สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย วาง 5 โจทย์ใหญ่ "วิทัย รัตนากร" แก้หนี้-หนุน SME สู่ความเป็นธรรม
"วิทัย รัตนากร" ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ กับความคาดหวังจากภาคประชาชนและ SME ตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอชื่อ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อย โดยนายวิทัยจะเข้ารับตำแหน่งต่อจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 30 กันยายน 2568 นี้
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ได้เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคาดหวังของประชาชนและผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศต่อผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ โดยเน้นย้ำว่า นโยบายการกำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงินและสถาบันการเงินต่างๆ ของ ธปท. ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการทุกขนาด แรงงาน เกษตรกร และประชาชนทั่วไป
นายแสงชัยย้ำว่า ธปท. ควรเป็น"แบงก์ชาติของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน" โดยคำนึงถึงความทุกข์ยากของประชาชนและ SME ที่มักไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเข้าถึงสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ย และการค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งต้องไม่มุ่งอุดหนุนความมั่งคั่งของสถาบันการเงิน แต่ต้องมุ่งเพิ่มโอกาสให้ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงสินเชื่อที่เป็นธรรม เพื่อก้าวข้ามกับดักความยากจน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
นอกจากนี้ การสร้างความเป็นธรรมที่เป็นรูปธรรม ควบคู่กับการมีธรรมาภิบาลที่อภิบาลเศรษฐกิจ สังคม และประเทศอย่างมีคุณธรรม นิติธรรม ศีลธรรม โดยเน้นความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ถือเป็นความรับผิดชอบต่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและประเทศชาติ เพื่อทลายกับดักหนี้ท่วมขังเรื้อรังให้กับ "ประชาชนเปราะบาง" และพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศร่วมกับทุกภาคส่วน
5 ประเด็นสำคัญที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยคาดหวังจากผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่
1. "นิยาม SME" ที่ชัดเจนและเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน เรียกร้องให้มีการกำหนดนิยาม SME ที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถจัดเก็บ รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล และใช้วางยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ กรอบทิศทางการบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจทั้งมหภาคและจุลภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการกำกับและส่งเสริม SME ให้เข้าถึงนวัตกรรมและแหล่งทุนต้นทุนต่ำอย่างเป็นระบบ
2. "กับดักหนี้เรื้อรัง" และกลไกแก้หนี้ที่เป็นธรรม ชี้ถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้ SME ที่อยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ (จากการสำรวจของ สสว. ไตรมาส 1/2568 พบว่า SME มีหนี้นอกระบบถึง 32%) คาดหวังกลไกการแก้หนี้แบบมีเจ้าภาพ การเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้อย่างเป็นธรรม ควบคู่กับการฟื้นฟูพัฒนา SME อย่างเป็นระบบ เพื่อยกระดับคุณภาพหนี้ครัวเรือน แก้ไขหนี้เสีย และขจัดหนี้นอกระบบ
3. "การกำกับสถาบันการเงิน" ให้โปร่งใสและเป็นธรรม เน้นย้ำเรื่องอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ (Spread) ที่เป็นธรรม การบังคับใช้ ป.พ.พ. มาตรา 224/1 เรื่องดอกเบี้ยปรับ การเยียวยาและรับผิดชอบลูกหนี้ที่มีการคิดดอกเบี้ยปรับผิดกฎหมาย การไม่ปฏิบัติตาม Market Conduct รวมถึงการบังคับทำประกันเพื่อพิจารณาสินเชื่อ และการกำกับค่าเงินบาทที่เหมาะสม
4. "ธรรมาภิบาลประชาชน" และระบบตรวจสอบ ธปท. เรียกร้องความโปร่งใสของระบบการปฏิบัติงานของ ธปท. ที่แม้จะเป็นอิสระและเป็นกลาง แต่ต้องไม่ปราศจากระบบการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและ SME ว่าปราศจากผลประโยชน์แอบแฝงในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การคิดดอกเบี้ย/ดอกเบี้ยปรับ รวมถึงประเด็นการใช้ บสย. ค้ำประกันแต่คิดดอกเบี้ยสูง และค่าธรรมเนียมที่ไม่เป็นธรรม
5. "เข้าถึง เข้าใจ และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเชิงรุกด้วยนวัตกรรมทางการเงิน ต้องการให้ ธปท. รับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนและ SME อย่างรอบด้าน ไม่จำกัดเพียงบางกลุ่ม ทำงานเชิงรุกลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างจริงจัง เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ พร้อมส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงิน เช่น Factoring – Supply Chain Program เพื่อลดปัญหา Credit term และเพิ่มสภาพคล่องให้กลุ่ม Start up, SME รวมถึงกลุ่มที่ติด NPL การปรับโครงสร้างหนี้ และสินเชื่อเพื่อการ Refinance
ทั้งนี้นายแสงชัยแสดงความยินดีกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ และเชื่อมั่นว่าจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ในการคืนความเป็นธรรมและเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศไทยอย่างเร่งด่วน โดยเชื่อว่าบุคลากรของ ธปท. มีความรู้ความสามารถและความตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติ ประชาชน และ SME และหาก "แบงก์ชาติธรรมาภิบาลเข้มแข็ง ผู้บริหารแข็งแรง จะกังวลใจอะไรกับผู้นำท่านเดียวที่มาอย่างถูกต้องตามกระบวนการ"