โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เราจะมีความสุขท่ามกลางโลกที่แตกสลายได้ไหม?

Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส

อัพเดต 1 วันที่แล้ว • เผยแพร่ 1 วันที่แล้ว
ภาพไฮไลต์

มันเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนพร้อมจะส่ายหน้าให้กับทุกข่าวที่เข้ามา กดเลื่อนผ่านให้กับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับวันโลกก็ยิ่งดำเนินไปอย่างผิดที่ผิดทาง แปลกประหลาดพิสดารเข้าทุกวัน สิ่งที่ควรเปลี่ยนไปตามหลักการก็ผันแปรไปสู่ ‘สถานการณ์ที่ไม่คาดคิด’ หรือต่อให้ตั้งความหวังไว้น้อยที่สุด มันก็ยังเดินหน้าไปสู่สิ่งที่แย่กว่าที่คิดไว้อีก

ไม่แปลกถ้าจะมีคนจำนวนมากอยากปล่อยมือออกจากการเชื่อเรื่องความเปลี่ยนแปลงแล้ว คนที่กำฝันไว้ก็อยู่ด้วยความเหนื่อยล้า ฉันตระหนักว่าคนรอบตัวกำลังจ้องตากับกระบวนการของทางแยกนี้อยู่ เราจะเลือกอะไรระหว่างคงไว้ซึ่งคุณค่าที่เคยเชื่อกับการล้มเลิกนึกฝันถึงมัน เพราะดูท่าแล้วมันคงเปลี่ยนแปลงไม่ได้จริงๆ คนจำนวนมากยอมเป็นคนนิ่งเฉยกับการเมือง ส่วนคนจำนวนหนึ่งเผชิญกับสถานการณ์ที่บีบให้มีทางเลือกเพียงไม่กี่อย่าง ด้วยภาระที่จำเป็นต้องพึ่งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พยุงตัวเองให้รอดจากยุคข้าวยากหมากแพง จึงต้องให้พื้นที่ของการก้มหน้าก้มตาทำมาหากินไปก่อน บางคนมีสายป่านยาวกว่า ส่งเสียงถึงความเปลี่ยนแปลงได้บ้าง แต่ก็เหนื่อยล้ากับสถานการณ์ที่บั่นทอนความหวังลงทุกที

สถานการณ์เหล่านี้ทำให้ฉันหวนนึกถึงเรื่องเล่าของผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งที่เคยต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่าในวัยหนุ่มสาว จากนั้นก็เจอความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่โยนความเชื่อเดิมทิ้ง แล้วก็มักตักเตือนคนรุ่นต่อมาที่มุ่งฝันถึงความเปลี่ยนแปลงว่า “โลกมันก็เป็นอย่างนี้แหละ เปลี่ยนอะไรไม่ได้หรอก” “เอาเวลาไปสนใจเรื่องตัวเองดีกว่า ไปหาความสุขให้ตัวเองเถอะ”

แต่คนรุ่นใหม่จำนวนมากตระหนักรู้ว่าหากเลือกลงเอยด้วยความเชื่อที่ว่า “โลกเปลี่ยนแปลงไม่ได้หรอก” ก็อาจเข้าทางคนมีอำนาจที่ต้องการปิดเสียงความเปลี่ยนแปลง พวกเขาจึงเตือนกันและกันเพื่อไม่ละเลยการทักท้วงแก้ปัญหา ในขณะที่ตระหนักรู้ถึงความเดือดร้อนที่ผู้อื่นเผชิญไปพร้อมกัน

ทว่าโลกอันซับซ้อนนี้ก็ทับถมปัญหามากขึ้นทุกวัน วิ่งออกห่างจากความเปลี่ยนแปลง สะท้อนกลับมาแค่การบั่นทอนกำลังใจคนที่อยากเปลี่ยนแปลง จริงอยู่ที่บางครั้งการหนีออกจากปัญหาแย่ๆ หรือไปหาความสุขซะบ้างก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่สำหรับบางคน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการไขว่คว้าความสุขท่ามกลางโลกแตกสลายเช่นนี้ก็มีรู้สึกผิดปะปนมาบ้างเหมือนกัน แม้จะมีเสียงที่บอกว่า เราควรเอาใจออกห่างจากข่าวบ้างก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ยังคงวนเวียนอยู่ในการดำรงชีวิตของเราภายในสังคมอยู่ดี

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซีโมน เดอ โบวัวร์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสก็เคยตั้งคำถามว่า “จะเป็นเรื่องถูกต้องไหม หากเราจะมีความสุขในโลกที่แตกสลาย?”

โบวัวร์เคยตกอยู่ในสภาวะอัมพาตทางจิตใจจากการอ่านข่าวสงครามแอลจีเรียในช่วงปี 1961 เธอเรียกว่า อาการ ‘โรคบาดทะยักในจินตนาการ’ ถูกทำให้ชินชากับความโหดร้ายทุกวัน ไม่อาจจินตนาการหรือเชื่อถึงโลกที่ดีได้แล้ว และเมื่อไหร่ก็ตามที่สังคมเผชิญกับโรคบาดทะยักในจินตนาการ โบวัวร์มองว่ามันคือ ‘จุดสุดท้ายของการเสื่อมสภาพทางจริยธรรมของชาติ’

เธอเคยเอ่ยคำถามถึงความสุขกับ อัลแบร์ กามูส์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสและนักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม เพราะโบวัวร์วิตกกังวลว่า การโฟกัสความสุขของตัวเองคล้ายจะต้องแยกตัวเองออกจากความเป็นจริงจากการเมืองที่อยู่รอบตัว

“ความสุขนั้นมีอยู่จริง และมันสำคัญ ทำไมถึงปฏิเสธมันล่ะ? คุณไม่ได้ทำให้ความทุกข์ของคนอื่นหนักขึ้น เพียงเพราะคุณยอมรับความสุขของตัวเองหรอก ตรงกันข้าม มันยังช่วยให้คุณต่อสู้เพื่อพวกเขาด้วยซ้ำ” กามูส์ตอบโบวัวร์

สกาย ซี. เคลียรี อาจารย์ปรัชญาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ก็เห็นด้วยเช่นกัน เธออธิบายว่า การเป็นมนุษย์

คือการเผชิญหน้ากับความตึงเครียดระหว่างความพยายามควบคุมโลกภายนอกกับความกลัวว่าจะถูกมันบดขยี้ เพื่อไม่ให้โลกบดขยี้เราไปเสียก่อน การมีความสุขไม่ควรเป็นสิ่งต้องห้ามในโลกที่มีปัญหา

“หากเราใส่ใจกับความสุขของตนเอง เราต้องต่อสู้กับสัตว์ร้ายอย่างความเฉยเมย การทำลายความสุขของตนเองไม่ได้ช่วยใครเลย และความเฉยชาจะทำลายชีวิตเราและทำให้ประสบการณ์ของเราตายไป” เคลียรีเขียนไว้ในบทความ Happiness As An Act of Resistance

อย่างไรก็ตาม การพูดว่าเราควรมีความสุขแม้โลกจะแตกสลายนี้ก็สามารถตีความได้หลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่โบวัวร์เป็นกังวลคือ หากมันถูกมองว่า ทุกคนมีความสุขได้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหน อาจส่งผลให้เกิดการเพิกเฉยต่อโครงสร้างที่กำลังกดขี่ผู้คนได้

เคลียรีอธิบายความคิดของโบวัวร์ว่า “การกล่าวว่าผู้คนควรจะสามารถหาความสุขได้แม้จะอยู่ภายใต้การกดขี่กลายเป็นการปกป้องระบบที่เป็นอยู่ และทำให้สถานการณ์ที่ไม่เป็นธรรมดูเหมือนชอบธรรม พร้อมทั้งกีดกันและทำให้การต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงหมดพลัง”

เช่น การบอกว่าผู้หญิงทุกคนหาความสุขจากบทบาทภรรยาในสังคมชายเป็นใหญ่ได้ ด้วยการหาความสุขจากการทำงานบ้าน เลี้ยงลูก ทำอาหาร อยู่แต่ในบ้าน ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ผู้หญิงมีเพียงบทบาทเดียวที่ดำรงอยู่ในสังคม และทำให้โครงสร้างนี้ชอบธรรม ดังนั้น ความสุขท่ามกลางโลกแตกสลาย จึงไม่ใช่การคาดหวังให้คนถูกกดขี่ยิ้มสู้ตลอดเวลา

“การสร้างความสุขที่แท้จริง หมายถึงการดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการเลือกกำหนดชีวิตของตนเอง ขณะเดียวกันก็ต้องหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ที่เคารพกันและกันระหว่างตัวเรากับผู้อื่นและโลกใบนี้” เคลียรีอธิบายแนวคิดของโบวัวร์ และนิยามว่า ความสุขที่แท้จริงเช่นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ความสุขในนามของการต่อต้านความอยุติธรรม’ เพราะเรามีความสุขได้โดยไม่ต้องเพิกเฉยกับปัญหาในโลกความเป็นจริง

การทำความเข้าใจแนวคิดความสุขของโบวัวร์และเคลียรี ทำให้ฉันนึกถึงบทสนทนากับเพื่อนเมื่อหลายปีก่อน เราพูดถึงความเหนื่อยล้าจากความรู้สึกโกรธกับปัญหาอันมากมาย เพื่อนฉันบอกว่า “ไม่ผิดหรอกหากเราจะโกรธต่อโครงสร้างสังคม เรามีสิทธิที่จะโกรธต่ออะไรก็ตามที่ไม่ยอมให้โลกเปลี่ยน แต่ก็อย่าลืมว่าเราก็มีสิทธิที่จะมีความสุขเช่นกันนะ ไม่อย่างนั้นเราคงเหนื่อยก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงมัน หากมันต้องใช้เวลาจริงๆ ก็รักษาพลังเอาไว้ด้วยการมีความสุขบ้าง”

เราสรุปความคิดกันว่า ท่ามกลางโลกที่บีบให้เราล้มเลิกความหวัง อย่างน้อยการพยายามสร้างความสุข โดยที่ไม่ปิดบังตัวเองจากโลกความจริงก็เป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันไม่ให้โลกบดขยี้จนต้องยอมจำนนกับความเชื่อที่ว่า ‘โลกก็เป็นอย่างนี้แหละ เปลี่ยนไม่ได้หรอก’

เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งสำคัญคือการยังรักษาคุณค่าของการเปลี่ยนแปลงเอาไว้ หากปราศจากกลุ่มคนที่เชื่อถึงพลังความเป็นไปได้ใหม่ๆ ความเปลี่ยนแปลงก็อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้

“อีกอย่างคือ อย่าไปยอมให้แค่คนหยิบมือหนึ่งมีความสุขจากการทำให้เรายอมแพ้” เพื่อนกล่าวสรุปความคิดให้กับการสร้างพลังความสุขเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง

อ้างอิง: iai.tv

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : plus.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส

ทั่วโลกเกิดอะไรขึ้นบ้างตลอดสัปดาห์นี้ 7-12 กรกฎาคม

8 ชั่วโมงที่ผ่านมา

T-POP RISING ในวันที่ทีป๊อปกำลัง Rise ในหมู่คนฟังเพลงไทย

1 วันที่แล้ว

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความไลฟ์สไตล์อื่น ๆ

มนต์เสน่ห์เมืองอุบลฯ "VIJIT GASTRONOLIGHT @อุบลราชธานีศรีศิลป์" แสงสีแห่งศรัทธายามค่ำคืน

Manager Online

งานเกษตรสุดยิ่งใหญ่แห่งปี “เกษตรปลอดภัยและของดีจังหวัดลำพูน Lamphun Only”

new18

“เชียงใหม่” สุดปัง คว้าแชมป์เมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย ปี 68 ส่วนกรุงเทพฯ มาอันดับ 3

Manager Online

คณะกรรมการมรดกโลกบรรจุ พระปรางค์ วัดอรุณ ขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก

MATICHON ONLINE

เริ่มแล้ว! “มหาอุปรากร สะท้านปฐพี” ซีพีผนึกกำลังพันธมิตร พางิ้วแต้จิ๋วเบอร์ 1 จากกวางตุ้ง แสดงสดที่ ทรู ไอคอน ฮอลล์ ไอคอนสยาม

ศิลปวัฒนธรรม

สะท้อนพลังวัฒนธรรมจีนใน “หนัง-ซีรีส์” กับกลยุทธ์บุกตลาดไทยของสื่อบันเทิงจีนยุคใหม่

ศิลปวัฒนธรรม

ทั่วโลกเกิดอะไรขึ้นบ้างตลอดสัปดาห์นี้ 7-12 กรกฎาคม

Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส

สั่งการ พศจ.ประสานเจ้าคณะผู้ปกครอง เช็กพระทุกรูปที่เกี่ยวพัน ‘สีกากอล์ฟ’

MATICHON ONLINE

ข่าวและบทความยอดนิยม

ดูเพิ่ม
Loading...