คลังชงบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจพรุ่งนี้ เคาะงบ 4 หมื่นล้าน
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้ได้การประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน เพื่อหารือเรื่องการจัดสรรงบประมาณกกลางปี 2568 เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 1.57 แสนล้าน ที่อนุมัติไปแล้ว 1.15 แสนล้านบาท และยังคงเหลืออีก 42,000 ล้านบาท เพื่อไปใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและรับมือผลกระทบจากภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐ (Reciprocal Tariffs)
โดยพรุ่งนี้ (24 ก.ค.68) จะนำเสนอข้อสรุปเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ (บอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่) ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม เพื่ออนุมัติต่อไป
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งก่อนหน้า ได้มีการหารือกันในการกำหนดกรอบและเกณฑ์ในการจัดสรรงบประมาณ
โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของโครงการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจและระยะเวลาในการเบิกจ่ายหรือผูกพันงบประมาณให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.2568 หรือก่อนสิ้นปีงบประมาณ โดยยืนยันว่ากระบวนการเบิกจ่ายจะต้องมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ยังพบว่า จำนวนโครงการที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เสนอเข้ามายังมีตัวเลขที่คลาดเคลื่อนกับตัวเลขของกระทรวงมหาดไทยและสำนักงบประมาณ จึงต้องมากลั่นกรองโครงการกันอีกครั้งเพื่อลดการกระจุกตัวของเม็ดเงิน โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่เป็นฝ่ายเลขานุการจะมีการเสนอโครงการที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกต่อที่ประชุมในครั้งนี้
ส่วนมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาษีสหรัฐ ก็จะมีการพิจารณาด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่ได้มีเพียงผู้ส่งออกโดยตรง แต่ยังรวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม ทั้งซัพพลายเชน แรงงาน ผู้ผลิตในประเทศ และเกษตรกรไทย ที่จะได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น โดยจะมีการพิจารณาถึงโครงการลงทุนเพื่อวางพื้นฐานประเทศในระยะยาว และการพัฒนาเรื่องทุนมนุษย์ด้วย
“งบประมาณก้อนนี้กันไว้เป็นส่วนเผื่อเหลือเผื่อขาดเพื่อประเมินสถานการณ์ว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร เพื่อเอามารับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงการรับมือกับภาษีทรัมป์ด้วย“
ทั้งนี้ สศค. มีการประเมินว่าเม็ดเงินเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการอนุมัติโครงการไปแล้ว วงเงิน 1.15 แสนล้านบาท จะเข้าสู่ระบบได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 69 และส่งผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) เพิ่มขึ้น 0.4-0.5%