กมธ.เคาะร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เตรียมเปิดรับฟังเสียง ปชช. 25 ก.ค.
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2568 ว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. ของสภาผู้แทนราษฎร แถลงความคืบหน้าการดำเนินงาน
โดยระบุว่า ขณะนี้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้เสร็จสิ้นแล้ว เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านเว็บไซต์รัฐสภา (www.parliament.go.th) ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคม 2568 โดยเนื้อหาในการรับฟังความคิดเห็นประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ., สรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ., และ ประเด็นคำถาม เพื่อประกอบการพิจารณาในขั้นตอนถัดไป ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร
นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ประธาน กมธ.วิสามัญฯ พร้อมด้วยนางสาวคนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม รองประธาน กมธ. และนายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ กรรมาธิการ ร่วมกันแถลงว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ประกอบด้วย 10 หมวด ได้แก่
หมวด 1: บททั่วไป
หมวด 2: คณะกรรมการและองค์กรเพื่อการบริหารจัดการอากาศสะอาด
หมวด 3: เครื่องมือและกลไกในการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด
หมวด 4: การป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดมลพิษ
หมวด 5: เขตเฝ้าระวังมลพิษทางอากาศและเขตประสบมลพิษทางอากาศ
หมวด 6: เครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด
หมวด 6/1: กองทุนอากาศสะอาด
หมวด 7: เจ้าพนักงานอากาศสะอาด (ยุบรวมไว้ในหมวด 2 เพื่อให้โครงสร้างกฎหมายกระชับ)
หมวด 8: ความรับผิดทางแพ่ง
หมวด 9: โทษทางอาญา
หมวด 10: มาตรการปรับเป็นพินัย
ทั้งนี้ ช่วงเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจะเผยแพร่ข้อมูลสำคัญ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ. ฉบับเต็ม, สรุปสาระสำคัญของร่างกฎหมาย และประเด็นคำถามเพื่อประกอบการพิจารณา
นายจักรพลเน้นว่า แม้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้อาจไม่สามารถแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้อย่างสมบูรณ์ในทันที แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญในการจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน และสร้างอากาศบริสุทธิ์ให้คนไทยในระยะยาว
ด้านนางสาวคนึงนิจกล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นร่างแรกที่เกิดจากการเสนอโดยประชาชนกว่า 10,000 รายชื่อ และได้นำมาผนวกรวมกับร่างฉบับอื่น จนกลายเป็นร่าง พ.ร.บ. ฉบับปัจจุบันที่ผ่านการพิจารณาร่วมกันโดย กมธ. ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกที่สถาปนาสิทธิในอากาศสะอาดอย่างชัดเจน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ยกระดับสิทธิในอากาศสะอาดให้เป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชน และก่อให้เกิดภาระหน้าที่ของรัฐทั้งตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายฉบับนี้
ขณะเดียวกัน นายภัทรพงษ์ ขอบคุณภาคประชาชนที่เป็นผู้ริเริ่มร่างกฎหมาย รวมถึงขอบคุณคณะรัฐมนตรีที่เล็งเห็นความสำคัญและบรรจุร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ไว้ในวาระเร่งด่วนตั้งแต่ปี 2567 พร้อมขอบคุณพรรคการเมืองทุกพรรค ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องในคณะ กมธ. และคณะอนุ กมธ. ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี 6 เดือน จนสามารถผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ พร้อมใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศในระยะยาวอย่างยั่งยืน