเล็กๆน้อยๆอย่างสายลม, ท้องฟ้า และแสงจันทราในยามค่ำคืน

One Day Like This ลืมปีที่เลวร้ายไปเสีย และจงจดจำวันหนึ่งที่สวยงามเอาไว้

The Seldom Seen Kid สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 4 ของ Elbow วงดนตรีแนว อัลเทอร์เนทีฟ ร็อก จากประเทศอังกฤษเป็นงานเพลงที่ปราณีต วิจิตรบรรจง และเพราะมากถึงขั้นที่สามารถตัดเป็นซิงเกิลได้ทุกเพลง และนับว่าเป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดชุดหนึ่งของวง การันตีได้จากการเปิดตัวในอันดับที่ 5 บน UK Albums Chart ที่ถือว่าสูงที่สุดของวงในเวลานั้น อยู่ในชาร์ต UK Top 75 นานเกือบสองปีครึ่ง ยอดขายรวมเฉพาะในสหราชอาณาจักรอยู่ที่เกือบหนึ่งล้านก็อปปี้ โดยการคว้ารางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยมจากทาง Mercury Prize ในปี 2008 ทำให้นักร้องนำของวงอย่าง กาย การ์วีย์ ถึงกับบอกว่า “นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นกับเขา”

Elbow อาจจะไม่ใช่วงดนตรีที่โด่งดังในระดับโลก ชื่อเสียงของวงไม่อาจเทียบเคียงกับวงดนตรีจากอังกฤษที่ปล่อยอัลบั้มชุดแรกในปีที่ไล่เลี่ยกันอย่าง Coldplay หรือว่า Muse ได้ แต่ความสามารถทางดนตรีและการแต่งเพลงของวงนับว่าเป็น Hidden Gem อย่างแท้จริง หากพิจารณาในแง่มุมนี้แล้วก็คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า Elbow เป็นวงที่ถูกประเมินค่าเอาไว้ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็นไปค่อนข้างมาก เช่นเดียวกับศิลปินและวงดนตรีร่วมรุ่นเดียวกันอย่าง Badly Drawn Boy หรือว่า I Am Kloot ที่ต่างก็ถูก underrated ไปอย่างน่าเสียดาย

The Seldom Seen Kid เต็มไปด้วยเพลงชั้นเลิศ ดนตรีที่ Elbow สร้างสรรค์ออกมาโดดเด่นด้วยเมโลดีและฮาร์โมนีจากเครื่องดนตรีคลาสสิค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวงเครื่องสาย (ไวโอลิน, วิโอลา และ เชลโล) ที่บรรเลงในเพลง One Day Like This เพราะถึงแม้ว่าจะมีโครงสร้างคอร์ดที่เรียบง่ายทำให้เพลงฟังง่ายก็จริง แต่รายละเอียดดนตรีนับว่าซับซ้อนพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียบเรียงวงเครื่องสายที่มีการไล่เสียงซ้อนกันหลายชั้น (Layering & Swelling) การแต่งทำนองแบบสวนกัน (Counterpoint) ให้วงเครื่องสายแต่ละชิ้นมีไลน์เฉพาะของตัวเอง การเล่นท่อนซ้ำอย่างต่อเนื่องก็ช่วยเสริมให้เพลงมีพลังและส่งต่อความหลากหลายทางอารมณ์ได้อย่างมีมิติ ในบางท่อนของเพลงมีความเป็น โพสต์ ร็อก เล็กน้อย ส่งผลให้สื่ออย่าง NME และ The Guardian บอกว่า One Day Like This เป็นเพลงที่เหมาะสำหรับบรรเลงในฉากจบของหนังสักเรื่อง

One Day Like This เป็นเพลงสุดท้ายที่ถูกเขียนขึ้นสำหรับอัลบั้มชุดที่สี่ของวง กาย การ์วีย์ เคยให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าว Manchester Evening News ว่า

“เราทุกคนต่างก็ตื่นเต้นมาก เพราะเพิ่งจะได้เซ็นสัญญาครั้งใหม่ มันเหมือนกับได้สูดอากาศบริสุทธิ์เข้าเต็มปอด ส่วนเพลงสุดท้ายของอัลบั้ม ผมอยากให้มันเป็นเพลงที่ยกระดับจิตใจและให้กำลังใจผู้คน นั่นเองคือที่มาของเนื้อเพลงในท่อนที่ร้องว่า ขอเพียงแค่วันเดียวของปีที่ดีงามเช่นนี้ ก็ดีมากเกินพอแล้วที่จะชุบชีวิตของฉันได้ (One day a year like this will see me right) มันเป็นวัฒนธรรมทางความคิดของคนอังกฤษน่ะ เพลงนี้ก็เลยไม่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศเท่าไหร่ เพราะมันยากที่คนต่างถิ่นจะเข้าใจวัฒนธรรมในการมองโลกในแบบของเรา”

กาย การ์วีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับผมแล้วเพลงนี้คือเพลงรัก มันเกี่ยวกับการตกหลุมรักและความรู้สึกของคนที่รักใครสักคนและตื่นขึ้นมาในเช้าวันแรกหลังตกหลุมรัก มันเป็นเพลงกึ่งอัตชีวประวัติเหมือนกัน เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมโสด แต่หลังจากนั้นผมก็ได้กลับไปคบกับอดีตแฟนสาว เอ็มมา เจน อันสเวิร์ท อีกครั้ง ผมนำความรู้สึกที่มีไปแต่งเพลงเพลงนี้ One Day Like This ถือกำเนิดขึ้นในห้องน้ำ ผมไม่ใช้วิธีการเขียน แต่ใช้วิธีการร้องและบันทึกเสียงในขณะที่กำลังอาบน้ำ ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความสุขนัก ไม่ค่อยมีช่วงเวลาที่ดีเท่าไหร่ แต่การได้พบกับช่วงเวลาดีๆเพียงแค่วันเดียวมันก็ทำให้ผมมีความสุขมากพอแล้ว”

One Day Like This เป็นเพลงที่เตือนสติให้อยู่กับปัจจุบันขณะ เพราะอดีตคือสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้ว และอนาคตก็ยังมาไม่ถึง เราควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ณ ตอนนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในส่วนของฟอร์มหรือรูปแบบการแต่งเพลงเพลงนี้มีความคล้ายคลึงกับภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง มันเปิดฉากด้วยความหนักอึ้งของชีวิตที่เต็มไปด้วยยากลำบาก ส่วนฉากต่อไปเป็นการลำดับภาพแบบ Dynamic Cut ที่เปลี่ยนช็อตอย่างรวดเร็วด้วยการตั้งคำถามว่า “สิ่งใดกันนะที่ทำให้ฉันเป็นแบบนี้ มันทำให้ฉันเอ่ยคำที่ปรกติไม่เคยพูดมาก่อน คงมีแต่ความรักเท่านั้นที่ดลบันดาลสิ่งเหล่านี้ได้ ช่างเถิด อย่างไรเสีย วันนี้ก็ดูสวยงามจริงๆ”

“เปิดม่านออกให้กว้าง ขอแค่มีวันนี้เพียงวันเดียวก็ทำให้ฉันมีความสุขได้ทั้งปีแล้ว” (Throw those curtains wide. One day like this a year would see me right) เป็นท่อนที่แต่งออกมาอย่างเรียบง่าย แต่แฝงเอาไว้ซึ่งความหมายที่แจ่มชัด คนเราในบางครั้งก็ซ่อนตัวอยู่ในความมืด มองไม่เห็นเลยว่ามีเพียงแค่ผ้าม่านผืนใหญ่ที่บังแสงอาทิตย์อยู่ สิ่งที่ทำให้เรายื่นมือไปเปิดผ้าม่านจะเป็นอะไรก็ได้ไม่ว่าจะเป็นความกล้าหาญ, การยอมรับในตัวเอง, ความรัก ที่จะเป็นพลังใจที่ทำให้เราฮึดสู้เพื่อเอื้อมมือออกไปเปิดจับความกลัวและกระชากมันออกไปเพื่อให้ความหวังเป็นแสงส่องทางให้เรามองเห็นความจริงของชีวิต หรือถ้าพูดให้ถูกก็คือการได้มองเห็นคุณค่าในตัวของเราเอง

“Kiss me like the final meal. Yeah, kiss me like we die tonight” เป็นอีกท่อนที่ใช้ถ้อยคำที่เรียบง่ายแต่ทว่าลึกซึ่ง เพราะความรักที่แต่ละคนได้พบเจอ เราไม่มีทางรู้ว่าจะเป็นรักแท้หรือไม่ สิ่งเดียวที่เราทำได้ก็คือรักให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เหมือนกับกำลังทานอาหารมื้อสุดท้ายและจูบคนที่เรารักเหมือนกับว่าเราจะจากโลกนี้ไปในค่ำคืนนี้ นั่นความความสวยงามของปัจจุบันขณะ และถึงแม้ว่าในวันข้างหน้าความรักจะจบลง เราก็จะไม่มีวันเสียดายที่เคยรักใครคนหนึ่งอย่างสุดซึ้ง เป็นดั่งอาหารมื้อที่เลิศรสที่สุด เป็นดั่งจูบที่ตราตรึงใจที่สุด

เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนที่จะต้องเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่เลวร้ายมากกว่าช่วงเวลาที่ดีงาม One Day Like This ไม่ได้เป็นเพลงที่บังคับให้ผู้ฟังมองโลกสวย แต่มันเป็นเพลงที่เตือนสติให้เราได้เห็นว่าโมงยามที่ดีที่ถึงแม้ว่าจะเกิดขึ้นแค่เพียงชั่วขณะก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ปีนั้นทั้งปีเป็นปีที่ดีได้ เราเลือกที่จะอมทุกข์และนั่งนิ่งๆอยู่ในห้องที่มืดมิดตลอดทั้งปีก็ได้ แต่ถ้าหากเราใช้มือคลำไปรอบๆ ห้อง บางทีเราอาจจะเจอม่านที่บังแสงอาทิตย์มาตลอดทั้งปีก็ได้ และเพียงแค่ใช้แรงใจดึงมันออกไปเราก็จะค้นพบความหมายของชีวิต

นั่นก็คือความรักที่อบอุ่นเหมือนแสงแดดยามเช้า

อ้างอิง www.jonkutner.com

Let Down ในสักวันหนึ่ง เราจะสร้างเส้นทางเดินของตัวเอง

ในวันหนึ่ง ขณะที่ ธอม ยอร์ก ฟรอนต์แมนของวง Radiohead กำลังนั่งอยู่บนรถ เขาเฝ้ามองผู้คนเดินเข้าออกสถานีรถไฟในกรุงลอนดอนอย่างเร่งรีบ ความเป็นระเบียบในความไร้ระเบียบนั้นทำให้ผู้คนที่เขาสังเกตดูเหมือนกับมดงานที่ใช้ชีวิตราวกับว่าไม่มีจุดหมาย แต่ผู้คนเหล่านั้นมองว่ากิจวัตรที่กำลังทำอยู่นั้นมีความหมาย สิ่งที่ ธอม ยอร์ก สัมผัสได้และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขานำสิ่งที่ตัวเองสังเกตมาแต่งเป็น Let Down เพลงที่ห้าจากอัลบั้ม OK Computer (1997) ก็คือภาพลวงตาที่มนุษย์สร้างขึ้นว่ามันมีคุณค่าต่อวิถีชีวิตของตน ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วมันคือสิ่งตรงกันข้าม คนเหล่านั้นเป็นเหมือนเครื่องจักรกลที่มีลมหายใจ

“Transport, motorways and tramlines / Starting and then stopping, taking off and landing / The emptiest of feelings” ท่อนเปิดเพลงบ่งบอกถึงสภาวะของมนุษย์ที่ถูกบั่นทอนคุณค่าไปด้วยระบบทุนนิยม สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ธอม ยอร์ก ไม่ได้กล่าวถึงระบบเศรษฐกิจเลยด้วยซ้ำ แต่เขาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นภาพแทนของเครื่องจักรที่กลืนกินจิตวิญญาณของมนุษย์ไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

ลองคิดดูว่าในแต่ละวันกว่าที่เราจะเดินทางไปถึงที่ทำงานหรือไปเที่ยว เราต้องเสียเวลาไปกับอะไรบ้าง ขับรถขึ้นทางด่วน, ขึ้นรถไฟฟ้า, รถติด, รถไฟเสียเวลา, หยุดรอรถ, เช็คอิน, ต่อคิวขึ้นเครื่อง, เครื่องเทคออฟ, เครื่องแลนดิง, ต่อคิวตม. ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความรู้สึกที่แสนจะว่างเปล่าในโลกยุคใหม่ กิจวัตรเหล่านี้ที่ขับเคลื่อนด้วยการ ‘เคลื่อนที่’ และ ‘หยุดนิ่ง’ มันบ่งบอกถึงอะไรบ้าง

สิ่งสำคัญประการแรกเลยก็คือมันสะท้อนให้เห็นถึงคำกล่าวของนักปรัชญาสายอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ชาวฝรั่งเศส ฌอง ปอล ซาร์ตร์ ที่ว่า “มนุษย์ถูกสาปให้มีเสรีภาพ” เพราะคนเราทุกคนเกิดมาไร้ตัวตนหรือแก่นสารมาตั้งแต่แรก มนุษย์จึงต้องหาความหมายให้กับชีวิตด้วยการทำงานหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ก่อให้เกิดคุณค่าขึ้น แต่นั่นไม่ใช่เสรีภาพ เพราะการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไรนั้นต้องแลกมาด้วยการรับผิดชอบและเจตจำนงของมนุษย์ก็ไม่เคยมีอยู่จริง เพราะมันถูกกฎระเบียบทางสังคมกำหนดเอาไว้หมดแล้ว

คำถามก็คือ ถ้าอย่างนั้นแล้วเสรีภาพในการใช้ชีวิตของมนุษย์คืออะไร? ถ้ามันถูกสาปเอาไว้ก่อนที่เราจะเลือกที่จะทำมันด้วยซ้ำ หากลองในมุมของสัญลักษณ์ ธอม ยอร์ก ใช้การระบบขนส่งมวลชนในชีวิตประจำวันเป็นการอุปมาอุปไมยถึงสัจธรรมในชีวิตของมนุษย์ทุกคน เราหลับและเราตื่น เรากินและเราถ่ายทุกข์ เรามีความสุขและเราเจ็บปวด เรามีความรักและความเกลียดชัง เราคบกันและเลิกเรา เราหนุ่มสาวและเราแก่ชรา เราเกิดและเราตาย นี่คืออิทัปปัจจยตาที่ถือเป็นแก่นสำคัญของพุทธศาสนา “เมื่อมีสิ่งนี้ จึงมีสิ่งนี้” ไม่มีอะไรในจักรวาลนี้ที่เกิดขึ้นแบบลอยๆ

เราทุกคนต่างก็เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ ทุกการกระทำย่อมส่งผลไปยังสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราอยู่ในระบบอันซับซ้อนที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนออกแบบ จริงอยู่ที่เราดูเหมือนจะมีเสรีภาพในการใช้ชีวิต ไม่มีใครบังคับให้เราไปทำงาน ไม่มีใครบังคับให้เราเดินทาง แต่ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้น เราจะหาความสุขในชีวิตได้จากไหน สิ่งเหล่านี้โยงมาสู่คำถามที่ยิ่งใหญ่ที่ ธอม ยอร์ก เตือนสติเราทุกคนว่า “หรือนี่จะเป็นสิ่งที่ถูกออกแบบเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว?”

การกระทำของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเราคนเดียวแน่นอน ถ้าหากเราต้องการเดินทางแต่ไม่มีคนขับรถ, ขับรถไฟ, ขับเครื่องบิน เราจะเดินทางได้อย่างไร? ถ้าหากเราไม่สามารถเดินทางได้ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา แต่มันขึ้นอยู่กับระบบที่ใหญ่กว่านั้น ซึ่งในที่นี้ก็คือคนขับรถ หากมองให้ลึกลงไป ชีวิตของเราจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างไรหากไร้ซึ่งเชื้อเพลิงที่เรียกว่าความฝัน, ความหวัง, ความปรารถนา และอื่นๆ

“Don't get sentimental. It always ends up drivel” เป็นท่อนที่ฟังแล้วเจ็บปวดอยู่ลึกๆ เพราะแม้กระทั่งอารมณ์ความรู้สึกของคนเราก็ไม่ใช่เสรีภาพในการแสดงออก เพราะเรารู้ดีว่าความรู้สึกของเรานั้นเป็นความจริง แต่สำหรับคนอื่นมันอาจจะเป็นเรื่องเสกสรรปั้นแต่งหรือเป็นการแสดงก็ได้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนในโลกที่ผู้คนให้ความสำคัญกับ โซเชียล มีเดีย มากกว่าโลกแห่งความเป็นจริง TikTok ได้ทำลายเส้นแบ่งแห่งความจริงและความลวงลงจนทำให้เกิดโลกใหม่ที่ไม่รู้ว่าอะไรจริงหรือไม่จริงอีกต่อไป

มันแสดงให้เห็นว่าในโลกทุนนิยม ความล้ำสมัยของเทคโนโลยี และกฎเกณฑ์ทางสังคมทำให้เราไม่สามารถเลือกทางเดินชีวิตของตัวเองได้จริงๆ และการเดินทางตามกันด้วยวิธีการที่เหมือนๆ กันไปหมดคือสิ่งที่สังคมยอมรับ ซึ่งมันน่าเศร้าที่เราต้องยอมรับในสิ่งที่สังคมวางระบบเอาไว้มากกว่ายอมรับตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง จอนนี กรีนวูด สมาชิกวงคนสำคัญอีกคนหนึ่งของวง Radiohead ได้แสดงทัศนะเอาไว้ว่า

“ครั้งหนึ่ง แอนดี้ วอร์ฮอล เคยพูดว่าเขาสามารถเอนจอยความน่าเบื่อหน่ายของชีวิตได้แบบสบายๆ ผมว่านั่นแหละคือหัวใจสำคัญของเพลงนี้”

ธอม ยอร์ก เคยให้สัมภาษณ์กับทางนิตยสาร Q เอาไว้ในปี 1999 ว่า “ชีวิตเราทุกทับถมด้วยความรู้สึก ที่ผู้คนแสดงออกและมองมายังเรา นั่นแหละคือสิ่งที่เพลง Let Down ต้องการบอก ความรู้สึกอันจอมปลอม ถ้าจะพูดให้ถูกก็คือแม้กระทั่งอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ก็ถูกโปรแกรมเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว จากโฆษณารถยนต์หรือว่าเพลงป็อปก็ตาม” คำพูดของเขาสื่อให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในโลกยุคใหม่ แม้กระทั่งความรู้สึกของคนเราทุกคนก็ถูกกำหนดเอาไว้แล้วจากการถูกควบคุมโดยสื่อนานาชนิด

แม้ Let Down จะเป็นเพลงที่ดูสิ้นหวังสักเพียงใดก็ตาม แต่ ธอม ยอร์ก ก็ยังมองเห็นความหวังในภายภาคหน้า เขามอบความหวังนั้นไว้ในท่อนที่เขียนว่า “ในสักวันหนึ่ง ฉันจะสร้างปีกของฉันเอง” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ในอนาคตเราทุกคนต้องหาทางสร้างเสรีภาพให้กับตัวเองให้ได้ เพราะการที่เราจะเปลี่ยนแปลงระบบได้ ไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงที่ตัวระบบ แต่อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือกระบวนทัศน์ทางความคิดของเราเอง

การเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้เราไม่ต้องต่อคิวรอขึ้นรถขนส่งสาธารณะ ไม่ต้องรอเช็คอิน ไม่ต้องรอรถไฟ ไม่ต้องขึ้นเครื่องบิน ไม่ต้องหงุดหงิดเพราะเครื่องดีเลย์ เพราะโลกใบนี้ยังมีเส้นทางอีกมากมายที่รอให้เราสร้างมันขึ้นมาเอง ปีกแห่งเสรีภาพนั้นเดินทางได้ไกลกว่าเครื่องจักรกล

และผู้ควบคุมทิศทางในการเดินทางที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเส้นทางตามครรลองของสังคมเสมอไปก็คือตัวของเราเอง

I’m With You ในวันที่เหงาจับใจ จดจำเอาไว้ว่าเธอไม่ได้อยู่เพียงลำพัง

แอวริล ลาวีน ยังอายุแค่ 16 ปีเท่านั้นในตอนที่ คลิฟฟ์ ฟาบรี ผู้จัดการในวงการดนตรีประเทศแคนาดาเห็นเธอโคฟเวอร์เพลงคันทรี่อยู่ในร้านขายหนังสือแห่งหนึ่งในเมืองออนแทรีโอ หลังจากนั้นอีกหนึ่งปีครึ่งให้หลัง Let Go เดบิวต์อัลบั้มของ แอวริล ลาวีน ก็วางจำหน่ายและถือเป็นงานเพลงที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในปี 2002 และติดอันดับอัลบั้มที่ขายดีที่สุดชุดหนึ่งในทศวรรษ 2000

สื่ออย่าง Blender เรียก แอวริล ลาวีน ว่าเป็นส่วนผสมของความเกรี้ยวกราดในแบบ คอร์ทนีย์ เลิฟ (วง Hole) และมีความอมทุกข์มองโลกในแง่ร้ายคล้ายๆ งานเพลงของ อลานิส มอร์ริเซตต์ เพลงที่ฮิตที่สุดของอัลบั้ม Let Go คือเพลง Complicated อุตสาหกรรมดนตรีรักเพลงนี้เพราะมันทำเงินให้กับระบบทุนของวงการโดยรวมและทำให้ดนตรีป็อปพังก์ที่มีผู้หญิงเป็นแกนนำฟื้นคืนชีพกลับมาอีกครั้ง แต่มีเพลงอยู่เพลงหนึ่งที่เป็นที่รักของแฟนเพลงทั่วโลกและครั้งหนึ่งตัว แอวริล ลาวีน เองก็เคยบอกว่ามันคือเพลงที่เธอภาคภูมิใจที่สุดตลอดอาชีพนักร้อง, นักแต่งเพลงของเธอ

เพลงๆ นั้นมีชื่อว่า I’m With You

แอวริล ลาวีน แต่งเพลงแนว พาวเวอร์ บัลลาด ที่ทั้งลึกซึ้งและเต็มตื้นไปด้วยอารมณ์นี้ร่วมกับ The Matrix ทีมนักแต่งเพลงที่เก่งที่สุดกลุ่มหนึ่งแห่งทศวรรษ 2000 ในช่วงเวลาที่แต่งเพลงนี้เธอรู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวและต้องการใครสักคนมาอยู่เคียงข้างและมอบความรักให้กับเธอ

ถึงแม้ว่าในตอนที่แต่งเพลงเพลงนี้ แอวริล ลาวีน จะมีอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น แต่ตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมาเธอไม่มีใครเลย และความเหงานี่เองที่ทำให้เธอรู้สึกหวาดกลัว ไม่ใช่เพียงแค่กลัวว่าจะไม่มีคนมารักและเข้าใจเท่านั้น แต่เธอกลัวไปหมดทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นความไม่มั่นคง ความสับสน ไม่รู้ว่าอะไรคือความหมายของชีวิตและที่สำคัญที่สุดก็คือเธอไม่รู้จักแม้กระทั่งตัวเอง เพราะความโดดเดี่ยวได้กลืนกินตัวตนเธอไปหมดแล้ว

ท่อนที่เขียนว่า “คืนนี้มันช่างเหน็บหนาวเหลือเกิน มันทำให้ฉันครุ่นคิดว่าชีวิตคืออะไร ช่วยหน่อยได้ไหม ช่วยจับมือฉัน พาฉันไปที่ไหนสักแห่งก็ได้ ฉันไม่รู้ว่าคุณเป็นใครหรอกนะ แต่ขอให้รู้ไว้ว่าฉันอยู่ตรงนี้กับคุณ” เป็นท่อนที่แต่งออกมาได้เหงาจับขั้วหัวใจทีเดียว จะว่าไปแล้วก็ดูน่าทึ่งอยู่เหมือนกันที่เด็กสาววัยเพียง 17 ปีจะเข้าใจความเปล่าเปลี่ยวได้ถึงแก่นและแต่งออกมาเป็นเพลงได้ดีขนาดนี้

แอวริล ลาวีน ใช้การเปรียบเปรยความไร้ตัวตนในโลกแห่งความสับสนวุ่นวายผ่านเนื้อเพลงท่อนหนึ่งในลักษณะกวีนิพนธ์ได้อย่างงดงาม “รอบกายมีเพียงฝนพรำ ไร้ซึ่งรอยเท้าบนผืนดิน ไม่มีเสียงใดให้ได้ยิน แม้ฉันจะตั้งใจฟังก็ตาม” มีการวิเคราะห์ว่า แอวริล ลาวีน ใช้ธรรมชาติในการแสดงให้เห็นว่าเธอไร้ตัวตนเพียงใดในความเหงา สายฝนทำให้เธอหนาวสั่นและมันชะล้างรอยเท้าที่เธอย่ำลงบนพื้น และที่ที่เธอยู่น่าจะเป็นพื้นที่ที่แปลกแยกที่สุดในโลกใบนี้ เพราะไม่มีเสียงได้เล็ดรอดออกมาให้ได้ยินเลย

สิ่งที่ แอวริล ลาวีน ใคร่ครวญสงสัยและตั้งคำถามผ่านเพลง I’m With You แตะประเด็นทางปรัชญาที่ลึกซึ้งอยู่ไม่น้อย เพราะมันหากมองอีกมุมหนึ่งว่าเสียงที่ไม่ได้ยินนั้นเป็นเสียงล้มของตัวเธอเองในที่ที่ไม่มีใครอยู่เลย ‘เสียง’ คือความจริงหรืออย่างน้อยคือสิ่งที่มีอยู่จริงหรือไม่

นี่คือคำถามที่เชื่อมโยงไปสู่ปรัชญาเชิงอัตถิภาวนิยมที่ในบางครั้งกล่าวถึงความโดดเดี่ยวอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะความอิสระของมนุษย์ในการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไรก็อาจจะนำไปสู่ความโดดเดี่ยวและความวิตกกังวลได้เช่นกัน สิ่งที่ แอวริล ลาวีน ถามนั้นเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นอภิปรัชญาคลาสสิกที่ถกเพียงกันมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณแล้ว

“ถ้าไม่มีใครเห็นสิ่งใด มันยังมีอยู่จริงหรือไม่” และ “สิ่งที่มีอยู่จริง จำเป็นต้องได้รับการรับรู้หรือไม่” คำถามนี้อาจจะยากที่จะตอบ แต่ จอร์จ เบิร์กลีย์ นักปรัชญาชาวไอริชในศตวรรษที่ 18 ได้ทำให้คำถามนี้แคบลงด้วยแนวคิดที่ว่า “การดำรงอยู่คือการรับรู้”

ชีวิตของคนเราทุกคนดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของเราเอง การถูกรับรู้ว่ามีเราอยู่ในโลกโดยผู้อื่นไม่ใช่เรื่องยาก แต่การที่ใครสักคนจะเข้าใจความหมายของความเหน็บหนาวที่ดำรงอยู่ในใจของใครบางคนได้และโอบกอดเพื่อให้ความหนาวนั้นกลายเป็นความอบอุ่นได้เป็นเรื่องยาก และคนที่จะเข้าใจเราได้ลึกซึ้งขนาดนี้มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะได้พบเจอตลอดช่วงชีวิตของเราทุกคน

I’m With You เป็นเพลงที่ไพเราะ เรียบง่าย และเหงาจับใจ มิวสิควิดีโอที่ แอวริล ลาวีน เดินอยู่คนเดียวบนท้องถนนในคืนที่เหน็บหนาวทำให้มีวัยรุ่นจำนวนมากเลียนแบบจนกลายเป็นเทรนด์อยู่ช่วงหนึ่ง พวกเขาต่างพร้อมใจกันเลือกถนนที่ไร้ซึ่งผู้คนและเดินกอดตัวเองไปตลอดเส้นทาง

บางคนเปลี่ยนบริบทเพลงที่ว่าอยากให้มีใครสักคนมาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน “ฉันไม่รู้หรอกว่าคุณคือใคร แต่ฉันอยู่กับคุณ” เป็นท่อนที่ในบางครั้งถูกนำไปตีความในอีกความหมายหนึ่งโดยผู้ฟังบางคนว่า ในตอนนี้ฉันเศร้าเหลือเกิน แต่โปรดจงรับรู้เอาไว้ว่าคุณไม่ได้เศร้าอยู่คนเดียว

เพราะอย่างน้อยคุณมีฉันเป็นเพื่อนอยู่ไม่ไกล

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : plus.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส

ทั่วโลกเกิดอะไรขึ้นบ้างตลอดสัปดาห์นี้ 7-12 กรกฎาคม

2 วันที่แล้ว

เราจะมีความสุขท่ามกลางโลกที่แตกสลายได้ไหม?

11 ก.ค. เวลา 14.39 น.

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

แฉอีก เจ้าคณะจว.พิจิตร เคยถูกร้องเสพสีกากอล์ฟ ตั้งแต่ปี 59 - ล่าสุดขอสึกจริงแต่ยังไร้เงา

MATICHON ONLINE

Never A Waste Of Time เมื่อรักที่จบลงยังคงสวยงามเสมอ ซิงเกิลล่าสุดจาก Tilly Birds

THE STANDARD

เข้าใจตัวละคร How to Train Your Dragon เมื่อมนุษย์ไม่อาจเติบโตได้เพียงลำพัง

PPTV HD 36

‘แฟนไม่อยู่ หนูร่าเริง’ คำแซวจากเพื่อนของแฟนที่บางครั้งอาจไม่ใช่เรื่องตลกในความสัมพันธ์ เมื่อมุกที่คนพูดแค่ขำๆ อาจทำให้เกิดรอยร้าวในใจคน

Mirror Thailand

Tan Jianci ถูกแต่งตั้งให้เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์คนใหม่ของ Roger Vivier

THE STANDARD

งดงามชุ่มฉ่ำ “น้ำตกตาดฟ้า” กลางผืนป่าภูเวียง จ.ขอนแก่น

Manager Online

สำนักพุทธฯ เครียด ไม่เคยเจอวิกฤต นารีพิฆาต ข้องใจ ทำไมผู้หญิงคนเดียว เอี่ยวพระจำนวนมาก

MATICHON ONLINE

“อธิเกียรติ จิราธิวัฒน์” ทายาทรุ่นใหม่เซ็นทรัล เน้นสร้างทีมงานเข้าถึงใจคนดีกว่าใช้หุ่นยนต์

Manager Online

ข่าวและบทความยอดนิยม

ดูเพิ่ม
Loading...