‘หุ้นไทย’ เดือน ก.ค. ติดอันดับพุ่งแรงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ถึงเวลาลงทุนแล้วหรือยัง
เดือน ก.ค. 2568 กลายเป็นเดือนทองของตลาดหุ้นไทย เมื่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) ดีดกลับแรงถึง 9.96% ทำสถิติสูงสุดในโลกเป็นอันดับที่ 2 (ข้อมูลระหว่าง 1-17 ก.ค. 2568) เป็นรองเพียงตลาดหุ้นปากีสถาน (KSE-100 Index) ที่ให้ผลตอบแทน 10.45%
ท่ามกลางภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกที่ยังคลุมเครือ ด้วยนโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐอเมริกา ความผันผวนในยุโรป และดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงหลายประเทศ
คำถามสำคัญจึงเกิดขึ้นว่า… ‘นี่คือจุดเปลี่ยน หรือแค่รีบาวด์?’ นักลงทุนควรเข้า หรือรอ?
[ คลื่นใหญ่จากอเมริกาสะเทือนโลก ]
นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) ระบุว่า ตลาดการเงินโลกในไตรมาส 3 ยังคงขับเคลื่อนด้วยสองแรงหลักคือ ‘นโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff)’ ของสหรัฐฯ และ ‘ทิศทางดอกเบี้ย’ ที่ยังค้างอยู่ในโหมดไม่แน่นอน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ เตรียมประกาศสรุปภาษีจีนในวันที่ 1 และ 12 ส.ค. ซึ่งอาจนำไปสู่ความวุ่นวายในการตรวจสอบต้นทางสินค้า ชะลอซัพพลายเชน และผลักดันสินค้าเกินความจำเป็นเข้าตลาดเกิดใหม่อย่างไทย
ถึงกระนั้น เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังอยู่ในโหมด ‘Soft Landing’ หรือชะลอตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเติบโตต่อเนื่อง อัตราการว่างงานต่ำ และภาคบริโภค-บริการยังแข็งแรง
โดยสำนักข่าวต่างประเทศ ‘บลูมเบิร์ก’ (Bloomberg) ปรับลดโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ของสหรัฐฯ จาก 45% เหลือ 35% ในเดือน ก.ค. ขณะที่กำไรต่อหุ้น (EPS) ของดัชนีหุ้น S&P 500 ยังเดินหน้าทำจุดสูงสุดใหม่ (New High)
ขณะที่ตลาดจีน แม้ผ่านช่วงขัดแย้งหนักกับสหรัฐฯ แต่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ทั้งในเชิงเศรษฐกิจจริงและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ โดยบริษัทหลายแห่งกลับมาให้ทิศทาง (Guidance) อีกครั้ง สะท้อนความชัดเจนที่เริ่มก่อตัว
[ SET กลับมายืนได้ในเดือน ก.ค. ]
ก่อนหน้าจะพุ่ง 9.96% ตลาดหุ้นไทยเผชิญกับการปรับฐานต่อเนื่องถึง -23% จากต้นปี สาเหตุหลักมาจาก:
• สงครามตะวันออกกลาง ที่แม้จะสงบชั่วคราวแต่ยังไม่มีจุดจบ
• ความขัดแย้งชายแดนไทย-กัมพูชา ที่กระทบภาคการค้าอัญมณีและทองคำ
• ความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่ทำให้ พ.ร.บ.งบประมาณล่าช้า
• ภาษีศุลกากรสหรัฐฯ ต่อไทย (36%) ที่เป็นความเสี่ยงต่อเม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการเติบโตเศรษฐกิจ
ถึงกระนั้น ตลาดกลับพบแรงซื้อในเดือน ก.ค. จากหลายแรงบวก ได้แก่ ความชัดเจนของผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ดีเกินคาด หลายกลุ่มประกาศซื้อหุ้นคืน (Buyback) การลดลงของบัญชีมาร์จิ้น และค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพดึงดูดเงินทุนกลับเข้ามา
[ หุ้นไทยถึงจุดต่ำสุดแล้วจริงหรือ ]
กำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยในครึ่งปีแรกยังแข็งแกร่ง โดยเฉพาะกลุ่มการเงิน ขนส่ง โรงพยาบาล และอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการกลับมาของหุ้นการบินไทย (THAI) และการขายเงินลงทุนของหุ้นปูนใหญ่ (SCC) ที่อาจหนุน EPS ของตลาดให้ทะลุ 90 บาทต่อหุ้นในครึ่งปีหลัง
แม้จะมีความกังวลเรื่องภาษีของทรัมป์ แต่ผลกระทบต่อกำไรภาพรวมประเมินว่าอยู่เพียง ~1% เท่านั้น ขณะที่ราคาหุ้นได้ซึมซับข่าวลบไปมากแล้ว ตลาดจึงน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วที่ระดับ 1,100 จุดในเดือน มิ.ย.
[ 6 หุ้นเด่นประจำไตรมาส 3 ]
หุ้นเด่นประจำไตรมาส 3 ปี 2568
• PLANB ราคาเหมาะสม 10.60 บาทต่อหุ้น
• CPALL ราคาเหมาะสม 66.50 บาทต่อหุ้น
• BDMS ราคาเหมาะสม 30.00 บาทต่อหุ้น
• TRUE ราคาเหมาะสม 15.20 บาทต่อหุ้น
• SCC ราคาเหมาะสม 210.00 บาทต่อหุ้น
• PTT ราคาเหมาะสม 35.00 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ หุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นอันดับต้นๆ ของแต่ละอุตสาหกรรม มีโอกาสได้เม็ดเงินจากกระแสเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) พร้อมกับมีความผันผวนน้อยกว่าหุ้นตัวอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
[ นักลงทุนต่างชาติกำลังจะกลับมา ]
การขายของต่างชาติในช่วงครึ่งปีแรกดูเหมือนจะจบลงแล้ว เมื่อไม่มีแรงขายใหม่เข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ และหลายบริษัทเริ่มประกาศซื้อหุ้นคืน ยิ่งไปกว่านั้น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ใกล้ครบกำหนดไถ่ถอนก็มีแนวโน้มทยอยหมด ส่งผลให้แรงขายภายในประเทศน่าจะลดลง
นอกจากนี้ การรีบาวด์แรงของ SET ทำให้มีลุ้นโอกาสที่ดัชนีหุ้นโลก ไม่ว่าจะเป็น MSCI และ FTSE อาจพิจารณาปรับน้ำหนักหุ้นไทย ซึ่งเป็นบวกต่อกระแสเงินต่างชาติ
[ สรุป: ถึงเวลาลงทุนแล้วหรือยัง? ]
หากดูจากปัจจัยทั้งหมด จะเห็นว่าตลาดไทยกำลัง ‘ฟื้นตัวจากฐานต่ำ’ ราคาหุ้นหลายตัวสะท้อนข่าวร้ายไปมากแล้ว ขณะที่กำไรครึ่งปีหลังยังเติบโตได้ และมีโอกาสที่แรงขายจะลดลงจาก LTF และนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามา
เป้าหมาย SET Index จาก ASPS คือ 1,376 จุด ภายใต้สมมติฐาน EPS ปี 2568 ที่ 86 บาท หากข่าวภาษีของทรัมป์ไม่แย่เกินคาด ตลาดไทยอาจมีโอกาสขาขึ้น (Upside) อีกมากกว่า 15-20% จากจุดต่ำสุด…