สัญญาณ “มะเร็งรังไข่” ที่ไม่มีอาการจำเพาะ ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง!
มะเร็งรังไข่ พบได้มากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี ในประเทศที่กำลังพัฒนาพบได้ประมาณ 5 คนต่อประชากรหญิง 1 แสนคน มักพบในช่วงอายุ 40-60 ปี ส่วนในเด็กก่อนหรือหลังวัย 10 ปีก็อาจพบได้บ้าง โดยมักไม่ค่อยตรวจเจอมะเร็งรังไข่ในระยะต้นๆ จะมารู้ตัวอีกทีก็พบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ในระยะท้ายๆ แล้ว ฉะนั้นอย่ารอจนสายเกินไป มาทำความรู้จักความเป็นไปของโรคมะเร็งรังไข่กันดีกว่า
ปวดประจำเดือนรุนแรง อาจเป็นสัญญาณ “เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่”
ปัญหาการนอนไม่มีคุณภาพ สะสมขยะ เสี่ยงสมองเสื่อม อัลไซเมอร์
ปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งรังไข่
แม้ว่าปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ที่แน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยบางอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงของโรค อาทิ
- สภาพแวดล้อม เช่น สารเคมี อาหาร เนื่องจากพบว่าในประเทศอุตสาหกรรมมีผู้ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่มากกว่าประเทศเกษตรกรรม
- ผู้หญิงที่ไม่มีบุตร หรือมีบุตรจำนวนน้อย
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม หรือ มะเร็งลำไส้ใหญ่
- มีประจำเดือนเร็วคืออายุต่ำกว่า 12 ปี หรือหมดประจำเดือนช้าคือช้ากว่าอายุ 55 ปี
- ได้รับยากระตุ้นการตกไข่ในภาวะมีบุตรยาก
- ได้รับยาฮอร์โมนเพศชดเชยในช่วงวัยหมดประจำเดือน
- โรคอ้วน ผู้หญิงที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ 30 อาจมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่มากขึ้น
อาการของโรคมะเร็งรังไข่
โรคมะเร็งรังไข่ไม่มีอาการแสดงที่เฉพาะเจาะจงในระยะ โดยอาจมีอาการคล้ายกับโรคอื่นๆ ทั่วไปได้
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย
- ท้องโตขึ้น แน่นท้อง
- ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปัสสาวะลำบาก จากการที่ก้อนมะเร็งกดเบียดทับกระเพาะปัสสาวะ
- ปวดท้องน้อย แต่พอทนได้
- ท้องผูก จากก้อนมะเร็งกดเบียดทับลำไส้เล็ก หรือลำไส้ใหญ่
เมื่อโรคดำเนินไปในระยะที่รุนแรงมากขึ้นจนอาจถึงขั้นอยู่ในระยะลุกลาม ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการดังต่อไปนี้
- คลำพบก้อนเนื้อในท้องน้อย
- ปวดท้องน้อยรุนแรง เนื่องจากอาจเกิดการบิดหรือแตกของก้อนมะเร็ง
- ประจำเดือนมาผิดปกติ มาบ้างไม่มาบ้าง
- เจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- บางรายอาจพบการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น เสียงห้าว มีหนวด หรือขนขึ้ตามลำตัวคล้ายผู้ชาย เนื่องจากผลของมะเร็งรังไข่ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศผิดปกติไป
- อิ่มง่าย เบื่ออาหาร
- หากมะเร็งกระจายตัวไปตามอวัยวะอื่นๆ แล้ว จะทำให้น้ำหนักลด ตัวเหลือง ตาเหลือง ขาบวม หายใจขัด เป็นต้น
- หากเซลล์มะเร็งมีการกระจายไปในช่องท้อง อาจทำให้เกิดน้ำในช่องท้อง ซึ่งจะทำให้ดูเหมือนอ้วนขึ้น ท้องโตขึ้นกว่าเดิมได้
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ที่มีประสิทธิภาพในการตรวจให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ การรีบพบสูตินรีแพทย์เสมอเมื่อมีความผิดปกติของประจำเดือน หรือคลำได้ก้อนเนื้อในช่องท้องน้อย หรือเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ ทั้งนี้เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ
ในประเทศที่เจริญแล้วกำลังมีการศึกษาอย่างจริงจังเพื่อให้สามารถค้นพบวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งรังไข่ที่มีประสิทธิภาพ สามารถพบโรคได้ตั้งแต่ในระยะยังไม่มีอาการ ซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการรักษาสูงขึ้น จนสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ในผู้ที่แพทย์ประเมินแล้วว่ามีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ เช่น ในหญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะที่ตรวจพบโรคได้ในอายุก่อน 50 ปี แพทย์มักเฝ้าติดตามผู้มีปัจจัยเสี่ยงนั้นอย่างใกล้ชิด ผ่านการสอบถามอาการ การตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจภายใน และอาจมีการตรวจภาพช่องท้องด้วยอัลตราซาวด์ร่วมกับการตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็ง (tumor marker) ที่สัมพันธ์กับมะเร็งรังไข่ ซึ่งความถี่ในการตรวจอัลตราซาวด์และการตรวจเลือดจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
ดังนั้นคุณผู้หญิงทุกคนอย่าละเลยการตรวจภายในเป็นประจำทุกๆ ปี เพราะถ้าเจอว่ามีก้อนรังไข่โตแต่แรกๆ ก็น่าจะเป็นแค่ระยะต้นของโรค การรักษาก็ง่ายกว่าและโอกาสหายขาดก็สูงกว่า
การรักษาโรคมะเร็งรังไข่
การรักษามะเร็งรังไข่มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับระยะของโรค ส่วนมากมักทำการรักษาตามอาการ ซึ่งก็ต้องแล้วแต่การพิจารณาของแพทย์ผู้ทำการรักษาด้วย ซึ่งการรักษามะเร็งรังไข่สามารถแบ่งเป็นวิธีหลักๆ ได้แก่
- การผ่าตัด อาจมีการผ่าตัดตั้งแต่แรกเพื่อดูระยะหรือการลุกลามของมะเร็ง ในกรณีผ่าตัดเพื่อการรักษา แพทย์จะตัดเนื้องอกออกให้มากที่สุด ซึ่งการผ่าตัดจะส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก และจะเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยยังต้องการมีบุตร แพทย์อาจตัดเฉพาะรังไข่และท่อนำไข่ด้านที่เป็นมะเร็ง
ในกรณีที่มะเร็งเกิดการแพร่กระจายไปมาก ภายหลังการตัดรังไข่เอาเนื้องอกออกไปแล้ว อาจจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น
- เคมีบำบัด แพทย์อาจให้ยาเคมีทางช่องที่มีอวัยวะภายในช่องท้อง อย่างไรก็ตาม การพิจารณาวิธีการรักษาขึ้นกับระยะและชนิดของมะเร็ง
- รังสีรักษา ในที่นี้จะมีทั้งการฉายรังสีจากภายนอกร่างกาย และการฝังแร่ในร่างกาย โดยการพิจารณาวิธีการรักษาขึ้นกับระยะของโรคและชนิดของมะเร็ง
ทาแป้งจุดซ่อนเร้น เสี่ยงมะเร็งรังไข่หรือไม่?
แป้งเด็กบางชนิดอาจมีสารทัลคัม (Talcum Powder) ซึ่งผลิตมาจากการนำหินทัลคัมมาโม่ละเอียด เสร็จแล้วกรองเอาสิ่งแปลกปลอมและฆ่าเชื้อ อบแห้ง จนมาเป็นแป้งฝุ่น ซึ่งเจ้าแร่หินทัลคัมชนิดนี้ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติ จึงอาจทำให้เกิดการสะสมจนก่อให้เกิดอันตราย สาว ๆ ที่ชอบใช้แป้งฝุ่นทาลดความอับชื้นบริเวณน้องสาว ฝุ่นแป้งและสารทัลคัมอาจเล็ดลอดเข้าไปในช่องคลอด มดลูก ท่อนำไข่ และช่องท้อง ซึ่งก็มีงานวิจัยเตือนว่าอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็งรังไข่เพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงไม่โรยแป้งบริเวณจุดซ่อนเร้นก็น่าจะปลอดภัยและสบายใจมากกว่า
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์